เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (ยุค 2 ค.ศ.1990-2000)

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (4) : ยุค 2 ค.ศ.1990-2000

ผมขอเริ่มด้วยการนำเสนอตารางภาพรวมบริบทโลก ภูมิภาคจีนและไทยในยุคที่ 2 ของสัมพันธ์ไทย-จีนนี้ (ดูตาราง)

ประเด็นน่าสนใจจากงานของ Benjamin Zawacki และ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช ที่ผมอยากหยิบยกมาอภิปรายเกี่ยวกับยุค 2 ของสัมพันธ์ไทย-จีนนี้ ได้แก่ :

1. ชาติชายโน้มน้าวเติ้งเสี่ยวผิงอย่างยากเย็นกว่าจะยอมรับนโยบายริเริ่มใหม่ของเขาต่ออินโดจีนเรื่อง “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า”

2. สหรัฐกลับมาไทย (หลังถอนตัวไปหลังแพ้สงครามเวียดนาม) ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในฐานะมหาอำนาจนำโลกาภิวัตน์

3. จีนช่วยไทยอย่างน่าประทับใจตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่จีนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย

4. ระบบ/ระเบียบการจัดวางนโยบายโดยทั่วไป รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศต่อจีนเปลี่ยนไป

5.เชื้อมูลต่างๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นพื้นฐานรองรับฉันทามติที่ไทยปรับตัวเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจจีนระดับภูมิภาคในยุคถัดไป

6. นายกฯ ชวนมองจีนด้วยความหวาดระแวงบางระดับ

ขออนุญาตว่าไปตามลำดับดังนี้

1)ชาติชายโน้มน้าวเติ้งเสี่ยวผิงอย่างยากเย็นกว่าจะยอมรับนโยบายริเริ่มใหม่ของเขาต่ออินโดจีนเรื่อง “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า”

นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ริเริ่มนโยบายอันหลักแหลม มองการณ์ไกล แหลมคม ค่อนข้างเสี่ยงและลำบากทางการทูตเศรษฐกิจการค้านี้ ท่ามกลางแรงต่อต้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะมันเป็นการหักรานแนวร่วม [ไทย+US+จีน+เขมร 3 ฝ่าย] vs. [เวียดนาม+เขมรเฮง สัมริน+ลาว+โซเวียต] แต่เดิม (เจษฎาพัญ, น.177, 203)

ด้านในประเทศ นายกฯ ชาติชายและคณะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกเดินนโยบายข้ามหน้าข้ามตา ละเลยทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกองทัพ ซึ่งมีท่าทีนิยมจีนและเป็นแหล่งที่มาของนโยบายการทูตและความมั่นคงของไทยต่ออินโดจีนที่ผ่านมา (กล่าวคือ หนุนหลังเขมร 3 ฝ่าย ต้านเวียดนาม)

แต่น่าสนใจว่านายกฯ ชาติชายกลับยังให้ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา รมว.ต่างประเทศสมัยรัฐบาลเปรมดำรงคงตำแหน่งเดิมต่อไปในคณะรัฐมนตรีด้วย (BZ, p.81)

ไม่เพียงเท่านั้น แขนขากลุ่มทุนธุรกิจที่มีส่วนได้เสียกับจีนคือ CP ก็พลอยตกใจและโกรธเกรี้ยวไปตามจีนต่อนโยบายใหม่นี้ด้วย และได้รับแรงผลักดันจากจีนให้ออกเคลื่อนไหวทางสื่อสาธารณะ ตั้งคำถามวิจารณ์โจมตีรัฐบาลชาติชายเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวอย่างเปิดเผย

Benjamin Zawacki อ้างว่ากลุ่มล็อบบี้จีนที่เคลื่อนไหวทำนองนี้อยู่ใต้การชี้นำกำกับของอดีตนายกรัฐมนตรีและคนของอดีตนายกฯ ที่เหลืออยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีทั้งนักการทูต, กระทรวงการต่างประเทศ, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน และ CP เอง (BZ, p.83)

นายกฯ ชาติชายและทีมบ้านพิษณุโลกรับมือโดยเคลื่อนไหวติดต่อทำความเข้าใจโน้มน้าวจูงใจอเมริกาและจีนโดยตรง อาศัยส่งคนไปล็อบบี้กับประธานาธิบดีบุชผู้พ่อและทีมทำงานของบุชทั้งในกรุงเทพฯ วอชิงตัน ดี.ซี. โตเกียว ฯลฯ โดยอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กับ Ralph Boyce ที่ปรึกษาการเมืองประจำสถานทูตสหรัฐในไทยที่เคยเรียนมหาวิทยาลัย George Washington เดียวกันมา

จนในที่สุดก็กล่อมประธานาธิบดีบุชผู้พ่อสำเร็จให้เอาด้วยกับนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ทั้งที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเองทัดทานคัดค้านเรื่องนี้ (BZ, p.82)

การกล่อมจีนยากกว่ามาก จีนยัวะที่อุตส่าห์เดินนโยบายช่วยเขมรแดงต้านเวียดนามกับไทยมาเป็นสิบปี แล้วจู่ๆ นายกฯ ชาติชายก็มาเปลี่ยนทิศทางกลับตาลปัตรเอากะทันหันดื้อๆ โดยไม่ปรึกษาหารือหรือบอกกล่าวล่วงหน้ากันก่อน

นายกฯ ชาติชายจึงเดินทางไปจีนและเข้าพบเจรจากับเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำอาวุโสของจีน เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1989

ในกรณีการพบปะเจรจาระหว่างนายกฯ ชาติชายกับเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่านี้ วิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญ (น.211-212) เล่าเหตุการณ์เดียวกันโดยอ้างเอกสารของสำนักเลขาฯ ครม. ซึ่งพูดเบาและจืดชืดมากว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นรองในการเจรจา (น.211-212) ซึ่งไม่จริงเลยหากเทียบดูข้อมูลของ Benjamin Zawacki ที่อ้างคำสัมภาษณ์ของไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ผู้เล่าเหตุการณ์เหล่านี้อย่างตื่นเต้นดราม่าออกรสออกชาติมากว่า :

“การนั่งเจรจากับเติ้งเสี่ยวผิงรอบแรกนับเป็นวาระเลวร้ายที่สุดที่เราเคยเผชิญมา นับแต่นาทีแรกที่เรานั่งลง แกไม่เกรงอกเกรงใจไว้หน้ากันทางการทูตชนิดที่คุณจะไม่เชื่อเลยทีเดียว แกเริ่มอบรมสั่งสอนคุณพ่อของผมเรื่องจักรวรรดินิยมโซเวียตและอะไรต่อมิอะไรสารพัด หลังผ่านไปราว 15 นาที คุณพ่อก็พูดว่า “ท่านประธานครับ ผมน่ะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้โปรดหยุดอบรมสั่งสอนผมเถิดครับ ผมมาที่นี่ด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับจีนและสันติภาพกับการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค มันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับจักรวรรดินิยมโซเวียต ใครล่ะครับเป็นคนแรกที่มาเข้าพบโจวเอินไหลและเหมาเจ๋อตง? ใครครับที่นำพานายกรัฐมนตรีไทยคนแรกมาทำความรู้จักกับท่านก่อนหน้าคิสซินเจอร์ด้วยซ้ำไป? ผมน่ะยังเป็นหุ้นส่วนของท่านและเป็นเพื่อนของท่านนะครับ”

“คืนนั้นเองของจริงอย่างแรกก็เกิดขึ้น พ่อของผมบอกว่าผมต้องไปพบผู้อุปถัมภ์ของเติ้งซึ่งเป็นเฒ่าอายุ 80 ปี ชื่อหวังเจิ้ง ที่ดูเหมือนจะเป็นคนกุมกองทัพนับแต่สิ้นเหมาเป็นต้นมา “ไปทำอ่าอะไรล่ะพ่อ?” แต่พ่อบอกว่าวิถีแบบจีนก็เป็นอย่างนี้แหละ ดังนั้น ราวห้าทุ่มผมก็ถูกพาตัวผ่านทางออกครัวของโรงแรมมหึมาแห่งนี้ ขึ้นรถเบนซ์ 500 ไปเขตเมืองเก่าของปักกิ่ง ตาเฒ่าคนนี้ตื่นตัวมาก รูปร่างผอมแห้ง อาศัยอยู่ในบ้านอิฐหลังเก่าๆ ที่ไฟสลัว ทั้งหมดที่แกอยากได้ยินจากผมก็คือเรายังเป็นเพื่อนกันอยู่นะ ว่าฝ่ายเราจะไม่ทรยศพวกเขาไปเข้าข้างสหภาพโซเวียตนะ แกยกแจกันดอกไม้สีแดงให้ผม อ้างว่ามันทำยากที่สุดเพราะสีมันตกได้ ผมหัวร่อกับตัวเองโดยคิดในใจว่า จริงซีนะทำตัวให้แดง (เป็นคอมมิวนิสต์ – ผู้แปล) มันยากยิ่งจริงๆ ด้วย วันถัดมาบรรยากาศก็เปลี่ยนกลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการอบรมสั่งสอนอีกแล้ว เจ้าหน้าที่รายหนึ่งบอกว่า “พวกคุณขอให้เราสนับสนุนเขมรแดง เราก็ทำอย่างนั้นตลอดสิบปีที่ผ่านมา แล้วมาตอนนี้คุณดันบอกให้เราหยุดซะ ไหงคุณไม่บอกเราก่อนที่คุณจะมาล่ะ?” ชาติชายตอบว่าเขาไม่มีเวลา ว่าเขาเพิ่งได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาแค่สองเดือนเท่านั้นเอง ฝ่ายจีนก็เลยบอกว่าเราเป็นเพื่อนกัน และเราจะทำอะไรก็ตามแต่ที่พวกคุณขอให้เราทำ” (BZ, pp.83-84)

แม้จะคลี่คลายการเผชิญหน้ากับจีนไปได้ แต่กระนั้นนายกฯ ชาติชายก็ต้องยอมยกเลิกข้อเสนอบางอย่างในนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้านี้ที่โดนนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงของจีนวิจารณ์ และต้องแอบปิดงำส่วนอื่นไม่ให้จีนรู้ (BZ, pp.83-84)

และแล้วในที่สุดนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้าก็ประสบความสำเร็จ เห็นผลที่นำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคอินโดจีน

ทันท่วงทีก่อนรัฐบาลชาติชายจะถูก รสช. รัฐประหารในปี ค.ศ.1991