ประชา สุวีรานนท์ : ‘อนุบาล’ ธาตุแท้ของรูปทรง

เป็นที่รู้กันว่า สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมและวงกลม เป็นสัญลักษณ์ของโมเดิร์นดีไซน์ และเมื่อพูดถึงรูปทรงเหล่านี้ ก็ต้องชี้ไปที่เบาเฮาส์ (the Bauhaus) ของเยอรมนี ซึ่งเปิดสอนอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1919-1923

เบาเฮาส์ ไม่ได้เป็นแค่โรงเรียน แต่มีฐานะเป็นรากเหง้าของการออกแบบสมัยใหม่ ทั่วโลก ปรัชญาคือ สิ่งที่สำคัญกว่า “หน้าตา” คือความกลมกลืนกันของรูปแบบกับประโยชน์ใช้สอย (form and function) และกระตุ้นการสร้างสรรค์ที่เน้นกระบวนการ (process) มากกว่าผลลัพธ์

มีการสอนทั้งดีไซน์ ซึ่งหมายถึงทางด้านสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน ผลิตภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ เครื่องเคลือบ ลายผ้า และศิลปะ ซึ่งหมายถึง จิตรกรรม ประติมากรรม และการละคร ฯลฯ เป้าหมายคือเข้าใจเครื่องจักรและกระบวนการผลิต แต่นักเรียนต้องเรียนรู้จากการทำงานด้วยมือด้วย

เบาเฮาส์บูชาสัญลักษณ์นี้ถึงกับเอาไปใส่ไว้ในโลโก้ของโรงเรียน

คำถามคือ เขาเอารูปทรงเหล่านี้มาจากไหน?

คําตอบคือ คินเดอร์การ์เตน อันเป็นผลงานของชาวเยอรมันชื่อ วิลเฮล์ม ออกุสต์ โฟรเบล (Friedrich Wilhelm August Frobel) ในปี ค.ศ.1840 เขาริเริ่มใช้ kindergarten หรือ “สวนเด็ก” เป็นชื่อของโรงเรียนที่เมือง Bad Blankenburg ซึ่งไทยเอามาแปลว่าอนุบาล

ยุคนั้น การตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กอายุไม่ถึงเจ็ดขวบเป็นของใหม่มาก ในหลักสูตรของเขา เด็กวัยนี้เป็น “มนุษย์ใหม่” ที่มีศักยภาพในการคิดแล้ว ก่อนเข้าชั้นประถม จึงควรมีความพร้อม ทั้งในทางจิตใจ ปัญญา และร่างกาย ซึ่งแปลว่าต้องได้รับการดูแลและเข้าโรงเรียนอีกแบบ

คินเดอร์การ์เตนของโฟรเบลไม่สอนหนังสือหรือวิชาการใดๆ แต่ทำให้ “การเรียนคือ การเล่น” ซึ่งแปลว่า เน้นกระบวนการมากกว่าผล กิจกรรมและเกมต่างๆ เช่นร้องเพลง เต้นรำ และปลูกต้นไม้ เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเยาวชน และมีอิทธิพลต่อหลักสูตรอนุบาลทั้งหลายมาจนถึงทุกวันนี้

ร้อยกว่าปีก่อนจะมีอินเตอร์เนตและกูเกิล เขาเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่า “ความรู้” ซึ่งก็เหมือนกับที่นักการศึกษาพูดกันมากในปัจจุบัน เช่น เราไม่ควรสอนแต่ความรู้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ที่สำคัญ คนรุ่นต่อไปจะค้นหาได้เอง

ดังนั้น สิ่งที่เราควรสอนคือ learning process

นอกจากนั้น ถ้าเชื่อว่าปัญหาใดๆ ในโลกนี้ไม่เคยมีคำตอบเดียว การเน้นกระบวนการหรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ย่อมสำคัญกว่าการท่องจำ

มรดกของโฟรเบลที่ตกทอดมาถึงทุกวันนี้คือของเล่นทำด้วยไม้ ที่มีชื่อว่า Gift and Occupations หรือ Froebel Gifts รวมทั้ง building block แบบต่างๆ จุดเด่นคือมีรูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และวงกลม ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นพื้นฐานของรูปทรงทุกอย่างในโลก

ปี ค.ศ.1851 รัฐบาลปรัสเซียแบนโรงเรียนของเขาด้วยข้อหาว่าเป็นภัยสังคมในทางศาสนา

แต่ในช่วงนั้นคินเดอร์การ์เตนเป็นที่ยอมรับและเติบโตในประเทศอื่นๆ แล้ว

และต่อมา ของเล่นชุดนี้ก็ถูกผลิตและจำหน่ายในวงกว้าง แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ และ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ต่างก็เคยได้เล่นบล็อกไม้ชุดนี้ในวัยเด็ก

วอลเตอร์ โกรเปียส ได้ออกแบบบ้าน โดยตั้งชื่อว่า Friedrich Frobel Haus เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

ของเล่นชิ้นนี้เป็นที่มาและแรงบันดาลใจของเบาเฮาส์ และโด่งดังไม่แพ้ตึกของ เลอ คอร์บูซิแอร์ เลยทีเดียว

02-12kindergarten

ต้องเข้าใจด้วยว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพูดถึงอะตอมและการแยกธาตุ ซึ่งต่อมาก็จะสำเร็จด้วยแนวทางที่ได้มาจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ศิลปินก็กำลังลุ่มหลงอยู่กับการค้นหาศิลปะขั้นปรมัตถ์ ซึ่งมุ่งไปที่ “ธาตุแท้” หรือหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งต่างๆ

อวอง-การ์ดหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น Cubism, Expressionism, De Stijl หรือ Constructivism ต่างก็กำลัง “ถอดรหัส” ของภาษาภาพ รวมทั้งค้นหาหน่วยที่เล็กที่สุดของวัตถุสิ่งของและตึกรามบ้านช่อง เบาเฮาส์เสนอว่า color, form และ compositional pattern มีหน่วยความหมายที่เป็นสากล

ในบรรดาครูของเบาเฮาส์ วอลเตอร์ โกรเปียส ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรก เป็นชื่อที่คนรู้จักมากที่สุด แต่ที่จริงมีครูอีกหลายคน ซึ่งล้วนแต่เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมาย เช่น Paul Klee, Wassily Kandin-sky, Lyonel Feininger, Loszlo Moholy Nagy และ Johannes Itten ศิลปินเหล่านี้ แม้เมื่อแยกตัวออกจากเบาเฮาส์และสร้างงานที่เป็นของตัวเอง เช่นแนว Expressionism หรือ Abstract Expressionism แต่ละคนก็ยังชอบทำงานนามธรรมคล้ายแบบที่สอนในโรงเรียน

โยฮันส์ อิตเตน เป็นครูเบาเฮาส์คนหนึ่ง เขามีความเชี่ยวชาญทฤษฎีสี เคยเขียนหนังสือชื่อ The Elements of Color ซึ่งเป็นตำราคลาสสิคและถูกแปล เป็นหลายภาษา ในปี 1919 เขาได้รับมอบหมายให้ร่างหลักสูตรพื้นฐานและดูแลหลายวิชา

ปลายปี ค.ศ.1919 เขาได้เป็นครูคนแรกๆ ของเบาเฮาส์ขณะอยู่ที่ไวมาร์ หลักสูตรพื้นฐานซึ่งเขาออกแบบมีการสอนแบบใหม่ เช่น ไม่ทำตามขนบดั้งเดิมคือลอกงานครู แต่หัดสำรวจตัวตนก่อนจะลงมือทำงานศิลปะ และแบ่งเป็นสามส่วนคือ ศึกษาธรรมชาติและวัสดุ ซึ่งหมายถึงทฤษฎีสีและฟอร์ม รวมทั้งวิเคราะห์งานชั้นเยี่ยมของคนอื่นๆ

ที่สำคัญ อิตเตนเคยเรียนคินเดอร์การ์เตนและชอบของเล่นของโฟรเบลมาก สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมและวงกลม จึงมีบทบาทเป็นตัวแทนของรูปทรงต่างๆ ด้วย

ในเรื่องของสี ครูอีกคนคือ วาสิลี แคนดินสกี้ ก็มีบทบาทเช่นกัน เขาเห็นว่าธาตุแท้ของรูปทรงก็คล้ายแม่สีสามสี ในปี 1923 เขาเคยพยายามผนวกแม่สีเข้ากับรูปทรง ด้วยการออกแบบสอบถามให้ครูและนักเรียน ถามว่ารูปทรงไหนควรจะสีอะไร

ซึ่งผลก็คือสีเหลือง แดง และน้ำเงินตามลำดับ

03-12kindergarten ธาตุแท้ของรูปทรงจะมีจริงหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

แต่ของเบาเฮาส์นั้น มาจากของเล่นของโฟรเบล

และความหวังต่อ “มนุษย์ใหม่” ที่กำลังจะเติบโต