หนุ่มเมืองจันท์ : คิดแบบ “อัลฟาโกะ”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเพิ่งได้ดูสารคดีเรื่อง “อัลฟาโกะ” ทาง “เน็ตฟลิกซ์”

เป็นสารคดีที่ดีมากครับ

เขาเล่าถึงตอนที่ “อัลฟาโกะ” เอาชนะ “ลีเชดอล” เซียนโกะอดีตแชมป์โลกหลายสมัยจากเกาหลีใต้

ก่อนที่จะบุกไปเอาชนะ “เค่อ เจีย” แชมป์โลกคนปัจจุบันชาวจีนเมื่อกลางปีที่แล้ว

แล้วแขวนนวมเลย

ไม่พัฒนาต่อแล้ว

ถามว่าดูจบแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

มี 2 ความรู้สึกครับ

ความรู้สึกแรก คือ “อัลฟาโกะ” เก่งมาก

เพราะ “โกะ” เป็นเกมที่ซับซ้อนที่สุดในบรรดาเกมทั้งหมด

เหนือกว่า “หมากรุก” หลายเท่าตัว

“อัลฟาโกะ” จึงเป็น AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าเจ้าสิ่งประดิษฐ์นี้เก่งจริง

เก่งกว่ามนุษย์

China’s 19-year-old Go player Ke Jie reacts during the second match against Google’s artificial intelligence programme AlphaGo in Wuzhen, eastern China’s Zhejiang province on May 25, 2017.
Chinese netizens fumed on May 25 over a government ban on live coverage of Google algorithm AlphaGo’s battle with the world’s top Go player, as the programme clinched their three-match series in the ancient board game. / AFP PHOTO / STR / China OUT

ความรู้สึกที่สอง ผมเข้าใจ “อีลอน มัสก์” แล้วครับ

เข้าใจแล้วว่าทำไม “อีลอน มัสก์” จึงเตือนให้ระวังเรื่องการพัฒนา AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”

จนถึงขั้นบอกว่า “AI เปรียบเสมือนปีศาจร้าย”

แม้จะมีคนในแวดวงคอมพิวเตอร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเขา

เพราะในมุมหนึ่ง AI คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้มนุษย์

แต่พอดูสารคดีเรื่อง “อัลฟาโกะ”

ผมเริ่มกลัวแล้วครับ

“มัน” ฉลาดล้ำลึกจริงๆ

แนวคิดของการสร้าง “อัลฟาโกะ” คือ การเขียนโปรแกรมโครงสร้างประสาทเทียมส่วนลึก

หรือเลียนแบบเส้นใยเซลล์ประสาทในสมองของคน

จากนั้นก็ให้ดูเกมที่มือสมัครเล่นเก่งๆ ใส่เข้าไปประมาณ 100,000 เกม

แล้วก็ปล่อยให้มันเล่นเองครับ

แข่งกันเองหลายล้านครั้ง

“อัลฟาโกะ” จะเรียนรู้จาก “ความผิดพลาด” ไปเรื่อยๆ

ยิ่งแก้ไข “ความผิดพลาด” ได้มากเท่าไร

มันก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ

เขาอธิบายว่ากระบวนการคิดของ “อัลฟาโกะ” มีองค์ประกอบ 3 ส่วนครับ

ส่วนแรก คือ Policy Network จะถูกฝึกให้เล่นเกมระดับสูงเลียนแบบมนุษย์ไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง

ส่วนที่สอง คือ Value Network

พอเราวางหมากของเราบนกระดานปั๊บ

“มัน” จะเริ่มประเมินสถานการณ์บนกระดานว่าจะวางหมากตัวไหนดี

ตำแหน่งไหนจะมีความเป็นไปได้ที่จะชนะเท่าไร

ยังไม่พอครับ ส่วนที่สาม คือ Tree Search จะเริ่มทำงาน

เป็นการสืบค้นแบบผังต้นไม้

คำนวณล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ไม่ใช่แค่ 2-3 ตาล่วงหน้า

แต่เป็นหลายสิบ หรือเกือบ 100 ตาล่วงหน้า

เห็นแผนผังการอธิบายของทีมงานแล้ว

คารวะเลยครับ

เหนือชั้นจริงๆ

ในสารคดีชุดนี้เขาถ่ายทำเบื้องหลังการแข่งขันระหว่าง “ลีเชดอล” กับ “อัลฟาโกะ”

ก่อนแข่ง “ลีเชดอล” มั่นใจมาก

เขาเชื่อว่าจะชนะ 5:0

เกมแรก เขาแพ้

เกมที่สอง แพ้อีก

ความมั่นใจของเขาเริ่มหายไป

“ลีเชดอล” เริ่มรู้สึกแล้วว่าเขากำลังรับภาระที่ยิ่งใหญ่

ตอนแรกนึกว่าจะเป็นแค่ตัวแทนของเกาหลีใต้ในการแข่งขัน

แต่ตอนนี้ “ลีเชดอล” รู้แล้วว่าเขากำลังกลายเป็นตัวแทนของ “มนุษย์”

สู้กับ “หุ่นยนต์”

บรรยากาศในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ กับในห้องแถลงข่าวหลังจบเกมชัดเจนที่สุด

เกมแรก ทุกคนยังคิดว่า “ลีเชดอล” จะเอาคืนได้

แต่พอถึงเกมสอง ทุกคนรู้แล้วว่า “อัลฟาโกะ” ไม่ธรรมดา

…”มัน” เก่งจริง

และเมื่อพ่ายแพ้ในเกมที่ 3 บรรยากาศในห้องส่งและห้องแถลงข่าวซึมเศร้าอย่างชัดเจน

ถึงขั้นต้องมีคนขึ้นมาพูดปลอบใจ “ลีเชดอล”

…ขนาดนั้น

ในเกมที่ 3 มีจังหวะหนึ่งในหมากที่ 37

“อัลฟาโกะ” วางหมากที่เซียนโกะทั้งหลายงุนงง

ไม่มีใครคิดว่าจะมีนักเล่นโกะคนไหนวางหมากที่ตำแหน่งนี้

งงอยู่พักหนึ่ง พอผ่านไป 3-4 ตา

ทุกคนจึงรู้ว่าหมากที่ 37 คือ สุดยอดฝีมือที่มนุษย์คาดไม่ถึง

“อัลฟาโกะ” สามารถสร้างสรรค์เกมที่มนุษย์ไม่เคยคิดได้มาก่อนได้

ถึงเกมนี้ ผมขออนุญาตเปลี่ยน “สรรพนาม” ที่เรียก “อัลฟาโกะ” ใหม่นะครับ

หมากตานี้

 

“ท่าน” เป็นคนคิดเองครับ

ความสนุกตื่นเต้นอยู่ที่เกมที่ 4

เมื่อ “ลีเชดอล” สามารถเอาชนะ “อัลฟาโกะ” ได้

บรรยากาศในห้องส่งและห้องแถลงข่าวบ้าคลั่งเลยครับ

เฮกันลั่น

ตอนที่ “ลีเชดอล” เดินเข้าห้องแถลงข่าว นักข่าวลุกขึ้นยืนปรบมือให้

เหมือนกำลังต้อนรับ “วีรบุรุษ” คืนสู่โลกหลังเอาชนะมนุษย์ต่างดาวได้สำเร็จ

นักข่าวตั้งคำถามเกี่ยวกับหมากตาที่ 78 ของ “ลีเชดอล”

เพราะเป็นจุดเปลี่ยนเกม

ถามว่าทำไมเขาเลือกวางหมากตานี้

“ลีเชดอล” ตอบว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน

รู้แต่ว่าต้องวางตานี้เท่านั้น

ทีมงาน “อัลฟาโกะ” ถึงขั้นไปดูข้อมูลหลังบ้าน

หมากตาที่ 78 เป็นตำแหน่งที่ “อัลฟาโกะ” คำนวณแล้วว่ามีโอกาสที่คนจะวางที่ตำแหน่งนี้เพียง 0.007% เท่านั้น

แต่ “ลีเชดอล” เลือกตำแหน่งนี้

ตำแหน่งที่ “เซียนโกะ” ที่เป็นมนุษย์และ “อัลฟาโกะ” คิดไม่ถึง

นี่คือ การสร้างสรรค์ของมนุษย์ครับ

“ลีเชดอล” คิดเอง

แต่พอมาถึงเกมที่ 5 กระบวนการเรียนรู้จาก “ความผิดพลาด” ของ “อัลฟาโกะ” เริ่มทำงาน

ทุกหมากที่เลือกเดิน เป็นตำแหน่งที่ “เซียนโกะ” คิดไม่ถึง

ตอนแรกทุกคนหัวเราะ

นึกว่าคอมพิวเตอร์ยังไม่หายเมาหมัดจากเกมที่ 4

มันแปลกและแตกต่างจนมนุษย์ไม่เข้าใจ

แต่พอเดินไปเรื่อยๆ ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่า “อัลฟาโกะ” กำลังสร้างสรรค์การเดินหมากรูปแบบใหม่

ทุกตำแหน่งที่วางหมาก “อัลฟาโกะ” ไม่ได้หวังจะชนะหลายแต้ม

เขาคิดแค่ 1 แต้มครึ่งเท่านั้น

เพราะชนะแค่แต้มเดียว

ก็ “ชนะ”

ในสารคดีเรื่องนี้ ทีมงาน “อัลฟาโกะ” คนหนึ่งยืนยันว่า AI ไม่น่ากลัว

เพราะแม้ว่ามันจะคิดได้เองจนเก่งกว่ามนุษย์

แต่ทั้งหมดนี้ “มนุษย์” เป็นคนสร้าง

ครับ เขากำลังคิดว่าถ้ามนุษย์สร้างอะไรขึ้นมา

เราจะควบคุมมันได้

ตอนที่เขาพูด ผมสังเกตว่าบนจอคอมพิวเตอร์เหมือนมีเงาอะไรบางอย่าง

คล้าย “อัลฟาโกะ” กำลังหัวเราะครับ