อาลีบาบา ตอนที่ 1

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ใครๆ ก็รู้จักอาลีบาบา (Alibaba) อาลีบาบามีเจ้าของเป็นชาวจีนชื่อ แจ๊ก หม่า มีประวัติว่าร่ำรวยมหาศาลจากการทำธุรกิจออนไลน์จนติดอันดับมหาเศรษฐีของโลก ซึ่งได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารชั้นนำของโลก เช่น นิตยสาร Forbes

เขาเคยเล่าประวัติของตัวเองว่า เขาเคยยากจนมาก่อน เขาเคยพลาดมาก่อน อันที่จริง เขาไม่ได้เรียนสูง แถมพูดภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดี ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยหรือเรียนจากต่างประเทศ

บางคนก็บอกว่า แจ๊ก หม่า มีใบหน้าเหลี่ยมคล้ายๆ ผู้นำไทยในอดีตบางคน

แจ๊ก หม่า นำอาลีบาบามาสู่สังคม เศรษฐกิจไทยท่ามกลางโลกได้เปลี่ยนไปเป็นสังคมออนไลน์ (Online Society) ในทุกอณู

แต่คราวนี้ เขาพาอาลีบาบาเข้ามาไทยซึ่งมองได้หลายด้านหลายแง่มุม

หน่วยงานราชการไทยหลายหน่วยงานสรรเสริญเมื่ออาลีบาบาสั่งซื้อทุเรียนไปจีน 8 หมื่นลูกภายใน 1 นาที

ชาวสวนทุเรียนก็ยิ้มแย้มเพราะขายทุเรียนเข้าตลาดที่ใหญ่มากอย่างจีนชั่วพริบตาด้วยอาลีบาบา เหมือนเล่ห์กลในนิทานอาหรับราตี

พ่อค้าระดับเล็กและกลางไทยก็ขยับตัวเรื่องธุรกิจออนไลน์ เช่น ลงทุนด้านเทคโนโลยี สร้างแบรนด์ของตัวเอง เข้าสู่ระบบเงินตราออนไลน์ บ้างก็ก้าวเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซ

หารู้ไม่ว่า รายใหญ่ของไทยเข้าเข้าสู่อีคอมเมิร์ซมานานแล้ว

อะไรที่เกี่ยวกับ “อี” ทั้งหลายซึ่งผมหมายถึงอี หรือ Electronic ทั้งหลายเช่น อีคอมเมิร์ซ (e-commerce) อีบุ๊ก (e-book) อีเจอนัล (e-journal) อีไลเบรรี่ (e-library) อีบุ๊กกิ้ง (e-booking) อีแบงกิ้ง (e-banking) ท่านเจ้าสัวเปลี่ยนวิสัยทัศน์และใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ท่านเจ้าสัวทำการค้าและการลงทุนด้วย “อี” ก่อนใครๆ

ว่าก็ว่าเถอะ อาลีบาบาและยอดขายทุเรียนสู่จีนครั้งนี้ หากมองทางสังคม การเมือง อาจเป็นการประชาสัมพันธ์อันหนึ่งของรัฐบาลขาลง

เหมือนที่รัฐบาลใช้กระแสละครออเจ้า และกระแสป๊อป หรือรัฐบาลได้ใช้โอกาส เปลี่ยนผ่าน สู่โหมดการเลือกตั้งก่อนนักการเมืองเดิมที่ต้องพักยาวจาก คสช. นาน 5 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม สตอรี่อาลีบาบาและแจ๊ก หม่า เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง อีกทั้งเป็นโลกเสมือนจริง ที่ยากต่อการคาดการณ์และดำเนินการ เพราะเทคโนโลยีพัฒนาตลอด อีกทั้งไม่มีใครกำกับตลาดในระบบทุนนิยม (capitalism) ได้เลย

 

อาลีบาบาในจีน

จากรายงานของสำนักข่าวเอพี รายงานว่า นี่เป็นปีทองของธุรกิจในจีน

บริษัทซื้อขายเสื้อผ้าของอเมริกันกำลังคาดการณ์ว่ายอดขายของบริษัทจะกระโดดเป็น 20% ในระบบการขายสินค้าออนไลน์ Alibaba Tmall

และนี่ถือว่าบริษัทอเมริกันเข้าถึงระบบอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ยังใหญ่ แต่เริ่มมีสัญญาณบอกว่า ผู้บริหารบริษัทต่างชาติทั้งหลายในอีกไม่นานนักจะได้เรียนรู้ว่า อะไรที่อาลีบาบาให้พวกเขา และอะไรที่อาลีบาบาเอาจากพวกเขาบ้าง (1)

มีรายงานข่าวว่า บริษัทอเมริกันบางแห่งปฏิเสธการเซ็นสัญญาที่เรียกว่า exclusive partnership กับอาลีบาบา แล้วหันไปใช้การสนับสนุนการขายกับคู่แข่งของอาลีบาบา คือ JD.Com Inc.

ด้วยเหตุนี้ Tmall ของอาลีบาบาจึงลงโทษพวกเขาโดยวิธีตัดระบบขนส่ง (traffic) ที่หน้าร้านของสินค้าของบริษัทนั้น

จากการสัมภาษณ์สองผู้บริหารบอกแก่สำนักข่าวเอพีว่า การโฆษณาแบรนด์สินค้าหายไปจากจุดขายสำคัญๆ ในห้องแสดงสินค้าของ Tmall มีการสกัดกั้นการขายสินค้าแบบลดพิเศษ และยุติผลการแสดงผลการค้นหาสินค้าลงเสีย

แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักที่เห็นใน Tmall ตกต่ำลง 10-20% ต่อปี ในแง่รายละเอียด

ผู้บริหารดังกล่าวซึ่งต้องไม่เปิดเผยตัวอ้างอิงรายการบันทึกการขายสินค้าของแบรนด์ของพวกเขาพบว่า แบรนด์ของพวกเขาควรอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่น แต่แบรนด์พวกเขากลับไปอยู่ส่วนใต้สุดในหน้าโฆษณาออนไลน์

ผู้บริหารบริษัทเรียกวิธีการนี้ว่า มีการควบคุม (manipulation) ระบบเส้นทางการจำหน่ายสินค้า และถือว่านี่เป็นการลงโทษอย่างแน่นอน

จากการสำรวจของสำนักข่าวเอพี ได้พบว่า ในช่วงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผลักดันให้สาธารณรัฐประชาชนจีนดำเนินการค้าตามหลักกติกาอย่างเป็นธรรม ตลาดออนไลน์มีมูลค่าสูงถึง 610 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2)

ผู้บริหารระดับสูงจากผู้ผลิตสินค้ามีแบรนด์รายใหญ่ 5 บริษัทอธิบายกับสำนักข่าวเอพีว่า หลังจากที่พวกเขาปฏิเสธการทำสัญญา exclusive partnership กับอาลีบาบาแล้ว การขนส่งเพื่อขายสินค้าในหน้าห้างออนไลน์ของ Tmall ตกลงและมีผลร้ายต่อยอดขาย มี 3 บริษัทอเมริกันซึ่งมียอดขายที่พึ่งพาการเติบโตของตลาดจีน

แต่ยอดที่ตกลงนี้ก็ถูกปฏิเสธจาก Alibaba Group Holding ว่ามีการลงโทษบริษัทพวกนี้

อาลีบาบาอธิบายว่า exclusive deal เป็นวิถีทางของอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติอย่างธรรมดา และการเรียกว่าใช้ การข่มขู่ ไม่เป็นความจริงแน่นอน

อาลีบาบาชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจของ Tmall ดำเนินการภายใต้กฎหมายของประเทศจีน ซึ่งก็เหมือนกับ platform ของอีคอมเมิร์ซทั้งหลาย

กล่าวคือ เรามี exclusive partnership กับบางพ่อค้าใน Tmall พ่อค้าตัดสินใจเลือก exclusive partnership เพราะการบริการที่น่าประทับใจ และมูลค่าจากการขายสินค้าที่ Tmall จะนำมาให้แก่พวกเขานั้นสูง จนเป็นที่พอใจ จึงตกลงทำสัญญาต่อกัน

ในโลกเสมือนจริง อะไรก็ตามที่เป็น “อี” หรือ Electronic ทั้งหลายย่อมมีพลวัต (dynamism) ความผัวผวน ความไม่แน่นอน คาดการณ์ยาก ไร้เสถียรภาพและอาจเรียกว่า ไร้ระเบียบ (disorder) ก็ได้ สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในโลกนี้

แล้วสังคม เศรษฐกิจไทยล่ะ?

———————————————————————————————
(1) Erika Kinetz, “American Brands at war with Alibaba over visibility” AP 23 April 2018.
(2) Ibid.,