ล้านนาคำเมือง : ดอยสุเต้บ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ดอยสุเต้บ”

ดอยสุเทพเดิมทีชื่อว่า “ดอยอ้อยช้าง” ปัจจุบันได้ชื่อตามฤๅษี “วาสุเทพ” สูง 1,601 เมตร เป็นภูเขาที่มียอดติดกันกับดอยปุย และดอยบวกห้า อยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกาศเมื่อ 14 เมษายน 2524

ความสำคัญของดอยสุเทพนอกจากจะมีความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังสำคัญในเชิงศาสนา ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการนับถือภูเขาของชุมชนลวะพื้นราบที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้ามังราย ซึ่งในครั้งตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็ถือว่าดอยสุเทพเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 7 ไชยมงคลของเมือง

ปัจจุบันประชาชนยังมีการไหว้ผีปู่แสะย่าแสะและสุเทวฤๅษี ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ดอยสุเทพแห่งนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรกของไทยได้เดินทางมาสำรวจแผนที่ในภาคเหนือ ได้บันทึกไว้เมื่อปี 2442 เอาไว้ว่า

“ดอยสุเทพนั้นเป็นที่ซึ่งคนเชียงใหม่นับถือและหวงแหนอย่างยิ่ง”

สมัยนั้นมีชาวเมืองคนหนึ่งพาฝรั่งขึ้นไปบนดอยสุเทพ เจ้าเมืองจึงจับคนพาฝรั่งไปโบยเพราะทำผิดจารีต

ทำให้เห็นว่าความเชื่อและความนับถือดอยสุเทพของชาวเมืองนั้นรุนแรง และละเมิดมิได้

นอกจากนี้ การนำสัตว์ขึ้นไปเลี้ยงก็ห้าม ล่าสัตว์ก็ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นบาปหนัก

สําหรับระบบนิเวศน์ของดอยสุเทพนั้น พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต มีคุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ พร้อมมูล องค์ประกอบมีความสัมพันธ์กันดีและจัดระเบียบตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

ในด้านธรณีวิทยา ดอยสุเทพเป็นดอยหินอายุเก่าแก่ครั้งพรีแคมเบรียน อายุมากกว่า 600 ล้านปีมาแล้ว และมีหินยุคคาร์บอนิเฟอรัสอายุ 350 ล้านปีกระจายอยู่ รวมทั้งมีหินแปร หินอัคนีและหินตะกอนบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ เช่น บริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ก็เป็นชั้นตะกอนดินทรายจากเทือกเขาสุเทพนี้เช่นกัน

ดอยสุเทพ-ปุยยังเป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารหลายสาย มีน้ำใต้ดินหรือตาน้ำซับที่ค่อยๆ ไหลซึมลงสู่เบื้องล่าง น้ำดังกล่าวมาจากน้ำฝนที่ผ่านการกลั่นกรองจากชั้นกรวดทราย กลายเป็นน้ำใสสะอาดให้ชาวเมืองเชียงใหม่ได้ใช้บริโภค

สายน้ำซับได้ไหลมารวมเป็นห้วย ลำธาร เช่น ห้วยช่างเคี่ยน ห้วยแก้ว ห้วยฝายหิน ฯ ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงในที่สุด ทางด้านเหนือที่แม่ริม

ทางด้านใต้ที่แม่เหียะ ก็มีลำน้ำจากดอยสุเทพไหลลงสู่แม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน

ในปี 2536 ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดกลุ่มความลาดชันของพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลักษณะการใช้ที่ดิน พอสรุปได้ดังนี้

1. ความลาดชันน้อยกว่าร้อยละ 12 เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับใช้ที่ดินสำหรับการเกษตรทุกประเภท

2. ความลาดชันร้อยละ 12-35 เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับพืชไร่ ไม้ผลยืนต้น หรือปล่อยไว้เป็นป่า (ตรงป่าแหว่ง มีความลาดชันร้อยละ 26)

3. ความลาดชันร้อยละ 35-50 เป็นพื้นที่เหมาะสำหรับไม้ผลยืนต้น หรือปล่อยไว้เป็นป่า

4. ความลาดชันร้อยละ 50 ขึ้นไป สมควรกันไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ หรือปลูกป่าทดแทน

ในการสำรวจปีเดียวกันนั้นพบว่ามีป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ทุกระดับความลาดชันที่กล่าวมา และพบว่ามีป่าไม้มากที่สุดในพื้นที่ที่มีความลาดชันร้อยละ 12-35

องค์ประกอบทางชีวภาพของดอยสุเทพ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ายิ่ง เป็นแหล่งสะสมพันธุกรรมจำนานมหาศาล อันประเมินค่ามิได้ มีป่าไม้หลากหลายทางชีวภาพ ต่างกันไปตามความสูง มีป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าสนเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังพบว่า มีพืชทั้งหมด 2,103 ชนิด พืชใบเลี้ยงคู่ 1,439 ชนิด พืชใบเลี้ยงเดี่ยว 493 ชนิด สน 8 ชนิด และเฟิร์น 163 ชนิด

โดยสรุป กล่าวได้ว่าดอยสุเทพมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าป่าผลัดใบในแหล่งอื่น ในจำนวนนี้มีกล้วยไม้หายาก 50 ชนิด และมี 7 ชนิดที่ไม่พบที่อื่นเลย ยังมีกระโถนฤๅษีหรือบัวผุดที่หายาก ส่วนกล้วยไม้รองเท้านารีคางกบได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

ในพื้นที่ 561 ตาราง ก.ม. ของอุทยานดอยสุเทพ-ปุย มีนกอย่างน้อย 326 ชนิด ในฤดูหนาวยังมีนกอพยพเข้ามาเพิ่มอีก 920 ชนิด มีผีเสื้อกลางวัน 500 ชิด ผีเสื้อกลางคืน 300 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 61 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 28 ชนิด ในจำนวนนี้มีซาลามานเดอร์ 4 ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ มีนก 22 ชนิดที่กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น นกไต่ไม้ใหญ่ ไก่ฟ้าหลังขาว นกจับแมลงสีฟ้า เป็นต้น

จากการศึกษาแหล่งน้ำพบว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์นานา มีปลา มีตัวอ่อนของแมลง และหอย พบว่ามีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกพัดพามากับน้ำถึง 22 ชนิด และพบชนิดใหม่ๆ ก็มีหลายสิบชนิด

จะเห็นได้ว่าความหลากหลายของป่าไม้ สัตว์น้อยใหญ่ บนดอยสุเทพนั้นมากมายยิ่งนัก สมควรอนุรักษ์หวงแหนไว้

หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการรุกป่า การเข้ามาอยู่ของผู้คน การทำการเกษตร การใช้สารเคมี การสร้างเขื่อน คาดว่า ต่อไปความหลากหลายทางชีวภาพของดอยสุเทพ ก็อาจจะอยู่เพียงในบันทึกนี้เท่านั้น ลูกหลานของเราจะไม่มีโอกาสพบเห็นอีกต่อไป

รุกขายายหยาดถ้อย กลางพระนม

เหียงหาดหัดยางยม ก่อกล้วย

กวิดเกวนกอกกุกขม ทองทุ่ม ทึงเอ่

แงะงอกแงงิ้ว ห้าม้อนแฟนไฟ

(พรรณไม้บนดอยสุเทพ 23 ชนิด จากโคลงดอยสุเทพบทที่ 19 – โคลงล้านนาโบราณเมื่อ 150 ปีก่อน)