อักขรวิธีภาษาไทย VS อักขรวิธีภาษาอังกฤษ

อักขรวิธีภาษาไทย VS อักขรวิธีภาษาอังกฤษ (๑)

ในทางภาษาศาสตร์ อักขรวิธี หมายถึงกฎการเขียนในภาษาใดภาษาหนึ่ง เช่น วิธีสะกดคำ วิธีกำหนดวรรคตอน ในระบบการเขียนที่สัญลักษณ์แต่ละตัวแทนเสียงในภาษานั้น หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับเสียงด้วย เช่น ตัวอักษรตัวใดใช้แทนเสียงใด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ระบุไว้ว่า

อักขรวิธี น. วิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยตัวอักษร การอ่าน การเขียน และการใช้ตัวอักษร. (ป.).

โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นภาษาพูดย่อมมาก่อนภาษาเขียน การเขียนไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นการกำหนดของมนุษย์ว่าคำใดเขียนอย่างไรจึงจะสื่อสารกันได้ มนุษย์แต่ละภาษาย่อมพูดภาษาของตนได้ แต่เมื่อจะอ่านจะเขียนต้องเรียนตามที่บรรพบุรุษกำหนด โดยเริ่มจากการอ่านสิ่งที่เขียนไว้ก่อน แล้วจึงค่อยหัดเขียนเอง

มีผู้กล่าวว่า วิธีเขียนและอ่านหนังสือของภาษาไทยนั้นมีหลักเกณฑ์ที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะมีการกำหนดอย่างแน่นอนในเรื่องพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เมื่อนำมาประกอบกันตามหลักเกณฑ์ก็สามารถเขียนได้ตรงตามที่ออกเสียง เช่น กะ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า ขะ ขา ข่า ข้า คะ คา ค่า ค้า

ลองมาพิจารณากันดูว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ภาษาไทยใช้ตัวอักษรที่พัฒนามาจากอักษรปัลลวะของอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัวดังในปัจจุบัน จาก ก ถึง ฮ แต่เมื่อเป็นพยัญชนะต้นก็ออกเสียงเพียง ๒๑ เสียง ทำให้ผู้เรียนต้องจำว่า พยัญชนะใดออกเสียงเหมือนกันบ้าง

เช่น ฐ ฑ (บางตัว) ฒ ถ ท ธ ออกเสียงเหมือนกัน

ส่วนพยัญชนะที่อยู่ข้างหลังพยางค์หรือที่เรียกว่าตัวสะกดนั้นก็มีเพียง ๘ แม่ คือ

แม่ กง ใช้ตัว ง สะกด เช่น กาง ขาง คาง

แม่ กน ใช้ตัว น สะกด เช่น กาน ขาน คาน

แม่ กม ใช้ตัว ม สะกด เช่น กาม ขาม คาม

แม่ กก ใช้ตัว ก สะกด เช่น กาก ขาก คาก

แม่ กด ใช้ตัว ด สะกด เช่น กาด ขาด คาด

แม่ กบ ใช้ตัว บ สะกด เช่น กาบ ขาบ คาบ

แม่ เกย ใช้ตัว ย สะกด เช่น กาย ขาย คาย

แม่ เกอว ใช้ตัว ว สะกด เช่น กาว ขาว คาว

จะเห็นได้ว่า เมื่อนำพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์มาประกอบกันก็สามารถเขียนและอ่านได้อย่างง่ายดาย เช่น ก + อะ = กะ และ ก + อา = กา ไม่เป็นอื่น ซึ่งทำให้มีผู้คิดว่า ดีกว่าภาษาอังกฤษ ที่ต้องจำทุกคำจึงจะอ่านได้ เช่น d + o = ดู แต่ g + o = โก

วิธีสอนการเขียนการอ่านภาษาไทยจึงแน่นอนตายตัว สามารถสอนแบบแจกลูกได้ คือไล่ไปตั้งพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะตัวสะกด (ถ้ามี) และ วรรณยุกต์