การศึกษา/ มหากาพย์ ‘อควาเรียมหอยสังข์’ ใกล้ปิดฉาก 10 ปีที่รอคอย

การศึกษา

มหากาพย์ ‘อควาเรียมหอยสังข์’

ใกล้ปิดฉาก 10 ปีที่รอคอย

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับการตรวจสอบการส่อทุจริตโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จัดสร้างอยู่ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา บนพื้นที่ 7,800 ตารางเมตร
โครงการเริ่มต้นปลายปี 2550 เริ่มก่อสร้างต้นปี 2551 กำหนดแล้วเสร็จปี 2553 วงเงินอนุมัติ 835,576,200 บาท ภายใต้ 26 งวดงาน
แต่ผ่านมาถึงปี 2561 หรือ 10 ปีแล้ว ใช้งบฯ ไปกว่า 1,400 ล้านบาท แล้วยังไม่เสร็จ
อควาเรียมหอยสังข์ ผ่านการบริหารจากเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) 5 คน ในระหว่างปี 2551-2561 ประกอบด้วย นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ (เสียชีวิตแล้ว) นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการ กอศ. ปัจจุบัน
โดยตลอดปี 2550-2557 มีการแก้ไขสัญญาถึง 6 ครั้ง!!

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ อดีตเลขาธิการ กอศ. ที่ดูแลโครงการเป็นคนแรก ระบุว่า การแก้ไขสัญญาไม่ได้เกิดขึ้นสมัยตน สมัยนั้นบริษัทรับเหมาพยายามขอเปลี่ยนสเป๊กและขยายงวดงานให้ยาวขึ้น แต่ตนไม่ยอม
ยืนยันว่าสมัยนั้นดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ มีการประกวดราคา กำหนดสเป๊กโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอธิบดีกรมการประมงสมัยนั้นเป็นประธาน โครงการไม่มีแบ่งเฟส กำหนดตลอดโครงการใช้งบฯ กว่า 830 ล้านบาท แบ่งเป็น 26 งวดงาน เสร็จปี 2554
ความที่เป็นโครงการระยะยาวและวงเงินสูงถึง 830 กว่าล้านบาท ฉะนั้น นอกจากมีคณะกรรมการควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับงานแล้ว ยังตั้งคณะกรรมการบริหารสัญญาด้วย
แต่มาถูกยกเลิกหลังตนเกษียณ
ตอนนั้นยังไม่มีการเบิกจ่ายเงิน มีแค่การจ่ายเงิน 15% ช่วยผู้รับเหมาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ขณะที่นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา อดีตเลขาธิการ กอศ. ระหว่างปี 2552-2553 กล่าวว่า แก้ไขสัญญา 1 ครั้ง ในช่วงงวดงานที่ 2 เป็นการแก้ไขเพื่อให้การก่อสร้างเดินต่อไปได้ เพราะช่วงแรกทำๆ หยุดๆ
ถามผู้เกี่ยวข้องพบว่างวดงานกับแบบไม่สัมพันธ์กัน คือไม่ก่อสร้างตามลำดับขั้นตอน เช่น ทำขั้นตอนที่ 3 ก่อนขั้นตอนที่ 2 แต่การอนุมัติแก้ไขสัญญาสมัยนั้น ต้องเสนอให้คณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นประธานอนุมัติ
ช่วงนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. แต่ใครเป็นประธาน ตนจำไม่ได้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามแต่งตั้งนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
และนายการุณได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นได้นำขอมูลมาหารือร่วมกับคณะทำงานชุดของ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.
พล.ท.โกศลระบุว่า ได้ข้อมูลส่วนใหญ่ตรงกับประเด็นที่ตั้งไว้ เช่น การจ่ายเงินล่วงหน้า 125 ล้านบาท จำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องแก้สัญญาถึง 6 ครั้ง จนทำให้มีการขยายเวลาดำเนินงาน จากเดิมกำหนดแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่ไม่เสร็จ ต้องขยายเวลาไปถึงปี 2557 ซึ่งต้องไปดูรายละเอียดว่า รัฐได้เปรียบจริงหรือไม่
รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องค่าปรับวันละ 80,000 บาท ฝ่าย สอศ. ได้ใช้สิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาหรือไม่
อีกทั้งยังมีกรณีที่ สอศ. จัดสรรงบฯ ลงไปอีกในปี 2558 จำนวน 126 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 42 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 69 ล้านบาท
ซึ่งพบว่างบฯ ที่จัดสรรลงไปทั้ง 3 ปี นำไปจัดสร้างในส่วนของภายนอก ไม่เกี่ยวกับภายในตัวอาคาร ซึ่งน่าจะมีความผิดปกติ
“คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง และ สอศ. เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องประมาณ 30-40 เรื่อง เมื่อได้เอกสารแล้ว จะศึกษา จากนั้นจะเชิญพยานบุคคลเข้ามาให้ข้อมูลโดยจะดูจากเอกสารว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใดบ้าง”
พล.ท.โกศลระบุ

ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนายการุณ ทำงาน 1 เดือน ล่าสุดได้รายงานความคืบหน้าให้ นพ.ธีระเกียรติ รับทราบ
โดย นพ.ธีระเกียรติระบุว่า มีมูลการทุจริตค่อนข้างชัด รอเพียงเอกสารเป็นทางการ ทั้งการแก้ไขสัญญา การส่งงานโดยไม่ได้ติดตามผล การจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งผิดระเบียบพัสดุ
สัปดาห์นี้น่าจะใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับผู้เกี่ยวข้อง
“มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ระดับสูงสุดจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ใครเกี่ยวข้องก็ต้องว่ากันไป เบื้องต้นถ้ามีมูล ผู้บริหารระดับสูงอาจจะย้ายไปสำนักนายกรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่ ให้ย้ายออกจากพื้นที่ หรือระดับผู้มีอิทธพลถึงเป็นระดับล่างก็ให้ย้ายไปสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยต้องดูรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องแค่ไหน”
“จากนั้นตั้งกรรมการสอบสวนวินัย ถ้าสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรการ คสช. กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ถ้ามีมูลจริง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. หรือผู้บังคับบัญชาสามารถให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ เรื่องนี้เป็นคดีอาญา ถึงเกษียณแล้วก็ไม่พ้นคดีทุจริต”
รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุ

ขณะที่นายการุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า กรรมการผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลต่างๆ รวมกว่า 26 แฟ้ม
เน้นดูเอกสารเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและตรงประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดสัญญาจ้างและการกำหนดรูปแบบรายการว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่
เช่น รูปแบบรายการมีความเปลี่ยนแปลง แล้วในสัญญาจ้างมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า มีการแก้ไขสัญญาประมาณ 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2551-2557 ซึ่งต้องดูว่าแต่ละครั้งเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ และมีเหตุผลอะไรที่ต้องปรับแก้สัญญา
“จะดูรายละเอียดเรื่องการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าหลายครั้ง และเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร อีกส่วนคือเรื่องการขยายสัญญาจ้าง จะนำไปขยายผลต่อได้ โดยได้มอบหมายให้กรรมการนำแฟ้มเอกสารไปศึกษารายละเอียดและนำกลับมาหารือร่วมกัน จากการตรวจสอบ พบว่าเมื่อมีการทำสัญญาใหม่ จะมีการขอขยายเวลา พอขยายเวลาก็ให้เบิกเงินล่วงหน้าบางส่วน ซึ่งการเบิกเงินล่วงหน้า โดยหลักถือเป็นเรื่องปกติ แต่จำนวนเงินที่เบิกมากจนผิดปกติ ถ้าถามว่ากรณีนี้มีมูลทุจริตหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีมูล ส่วนใครจะเกี่ยวข้องบ้าง ยังไม่อยากระบุว่าเป็นใคร แต่จะศึกษาว่าผู้รับผิดชอบงานแต่ละประเด็นที่เราตั้งข้อสังเกต เป็นใคร จากนั้นจะเชิญมาให้ข้อมูล รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วย”
นายการุณระบุ
ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ยังพบสัญญาในการก่อสร้างโครงการเพิ่มเติมอีก 3 สัญญา จากเดิมพบเพียง 1 สัญญา
เร็วๆ นี้ จะได้ข้อสรุปอควาเรียมหอยสังข์ ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติระบุแล้วว่าจะมีบางคนที่ต้องถูกโยกไปสำนักนายกรัฐมนตรี งานนี้ต้องลุ้นว่าเจ้ากระทรวง จะสาวไส้ไปถึง “ไอ้โม่ง” ที่อยู่เบื้องหลังแท้จริงได้หรือไม่
หรือจะจับได้แค่ปลาซิวปลาสร้อย ก็ต้องลุ้นกันต่อไป