นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เกสตาปูกับ 6 ตุลา (ตอน 2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เกสตาปูกับ 6 ตุลา (2)

ในตอนท้ายของบทที่แล้ว ผมได้พูดถึงการสร้างกองกำลังอันธพาลหรือองค์กรมวลชน เพื่ออำพรางอาชญากรรมที่กองทัพก่อขึ้นในการสังหารหมู่ประชาชน ผมคิดว่านี่เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การสังหารหมู่หลังเกสตาปูกลายเป็นความเงียบจนถึงบัดนี้

ใครเคยดูหนังสารคดีของ Joshua Oppenheimer สองเรื่องคือ The Act of Killing และ The Look of Silence คงจำได้ว่า เขาไปสัมภาษณ์นักเลงฆาตกร ที่ทำหน้าที่สังหารหมู่เหยื่อในเกาะสุมาตรา นอกจากเล่าถึงวิธีการสังหารอย่างไม่สะทกสะเทือนอะไรแล้ว เขายังบอกด้วยว่า เขาไม่ต้องการให้มีการรื้อฟื้นการสังหารโหดครั้งใหญ่ของชาติครั้งนั้นกลับขึ้นมาอีก หากเขากลัวความผิดทางอาญา เขาก็ไม่ได้แสดงให้เห็น แต่กลับขู่ว่าหากมีการรื้อฟื้นขึ้นเมื่อไร ก็คงจะต้องมีการสังหารหมู่อย่างกว้างขวางเช่นนั้นเกิดขึ้นอีกแน่

นายพลที่มีส่วนอยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนั้นล้วนปลดบำนาญไปหมดแล้ว ไม่มีอิทธิพลใดๆ ในกองทัพอีก แต่การรื้อฟื้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ทั้งเหยื่อ 1,500,000 คน และทั้งแก่ชาติอินโดนีเซียซึ่งจะต้องก้าวต่อไปในอนาคตทำได้ยากเพราะผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงตามการชักจูงของกองทัพ มีจำนวนมากและกระจายไปทั่วประเทศ สังคมอินโดนีเซียทั้งสังคมต้องพร้อมจะเผชิญกับความตึงเครียดอย่างหนักเป็นครั้งที่สอง ลูกๆ จำนวนมากจะตกตะลึงที่พ่อผู้เปี่ยมด้วยเมตตา เคยเป็นฆาตกรสังหารคนปราศจากอาวุธและยอมจำนนอย่างราบคาบแล้วได้อย่างเลือดเย็นเช่นนั้น

มีสังคมที่พร้อมจะเผชิญกับวิกฤตเช่นนั้นได้น้อยมากในโลก (รวันดา, เยอรมนี, แอฟริกาใต้ และบางประเทศในละตินอเมริกา) จนถึงทุกวันนี้สหรัฐ, รัสเซีย และจีน ซึ่งเคยผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการสังหารหมู่ประชาชนเป็นล้านๆ คนมาแล้วในประวัติศาสตร์ ยังไม่เคยหันกลับไปสืบสวนสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยจริงจังสักแห่ง วุฒิสมาชิกอเมริกันบางคนยังเสนอให้ห้ามนำหนังสือประวัติศาสตร์อเมริกันของ Howard Zinn เข้าห้องสมุดโรงเรียนอยู่เลย

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ถึงแม้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว แต่รัฐก็ไม่เคยจัดการสืบสวนสอบสวนการสังหารหมู่อย่างทารุณโหดร้ายที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวงในวันนั้น อย่างน้อยก็เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อ และให้บทเรียนล้ำค่าแก่ชาติ

ประเพณีการรบของรัฐโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการยกกำลังไป “ริบทรัพย์จับเชลย” ฝ่ายตรงข้าม พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ “ปล้นสะดม” และเพราะเหตุที่ต้องการกวาดต้อนเชลยมาเป็นพลเมืองมากกว่าต้องการขยายดินแดน ความทารุณโหดร้ายไร้กฎกติกาสงครามของกองทัพจึงเป็นประโยชน์สองอย่าง การเผาทำลายและฆ่าฟันผู้คนที่พ่ายแพ้แล้ว ช่วยให้เชลยที่ถูกกวาดต้อนมา ไม่คิดกลับไปตั้งภูมิลำเนาในที่เดิมอีก และความกลัวจนระย่อ (awe) ทำให้เชลยไม่กล้าขัดขืน กวาดต้อนง่ายและยังเป็นพลเมืองใหม่ที่ว่านอนสอนง่ายด้วย

กองทัพไทยเกิดจากการแปรกองกำลังที่มีตามประเพณี (ส่วนใหญ่คือกองอาสาต่างชาติ) ให้กลายเป็นกองทัพประจำการแบบใหม่ แต่ยังใช้วิธีการรบไม่ต่างจากโบราณนัก ผู้เห็นเหตุการณ์ชาวฝรั่งเศสเล่าถึงการกระทำของกองทหารที่เข้าโจมตีเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ในคราวปราบกบฏเงี้ยว ว่าเต็มไปด้วยความทารุณโหดร้ายของกองทัพจากกรุงเทพฯ ทั้งปล้นสะดม, ข่มขืน, เผาทำลายบ้านเรือน และฆ่าทิ้งทั้งกองกำลังของศัตรูและประชาชน

กองทัพที่ฮอลันดาสร้างขึ้นจากประชาชนกลุ่มที่ตนไว้วางใจในอาณานิคมอินเดียตะวันออก ก็ไม่ต่างจากกัน การขยายดินแดนของฮอลันดาในยุคสมัยใหม่ นอกจากใช้การทำสัญญากับเจ้าครองแคว้นที่ยอมจำนนโดยดีแล้ว ก็ใช้กองทัพสมัยใหม่ของตนทำสงครามชนิดทารุณโหดร้ายแบบเดียวกันในแว่นแคว้นที่ไม่ยอมจำนนแต่โดยดี หรือใช้ปราบกบฏซึ่งแต่ละครั้งก็อาจประหารชีวิตผู้คนเป็นพันเป็นหมื่น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประเพณีการรบทั้งของกองทัพไทยและอินโดนีเซีย (หรือว่าที่จริงทั้งภูมิภาค) แม้ได้กลายเป็นกองทัพประจำการสมัยใหม่แล้ว แต่ไม่เคยชินกับกติกาการสงคราม ซึ่งค่อยๆ พัฒนาขึ้นในยุโรปในศตวรรษที่ 20 แม้อาจได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับข้อจำกัดในการทำสงครามแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การสังหารหมู่หรือความรุนแรงระดับมวลชนในอินโดนีเซียเกิดความสูญเสียมากกว่าไทยหลายร้อยเท่าตัว เช่น ในปี 1948 เมื่อกองทัพสาธารณรัฐ (ซึ่งกำลังทำสงครามกู้เอกราชกับฮอลันดา) ปราบกบฏที่มาดิอุน (Madiun) ในชวาตะวันออก ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอยู่เบื้องหลังได้สำเร็จ กองทัพได้สังหารพลพรรคคอมมิวนิสต์ไปประมาณ 35,000 คน เปรียบเทียบกับผู้เสียชีวิต, ถูกจับกุมคุมขัง และหลบหนีไปต่างประเทศในการปราบกบฏบวรเดช 1933 ของไทย แม้เป็นครั้งหนึ่งที่ถือว่าเกิดความสูญเสียอย่างมากในประวัติการต่อสู้ทางการเมืองด้วยกำลังอาวุธ ก็ถือว่าจิ๊บๆ เต็มที

กองทัพอินโดนีเซียงอกขึ้นมาจากกองกำลังปฏิวัติเพื่อกู้เอกราชจากฮอลันดา อันเป็นสงครามที่ยืดเยื้อถึง 5 ปี ตัวแกนกลางคือกองกำลังที่ญี่ปุ่นฝึกขึ้นระหว่างยึดครอง เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรเริ่มรุกคืบเข้าสู่หมู่เกาะอินเดียตะวันออก แกนกลางซึ่งต่อมากลายเป็นผู้นำของกองทัพคุ้นเคยกับวิธีปฏิบัติของกองทัพญี่ปุ่น คือทำร้ายศัตรูของตนด้วยความรุนแรงป่าเถื่อนทุกชนิด

ยิ่งกว่านี้ในสงครามกู้เอกราช กองทัพและนักการเมืองทุกฝ่ายต่างต้องเชื่อมโยงกับประชาชน เพื่อสร้างกองกำลังติดอาวุธในหมู่ประชาชนขึ้นช่วยการรบของฝ่ายรัฐ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกองทัพอินโดนีเซียรบกับศัตรูด้วย “สงครามประชาชน” ด้วยเหตุดังนั้น กองทัพอินโดนีเซียจึงเคยชินกับการสร้างเครือข่ายกับพลังประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นกลุ่มติดอาวุธที่กองทัพสร้างขึ้นเองบ้าง องค์กรประชาชนที่พรรคการเมืองสร้างขึ้นบ้าง กลุ่มนักเลงอันธพาลในท้องถิ่นบ้าง

ควรกล่าวด้วยว่า การเมืองอินโดนีเซียมีลักษณะ “มวลชน” มากกว่าไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ (ไม่เกี่ยวกับเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย) กองทัพในฐานะองค์กรทางการเมือง จึงเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือแม้ปฏิบัติภารกิจของตนโดยร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนที่ตนสร้างขึ้นเอง (เช่นในกรณีติมอร์ตะวันออก, อาเจะห์ และอิเรียนชัยยะหรือนิวกินี) ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน 1965-1966 ของกองทัพในอินโดนีเซีย จึงสามารถทำได้ด้วยการสร้างภาพการลุกฮือของมวลชนขึ้นมาเข่นฆ่าปรปักษ์ที่เป็นคอมมิวนิสต์ได้ง่าย

แตกต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้กองทัพ (และ ตชด.) อาจมีความสัมพันธ์กับกลุ่มมวลชน ซึ่งก่อจลาจลเทียมขึ้นแถวธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยพรางปฏิบัติการของทหารและตำรวจ แต่กลุ่มมวลชนเหล่านี้มีบทบาทในปฏิบัติการสังหารหมู่ประชาชนมากน้อยแค่ไหน ยังไม่สู้จะชัดเจนนัก ส่วนปฏิบัติการบุกยึดธรรมศาสตร์ด้วยอาวุธทั้งธรรมดาและอาวุธสงคราม เห็นได้จากภาพถ่ายว่าเป็นภาระของกองกำลังของรัฐ คือตำรวจ, ตชด. และน่าจะมีทหารนอกเครื่องแบบอยู่ด้วย

(วารสาร Bulletin of Concerned Asian Scholars ฉบับ ๖ ตุลาฯ )

ส่วนปฏิบัติการโหดที่สนามหลวง ผู้ลงมือจะเป็นใครกันแน่ยังไม่อาจระบุชัดได้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยชี้ไว้ว่า ชายที่ใช้เก้าอี้ฟาดผู้ที่ถูกแขวนคอกับต้นมะขาม (และคงเสียชีวิตแล้ว) ปรากฏตัวในภาพถ่ายการสังหารโหดอีก 3 ครั้ง หมายความว่า ชายผู้นี้เข้าไปปรากฏตัวในเหตุการณ์ทารุณป่าเถื่อนถึง 4 ครั้ง ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และบนพื้นที่ซึ่งไม่ใช่อยู่ที่เดียวกันด้วย เขาเป็นเพียงหนึ่งใน “มวลชน” ผู้โกรธแค้นคนหนึ่งกระนั้นหรือ?

ความอำมหิตป่าเถื่อนของเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งในระยะนั้น แต่มีการเตรียมการมาเป็นเวลานานแล้ว ด้วยการสร้างความไม่เป็นคนให้แก่นักศึกษาซึ่งนิยมอุดมคติของฝ่ายซ้าย เช่น การเผยแพร่เพลง “หนักแผ่นดิน” ผ่านวิทยุทหาร คำอภิปรายในรายการทีวีทหารและการอภิปรายสาธารณะของฝ่ายขวาที่เต็มไปด้วยสีสันของความรุนแรง (เช่น ตัดหัวเซ่นธงชัยเฉลิมพล … แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝ่ายซ้ายเองก็ใช้สำนวนความรุนแรงไม่แพ้กัน เช่น ทำปุ๋ย หรือถูกบดขยี้ด้วยกงล้อประวัติศาสตร์) มีกลุ่มพลังฝ่ายขวาที่ใช้ความรุนแรงและได้รับการอุดหนุนจากนายทหารบางคน ซึ่งรู้ในภายหลังว่าอาศัยงบประมาณของ กอ.รมน. และซีไอเอด้วย

แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า กลุ่มพลังมวลชนที่เชื่อมโยงกับกองทัพเหล่านี้ อาจช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการยึดอำนาจของกองทัพ เขาไม่ใช่ผู้กระทำความรุนแรงหลัก การจับกุมคุมขังบุคคลต้องสงสัยจำนวนมากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำในนามรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกองทัพ หรือแม้แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา ก็กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพอินโดนีเซียแล้ว กองทัพไทยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวของฝ่ายพลเรือนน้อย กลุ่มที่กองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์มายาวนานมีอยู่กลุ่มเดียวคือแรงงาน ซึ่งรัฐฝ่ายขวาของไทยเห็นว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคง แต่กองทัพเข้าไปกำกับเพื่อไม่ให้แรงงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ตรงกันข้ามกับกองทัพอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กลุ่มมวลชนเข้ามามีบทบาททางการเมือง คือสนับสนุนกองทัพ

และด้วยเหตุดังนี้ การสังหารหมู่ประชาชนแต่ละครั้ง กองทัพจึงมักต้องเป็นผู้ลงมือเองอย่างค่อนข้างออกหน้า ในขณะที่ความรุนแรงมวลชนที่เกิดในอินโดนีเซีย มักเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างกองทัพและกลุ่มพลังมวลชน ซึ่งกองทัพสร้างขึ้นเอง หรืออุดหนุนมานาน กองทัพคือแกนนำในการก่อความรุนแรงมวลชนก็จริง แต่ไม่ใช่กองทัพเพียงกลุ่มเดียว ยังมีกลุ่มอื่นร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นๆ ด้วย

ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาในประเทศไทยจึงไม่เหมือนการสังหารหมู่ที่เคยเกิดมาก่อน และที่จะเกิดตามมา เพราะกองทัพไม่ได้ลงมือเองอย่างออกหน้า แต่อาศัยกองกำลังพลเรือนหลากหลายประเภทที่กองทัพมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดขึ้นเป็นผู้ออกหน้าแทน หากจะมีทหารร่วมอยู่ในปฏิบัติการ ก็สวมหมวกหลุบหน้า, นอกเครื่องแบบ, ปลอมตัว หรือปะปนไปกับฝูงชนอย่างไม่ให้แปลกแยก

การรัฐประหาร 6 ตุลา ทำคล้ายกับการรัฐประหารของกองทัพอินโดนีเซียภายใต้นายพลซูฮาร์โต ดูประหนึ่งว่าเหตุจลาจลและสังหารหมู่ในตอนเช้ามาจนบ่ายไม่เกี่ยวอะไรกับกองทัพ แต่พอตกเย็นกองทัพต่างหากที่จำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา

นี่อาจเป็นการยึดอำนาจของกองทัพไทยเพียงครั้งเดียวที่ต้องอาศัยกลุ่มอื่นๆ มาบังหน้ามากพอสมควร ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกใน ค.ศ.1976 ไม่เอื้อให้กองทัพยึดอำนาจอย่างออกหน้าฝ่ายเดียวได้ แต่เพราะกองทัพไม่เคยเชื่อมโยงกับกลุ่มพลเรือนภายนอก หรือสร้างกลุ่มพลเรือนภายนอกขึ้นประสานร่วมมือกับกองทัพ เหมือนกับที่กองทัพอินโดนีเซียทำมาตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้น การยึดอำนาจในครั้งหลังๆ จากนั้น กองทัพไทยจึงไม่ได้ใช้ยุทธวิธีแบบ 6 ตุลาอีกเลย

ความต่างตรงนี้ระหว่างกองทัพไทยและอินโดนีเซีย มีมูลมาจากการเมืองของสองประเทศที่ผิดกันมาก เจฟฟรีย์ โรบินสันชี้ให้เห็นว่า การเมืองของอินโดนีเซียเป็นการแข่งขันกันด้านนโยบายและอุดมการณ์สูงมาก จะเป็นสหพันธรัฐหรือเป็นรัฐเดี่ยว จะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยชี้นำ จะเป็นกลางในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจะเอียงเข้าข้างใดในสงครามเย็น จะเป็นรัฐอิสลามหรือรัฐฆราวาส ฯลฯ ด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้ทุกนโยบายและอุดมการณ์ต่างต้องแสวงหาการสนับสนุนจากมวลชนอย่างมาก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทหารและนักการเมืองอินโดนีเซียไม่โกงนะครับ แต่อย่างน้อยการแย่งอำนาจกันต้องทำผ่านนโยบายและอุดมการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่การเมืองไทยคือการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำ นโยบายและอุดมการณ์ไม่เกี่ยว เพราะทุกกลุ่มท่องบ่นสิ่งเดียวกัน กองทัพก็เป็นกลุ่มหนึ่งในหมู่ชนชั้นนำ ซ้ำยังเป็นกลุ่มที่มีการจัดองค์กรดีกว่ากลุ่มอื่นด้วย การแข่งขันกันอาจทำโดยผ่านหีบบัตรเลือกตั้งในบางครั้ง หรือทำด้วยรถถังก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายของการแข่งขันคืออำนาจที่เหนือกว่ากลุ่มอื่นควรตกอยู่ในมือของใคร หรือใครควรเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่เหนือผู้อุปถัมภ์รายอื่นทั้งหมด การเมืองแบบนี้ไม่เอื้อให้แต่ละกลุ่มจำเป็นต้องลงไปจัดองค์กรมวลชนในการแข่งขัน นักการเมืองอาจซื้อเสียง ทหารอาจใช้แรงงานของ “ไอ้เณร” เพื่อได้ใจประชาชน แต่นั่นไม่ใช่การจัดองค์กรมวลชน (แน่นอน ทั้งหมดนี้เปลี่ยนไปเพราะทักษิณและเสื้อแดง)

(ยังมีต่อ)