รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/’รถพุ่มพวง’ อัจฉริยะคันแรกของโลก บริการบรรจุของสดเต็มรถ ให้เข้าไปเลือกซื้อถึงหน้าบ้าน

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

‘รถพุ่มพวง’ อัจฉริยะคันแรกของโลก

บริการบรรจุของสดเต็มรถ

ให้เข้าไปเลือกซื้อถึงหน้าบ้าน

 

รถขายกับข้าวบ้านเรา หรือที่เรียกว่า “รถพุ่มพวง” ทำให้ได้รู้ ได้เห็น และเข้าใจวิถีชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์กับรถขายกับข้าวชนิดนี้

การเริ่มของ “รถพุ่มพวง” เริ่มเมื่อมีการตัดถนน มีความเจริญ แหล่งคนงานกรรมกรที่ชอบรวมกลุ่มทำอาหารกินกันเอง แรงงานตามไซต์ก่อสร้าง คนงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย หมู่บ้านจัดสรรก็กระจายไปตามเส้นทางเกิดใหม่ รถขายกับข้าวก็ตามเข้าไป ร้านค้ายิ่งราคาถูกยิ่งอยู่ห่างไกล จะพึ่งพารถเมล์ก็ไม่มี จะซื้อของจากตลาดก็ไกลเกินไป ทำให้เสียเวลาในการจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร

รถขายกับข้าวที่ห้อยของเป็นพวงๆ อยู่ข้างรถ การที่ผู้ขายห้อยสินค้านั้น ก็เพื่อให้เกิดการจัดแบ่งแยกประเภทของสินค้าแต่ละประเภท เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ข่า ตะไคร้ โหระพา ใบกะเพรา ซึ่งจะง่ายต่อการที่ผู้ซื้อจะหาสินค้าได้เอง

ถือเป็นรถขายสินค้าที่รวมเอาตลาดสดและร้านโชห่วยเข้าไว้ด้วยกัน

และเคลื่อนที่ไปขายสินค้าและบริการให้กับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลหรือที่ไม่ได้รับความสะดวกจากบริการขั้นพื้นฐานที่เข้าไปถึง

 

ในปัจจุบันนี้เป็นยุคสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลและข่าวสาร และเป็นยุคที่เป็นโลกของการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดน ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีมีความทันสมัย ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่งทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน ความเป็นอยู่ เครื่องอุปโภค บริโภค มีการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มตื่นนอนขึ้นมา

ในชีวิตประจำวันการตื่นนอนของคนเราก็จะต้องมีนาฬิกาปลุกหรือมือถือตั้งเวลาปลุก

จนมาถึงในเรื่องการรับประทานอาหาร เราก็ต้องนึกถึงตลาดหรือรถกับข้าวในการซื้อหาอุปกรณ์เครื่องปรุงอาหารแต่ละมื้อ

ในเมื่อเรานึกถึงรถกับข้าวเป็นอันดับแรก รถกับข้าวจึงมีวิวัฒนาการตอบโจทย์เพื่ออำนวยความสะดวกแบบซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นมา เพื่อที่ใครไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกจะต้องไปซื้อของตามตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ต

ต่อไปจะมีรถขายของชำที่ใช้เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาให้เราเลือกซื้อตามที่ใจเราปรารถนา

 

ในที่สุดแล้วซูเปอร์มาร์เก็ตแบบติดล้อเคลื่อนที่ ชื่อ “Robomart” ก็เกิดขึ้นมาที่พร้อมจำหน่ายอาหาร ขนม และของสดถึงหน้าประตูบ้าน

เป็นรถไฟฟ้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม สามารถชาร์จไร้สายผ่านสถานีจ่ายไฟ EV โดย Robomart เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสตาร์ตอัพผู้พัฒนา Robomart ร่วมกับโตโยต้า ที่เข้ามาดูแลซัพพอร์ตด้านเทคโนโลยีต่างๆ

ซึ่งดูจากภายนอกของ Robomart จะเห็นว่ามีการบรรจุของสดแบบซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เต็มรถ หากคุณเห็น Robomart วิ่งผ่านหน้าบ้าน เพียงแตะที่ปุ่มเปิดเบาๆ ระบบจะปลดล็อกประตู และเปิดให้คุณเลือกสินค้าตามต้องการ เมื่อเลือกสินค้าเรียบร้อยแล้ว จะได้รับใบเสร็จค่าสินค้าส่งตามมา

ธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้ โดยเฉพาะการขายของชำตามร้านค้าถือเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทั่วโลกสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพราะคนเราต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่หลายคนก็ยุ่งซะจนไม่มีเวลาเดินไปซื้อของด้วยตัวเอง

นั่นจึงทำให้เกิดแนวคิด Robomart ร้านขายของแบบซูเปอร์มาร์เก็ตที่วิ่งมาหาคุณเองได้

 

การใช้งานก็ง่ายมาก แค่เราเปิดแอพพลิเคชั่นเรียกรถคันที่ใกล้ที่สุดเหมือน uber พอมาถึงก็ปลดล็อกรถ แล้วทำการเลือกของที่ต้องการ จากนั้นก็จะหักเงินอัตโนมัติด้วยระบบติดตามว่าคุณหยิบสินค้าอะไรไปบ้าง

ตัวรถ Robomart ซูเปอร์มาร์เก็ตจะมาพร้อมเทคโนโลยีรถยนต์แบบไร้คนขับ ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์, Radar และ Lidar ในการตรวจจับสภาพแวดล้อมแบบ 360 องศา กล้องด้านหน้ามุมกว้าง 65 องศาเห็นได้ชัดเจนในระยะ 100 เมตร ส่วนด้านในจะเป็นตู้เย็นเพื่อให้รักษาความสดของผัก-ผลไม้ให้สดอยู่เสมอ

ในด้านพลังงานหลักจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แถมยังรองรับระบบการชาร์จแบบไร้สาย ความเร็วการขับเคลื่อนสูงสุดอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งได้ไกลสุด 128 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

มีผลสำรวจระบุว่า ผู้หญิงชาวสหรัฐที่มีอายุ 26-44 ปี มากกว่า 85% ไม่ได้ซื้อของสดประเภทผักหรือผลไม้ออนไลน์ เพราะมีราคาแพงเกินไปเมื่อรวมค่าจัดส่ง แต่ต้องการเลือกด้วยตัวเองมากกว่าที่จะมีคนมาเลือกให้

ในกลุ่มผู้ที่ได้ลองใช้ Robomart กว่า 65% มักชอบเลือกซื้อสินค้าจาก Robomart ประมาณสัปดาห์ละครั้งเสียมากกว่า

 

ร ถ Robomart ซูเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นยักษ์เล็กที่จะต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซที่มีบริการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคถึงหน้าบ้านอย่าง Amazon, Instacart และ Postmates แต่ขณะนี้ Robomart ยังไม่มีการเปิดให้บริการในไทย

ในตอนนี้รถ Robomart ซูเปอร์มาร์เก็ตได้เริ่มผลิตรถต้นแบบเพื่อนำมาทดสอบการใช้งานอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ส่วนการทดสอบใช้งานจริงจะเริ่มต้นในเร็วๆ นี้

ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตทดสอบรถยนต์แบบไร้คนขับ

ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย เราอาจได้เห็นร้านชำติดล้อวิ่งอยู่ตามตรอกซอกซอยแถวบ้านเราก็เป็นได้