เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ความโหดร้ายของสงคราม “ไม่เป็นไร ฉัน…ฉันให้อภัย”

“สงครามได้ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง” คิม ฟุก ปรากฏตัวเผชิญหน้ากับบุคคลซึ่งเป็นผู้ทำลายบ้านเกิดเมืองนอน ทำให้ญาติพี่น้องต้องเสียชีวิต และเกือบฆ่าเธอให้ตายตกไปตามกัน ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ทำใจได้ง่าย แต่ผู้หญิงคนนี้ – คิม ฟุก ทำ ในการพูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

หลังจากเล่าถึงประสบการณ์อันร้าวรานและเจ็บปวด เธอได้เผยความในใจว่า มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะบอกต่อหน้านักบินที่ทิ้งระเบิดนาปาล์มใส่หมู่บ้านในวันนั้น

คิม ฟุก พูดถึงตรงนี้ มีผู้ส่งข้อความมาบอกเธอว่า คนที่เธอต้องการพบนั่งอยู่ในห้องนี้ คิม ฟุก จึงบอกว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดีๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

เมื่อจบการบรรยาย คิม ฟุก ลงจากเวที เธอพบกับอดีตนักบินคนนั้น ที่เกือบฆ่าเธอ เขามิใช่ทหารอีกแล้ว แต่เป็นศาสนาจารย์ผู้ใช้ชีวิตอย่างสงบในโบสถ์แห่งหนึ่ง

ชายชราพูดด้วยสีหน้าเจ็บปวดว่า “…ผมขอโทษ ขอโทษจริงๆ”

คิม ฟุก เข้าไปโอบกอดอดีตศัตรูผู้เกือบทำลายชีวิตของเธอ ถอนหายใจ แล้วค่อยๆ กล่าวปลอบประโลมชายชราผู้นั้นว่า

“ไม่เป็นไร ฉัน…ฉันให้อภัย”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะให้อภัยกับคนที่ทำร้ายเราปางตาย คิม ฟุก บอกกับชายชราศาสนาจารย์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่เธอทั้งกายและใจ จนไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่แล้วเธอพบว่า สิ่งที่ทำร้ายเธอจริงๆ มิใช่ใครที่ไหน นอกจากความเกลียดชังที่ฝังแน่นในใจของเธอ!!

“ฉันพบว่า การบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้ ฆ่าฉันได้ จึงพยายามสวดมนต์ แผ่เมตตาให้กับผู้ที่ก่อความทุกข์ให้ฉัน มันคือสิ่งบริสุทธิ์ที่ทำให้พบว่าหัวใจของฉันอ่อนโยนมากขึ้น จนสามารถเรียนรู้ได้ถึงหลักของการให้อภัย โดยสามารถโยนความเกลียดออกไปได้”

คิม ฟุก คิดว่า เราไม่อาจควบคุมกำกับผู้คนให้ทำดี หรือไม่ทำชั่วกับเราได้ แต่เราสามารถควบคุมจิตใจของเราได้ เราไม่อาจเลือกได้ว่า รอบตัวเราต้องมีแต่คนรัก พูดจาอ่อนหวาน แต่เราเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร เมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา

นี่คือชีวิตผู้ผ่านความตายเมื่ออายุเพียง 12 ขวบ – คิม ฟุก เธอคือผู้หญิงหัวใจแกร่งแห่ง “การให้อภัย”

ผ่านภาพนั้นไปแล้ว กลุ่มเราและผู้ที่เข้ามาดูภาพแห่งสงครามเวียดนาม เดินผ่านไปภาพแล้วภาพเล่า กระทั่งถึงภาพที่ยังจดจำได้ดี คือภาพ ชายผู้หนึ่งใช้ปืนพกจ่อขมับของชายอีกผู้หนึ่ง ซึ่งบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์นำมาลงพิมพ์ในหน้า “หนุ่มเมืองจันท์” ที่เขียนถึงต่อจาก คิม ฟุก ชื่อเรื่อง “สิ่งที่เห็นกับความจริง”

ภาพนี้ “หนุ่มเมืองจันท์” เขียนถึงว่า เป็นภาพของ นายพลเหงียน หงอก โลน อธิบดีกรมตำรวจใช้ปืนพกจ่อขมับหัวหน้าหน่วยล่าสังหารของ “เวียดกง” ที่ถูกจับได้ ซึ่งเวียดกงคนนี้เพิ่งสังหารครอบครัวตำรวจทั้งลูกเมียและคนในบ้านอีกหลายศพ ทราบชื่อภายหลังคือ เหงียน วัน เล็ม

นายพลเหงียน หงอก โลน เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ ด้วยความแค้น เขาสั่งให้ลูกน้องยิงฆาตกรเวียดกงคนนี้ ซึ่งถูกจับมัดมือไขว้หลัง แต่ไม่มีใครกล้ายิง!!

นายพลจึงจัดการเอง และกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์อีกภาพหนึ่ง ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เช่นกัน ซึ่งไม่มีใครรู้ที่มาที่ไป เพราะผู้ถ่ายภาพคือ “เอ็ดดี้ อดัมส์” เป็นช่างภาพ ไม่ใช่นักข่าว เขาส่งแต่ภาพ ไม่ได้บรรยายที่มาของภาพ ทั้งที่เขาอยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เรื่องที่ปรากฏภายหลัง คือ หลังลั่นไก นายพลเดินมาหาช่างภาพ บอกว่า “คนคนนี้ฆ่าพวกเราหลายคน ฉันคิดว่าพระพุทธเจ้าจะยกโทษให้ฉัน”

เมื่อภาพนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไปทั้งจอโทรทัศน์ หน้าหนังสือพิมพ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อน โหดร้าย เป็นสัญลักษณ์ของความอยุติธรรมแห่งสงคราม

สามเดือนจากนั้น นายพลเหงียน หงอก โลน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการสู้รบ ถูกส่งไปรักษาที่ออสเตรเลีย เขาถูกตัดขา ก่อนถูกย้ายหนีกลุ่มผู้ประท้วงไปพักฟื้นที่ศูนย์การแพทย์วอลเตอร์รีด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับเวียดนามต่อมา

ช่วงไซ่ง่อนแตก ปี 1975 นายพลเหงียน หงอก โลน ขอให้ทหารอเมริกันช่วยพาเขากับลูกเมียหนีตาย แต่ถูกเพิกเฉย จึงพาครอบครัวหนีออกมาด้วยเครื่องบินของเวียดนามใต้ ต่อมาได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ลี้ภัยที่รัฐเวอร์จิเนีย เขายังชีพด้วยการขายพิซซ่า ไม่นานจากนั้นต้องหยุดกิจกรรมทางสังคมทุกอย่าง เมื่อมีการเปิดเผยว่าเขาคือ “มือปืนใจเหี้ยม” ในภาพนั้น

เอ็ดดี้ อดัมส์ ช่างภาพคนนั้นบอกว่าเคยไปเยี่ยมนายพลคนนั้นครั้งสุดท้ายก่อนร้านพิซซ่าจะปิดกิจการ เห็นคำในผนังห้องน้ำว่า

“เรารู้ว่าแกคือใคร ไอ้ระยำ”

เอ็ดดี้ อดัมส์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทมส์ว่า

“นายพลสังหารเวียดกงด้วยปืน ผมสังหารนายพลด้วยกล้องถ่ายรูป ภาพนิ่งคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดในโลก เพราะคนเชื่อในภาพที่เห็น แต่ภาพถ่ายก็โกหกได้ แม้จะไม่มีการดัดแปลงตกแต่งก็ตาม ภาพถ่ายพวกนี้บอกความจริงเพียงครึ่งเดียว โดยสิ่งที่ภาพถ่ายไม่ได้บอกคือ – คุณจะทำอย่างไร ถ้าคุณเป็นนายพลเหงียนเวลานั้น ในสถานที่นั้น ในวันที่อากาศร้อน และคุณจับตัวคนร้ายได้หลังจากที่เขาระเบิดทหารอเมริกันตายไปหนึ่ง หรือสอง หรือสามคน…”

เมื่อวันนั้นมาถึง นายพลเหงียน หงอก โลน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ปี 2998 เอ็ดดี้ อดัมส์ ช่างภาพส่งช่อดอกไม้ไปเคารพศพ พร้อมเขียนข้อความว่า

“ผมขอโทษ”

“หนุ่มเมืองจันท์” จบเรื่อง “สิ่งที่เห็นกับความจริง” ว่า เพราะ “ภาพ” คือการหยุดเวลา เป็น “เรื่องราว” ณ เวลานั้น

แต่ความจริงของชีวิตเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง มีที่มาและที่ไป

การตัดสินคนด้วยภาพภาพเดียวจึงสามารถฆ่าคนคนหนึ่งทั้งเป็นได้… อย่าเพิ่งตัดสินใจใครด้วยภาพภาพเดียว หรือเพียงคลิปเดียว เราต้องให้โอกาสกับสิ่งที่ไม่รู้

ไปเวียดนาม ไซ่ง่อน ครั้งแรก ได้รับบทเรียนสองบทในเวลาเดียวกัน คือ อย่าตัดสินใครด้วยภาพหรือคลิปเดียว เพราะสิ่งที่เห็นกับความจริงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

และ “มีแต่การให้อภัยและเมตตาเท่านั้น ค้ำจุนโลก”