ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : วิมานพระอินทร์ โปรเจ็กต์ ที่ถูกทบทวนอีกที

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ปรัมปราคติจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในศาสนาพุทธ หรือในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็ดี พระอินทร์มีนิวาสสถานชิกๆ ชิลๆ ในสไตล์บูทีก รีสอร์ตแอนด์สปา ที่ชื่อ “ไพชยนตร์มหาปราสาท” ในสวรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” ที่ตั้งอยู่บนจอมเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ไปรุกล้ำเขตป่าสงวนเหมือนคฤหาสน์ หรือรีสอร์ตของผู้มีอำนาจ และสตางค์ในสมัยนี้

จอมเขาที่บนยอดมีวิมานของพระอินทร์แห่งนั้น มีชื่อว่า “สุเมรุ”

เขาพระสุเมรุ ได้ชื่อว่าเป็นเขาแกนกลางของจักรวาล เพราะเป็นที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของจักรวาลตามเนื้อความในจักรวาลวิทยาตามปรัมปราคติของอินเดีย

ถัดออกไปมีเขาวงแหวนทั้ง 7 เรียกว่าเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ ระหว่างเขาพระสุเมรุ และเขาวงแหวนแต่ละชั้น กั้นขวางด้วยทะเลสีทันดร

จากนั้นจึงประกอบไปด้วย ทวีปทั้ง 4 มีชมพูทวีป เป็นทวีปหนึ่งในนั้น จากนั้นจึงเป็นกำแพงจักรวาลก่อล้อมรอบอาณาเขต สิ่งที่อยู่นอกอาณาเขตแห่งนี้คือ อเวจีนรก

อะไรก็ตามที่อยู่ในปริมณฑลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง จึงถือว่าเป็นปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย

แถมที่เขาพระสุเมรุยังมีพระอาทิตย์ และพระจันทร์โคจรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าส่วนยอดของจอมเขาลูกนี้ ที่เชิงของชะเงื้อมผาพระสุเมรุก็เป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์ มีสระอโนดาตที่เป็นต้นน้ำของน้ำทั้งหมดในโลก ไหลทอดออกมาจากใต้เพิงผาเชื่อมโยงเข้าสู่โลกมนุษย์อย่างเราๆ อีกด้วย

เหมือนเป็นการเชื่อมโยงโลกมนุษย์ ต่อติดเข้ากับปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์ในปรัมปราคตินั่นเอง

ถึงแม้ว่าปรัมปราคติเหล่านี้ไทยเราจะอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย แต่ก็ไม่ใช่ว่า เราจะยกเอาเขาพระสุเมรุของแขกเขามาทั้งดุ้นนะครับ ยังมีการปรับเสริมเติมแต่ง และแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงคติความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง ให้เป็นอย่างพื้นเมือง แต่ก็ไม่ใช่พื้นเมืองอย่างไทยเท่านั้น เพราะหมายถึงพื้นเมืองของทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์เลยต่างหาก

กฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา (บางท่านก็ว่าตราขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893) มีพูดถึงพระราชพิธีโบราณที่เรียกว่า “ชักนาคดึกดำบรรพ์”

คำว่า “ดึกดำบรรพ์” ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง เรื่องเก่าแก่โบราณกาล แต่เป็นการเขียนตามเสียงในภาษาเขมรว่า “ตึ๊กตะบัน” แปลว่า “ตำน้ำ” หมายถึงปรัมปราคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “กวนเกษียรสมุทร” ที่เทวดาและอสูรร่วมกันเอาพญานาควาสุกิ (ไทยเรียก วาสุกรี) มาพันรอบภูเขากลางทะเลเกษียรสมุทร แล้วชัก หรือกวนน้ำเพื่อให้เกิด “น้ำอมฤต” คือน้ำที่ดื่มแล้วไม่ตาย หรือเป็นอมตะ

พระราชพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ในกฎมณเฑียรบาลก็คือ การจำลองฉากการกวนเกษียรสมุทร ตามปรัมปราคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนี่แหละครับ

และในเมื่อเป็น “พระราชพิธี” ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เป็นพิธีการกวนเอาน้ำอมฤต เพื่อถวายแด่พระมหากษัตริย์ การจำลองฉากดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีรายละเอียดให้เหมือน หรือใกล้เคียงกับปรัมปราคติมากที่สุด

เพราะถ้าไม่เหมือนกันมันก็ไม่น่าจะศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่นัก

แต่ข้อความที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลกลับระบุว่า ให้ตั้ง “เขาพระสุเมรุ” ทั้งที่ในปกรณัมพราหมณ์ของอินเดียเขาว่า เขาลูกที่นำมาเป็นแกนกลางคั้นน้ำอมฤตในครั้งนั้นชื่อ “เขามันทระ”

นักวิชาการส่วนใหญ่จึงมักจะอธิบายอย่างง่ายๆ เหมือนกันว่า นี่เกิดจากความเข้าใจผิด หรือการที่ปราชญ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยามีความรู้ทางปรัมปราคติจากอินเดียที่ย่ำแย่ จึงทำให้ระบุชื่อภูเขาที่ใช้ในการกวนน้ำอมฤตที่ผิดพลาด ด้วยเห็นว่าอะไรๆ ก็ตามแต่ที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนา ไม่ว่าจะพราหมณ์ หรือว่าจะพุทธ ล้วนแล้วแต่ต้องส่งตรงมาจากอินเดียที่เดียวเท่านั้น

อันที่จริงแล้วตำราเก่าแก่ของเกาะชวา ที่มีมาก่อนยุคสถาปนากรุงศรีอยุธยา ก็ระบุปกรณัมพราหมณ์อย่างพื้นเมืองชวาตอนนี้ เอาไว้ตรงกันกับความในกฎมณเฑียรบาลของสยาม คือกล่าวว่า ภูเขาลูกที่ใช้ในการกวนน้ำอมฤตนั้นคือ เขาพระสุเมรุ อย่างน่าประหลาด

ร่องรอยและหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า “ชวาโบราณ” ยุคก่อนกลายเป็นดินแดนของศาสนาอิสลาม มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจักรวรรดิเมืองพระนครใน “กัมพูชา” เช่นเดียวกับที่วัฒนธรรมเขมร เกี่ยวดองกันอย่างแทบจะแกะออกมาไม่ออกจากวัฒนธรรม “อยุธยา” ตอนต้น ที่เขียนกฎมณเฑียรบาลที่ว่า

แล้วทำไมปรัมปราคติตอนนี้จากชวา จะส่งทอดมาถึงกรุงศรีอยุธยาผ่านทางวัฒนธรรมของพวกขอมโบราณไม่ได้?

ความตอนหนึ่งในหนังสือโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ (ไม่ใช่ แช่งน้ำ “พระพิพัฒน์” ปราชญ์ทางภาษา โดยเฉพาะด้านนิรุกติศาสตร์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า “พัทธ์” แปลว่า “ผูกมัดสาบาน” ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีดื่มน้ำสัตย์สาบานมากกว่า) ที่กล่าวสรรเสริญ พระอิศวร (ก็องค์เดียวกับ พระศิวะ นั่นแหละ) ปรากฏความว่า “โอม ปวเรศวาราย ผายผาหลวงอะคร้าว”

“ผาหลวง” ที่ว่ามักจะแปลความกันว่า “เขาพระสุเมรุ” เพราะถือว่าเป็นเขาศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งเป็นที่ตั้งนิวาสสถานระดับบูทีกรีสอร์ตแอนด์สปา ของพระอินทร์ อย่างที่บอกไว้แล้วตั้งแต่ย่อหน้าแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ จึงทำให้นักวิชาการตั้งข้อหาให้กับปราชญ์โบราณ ผู้ประพันธ์ความตอนนี้เช่นเดียวกับผู้บันทึกพระราชพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ (ซึ่งก็เป็นคนรุ่นไม่ห่างกันนัก เพราะหนังสือเก่าทั้งสองเล่มนี้เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน) ไว้ว่า เข้าใจผิด หรือมีความรู้เกี่ยวกับปรัมปราคติจากอินเดียที่ย่ำแย่ เพราะพระอิศวร ประทับอยู่ ณ เขาไกลาศ (ไทย เขียนว่า ไกรลาศ) ต่างหาก

ตามตำนานในปรัมปราคติว่า “เขาไกรลาศ” ของพระอิศวร มีสัณฐานเป็นสีเงินยวง ซ้ำร้ายในหนังสือแช่งน้ำฯ มีข้อความว่า “ผาเผือก” ปรากฏอยู่ด้วย ยิ่งทำให้ผู้คนเข้าใจว่า คำว่า “เขาหลวง” นั้นเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำโบราณที่หมายถึง “ที่ประทับของพระอิศวร” ปรากฏอยู่ในจารึกขอมสมัยจักรวรรดิรุ่งเรืองว่า “มหิธรบรรพต” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “เขาหลวง” หรือเขาขนาดใหญ่ก็ได้ ราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ที่เกี่ยวดองกับวัฒนธรรมเขมรอย่างเข้มข้น ถ้าจะรู้จักคำนี้ แล้วนำมาแปลงเป็น “ผาหลวง” ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเช่นกัน

แน่นอนว่า นักวิชาการหลายท่านระบุให้เห็นถึงความสับสนระหว่าง “พระอิศวร” กับ “พระอินทร์” ในหนังสือแช่งน้ำฯ ท่อนต่อมาอย่างประโยคที่ว่า พระอิศวร “แกว่งเพชรกล้า” ซึ่งหมายถึง “วัชระ” ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นอาวุธคู่พระหัตถ์ของพระอินทร์ ส่วนพระอิศวรนั้นมักจะทรงตรีศูลมากกว่า

แต่ที่จริงแล้ว ตำราในศาสนาพราหมณ์ของอินเดียก็มีที่อ้างว่า พระอิศวรทรงวัชระด้วยเช่นกัน เพราะพระอิศวรสืบลักษณะมาจากเทพเจ้าเก่าแก่ในศาสนาพระเวท พระองค์หนึ่งคือ พระรุทระ ซึ่งพระนามของเทพเจ้าโบราณพระองค์นี้แปลว่า เสียงกรีดร้อง ซึ่งอาจจะหมายถึงได้ทั้งเสียงโหยหวนของหมาป่า เสียงลมหวีดหวิว ไปจนกระทั่งเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ยามเกิดลมพายุ

และบังเอิญว่า “วัชระ” หมายถึง “สายฟ้า” ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจนักว่า ปราชญ์โบราณท่านมีความรู้ทางปรัมปราคติจากอินเดียที่ย่ำแย่ หรือนักวิชาการรุ่นหลังต่างหากที่มีสายตาคับแคบจำกัด?

โดยปกติ เมื่อมีการสร้างปราสาท ไม่ว่าจะในวัฒนธรรมอินเดีย หรือขอม, ศาสนสถานที่เรียกว่า จันทิ ของชวา หรือแม้กระทั่งเจดีย์ในพระพุทธศาสนาทั้งในไทย และที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลังกา ลาว ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นการจำลอง “เขาพระสุเมรุ” อันเป็น “วิมานพระอินทร์” เหมือนกันไปหมด เพราะจอมเขาพระสุเมรุนั้น เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอยู่เสมอ

และก็ยิ่งแน่นอนด้วยว่า ปราสาท ศาสนสถาน หรือเจดีย์เหล่านั้น บางแห่งก็สร้างให้ พระพุทธเจ้า พระอิศวร พระนารายณ์ และเทพเจ้าทั้งหลาย รวมไปถึงใครต่อใครอีกสารพัด ดังนั้น นอกจากจะเป็นเขาไกรลาศของพระอิศวรแล้ว สวรรค์ไวกูณฐ์ของพระนารายณ์ วิมานของพระพุทธเจ้า หรือนิวาสสถานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดๆ แล้ว ก็จึงซ้อนทับอยู่กับวิมานของพระอินทร์ บนยอดเขาพระสุเมรุอยู่ด้วยเสมอ

ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ก็มี “วิมานพระอินทร์” จำลอง ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งอยู่แล้ว นั่นก็คือ “พระปรางค์” วัดอรุณราชวราราม ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคต้นกรุงเทพฯ

ดังนั้น ผมจึงเป่าปากด้วยความโล่งใจเป็นที่สุด ที่โปรเจ็กต์ วิมานพระอินทร์ ริมน้ำ นั่น ถูกพับเก็บไปทบทวนกันอีกที (ข้อเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นมาจนถึงบรรทัดนี้ในวันที่ 14 กันยายน 2559)

ไม่ต้องสงสัยว่าไปลอกใครเขามาหรือเปล่า? หรอกนะครับ

แค่การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลขนาดนั้นในการสร้างวิมานพระอินทร์ ที่ไม่ได้มีเสน่ห์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และอะไรต่อมิอะไรอีกมาก จนพอจะไปประชันขันแข่งกับ วิมานพระอินทร์ ที่เป็นจุดหมายตา ตัวจริงเสียงจริงของกรุงเทพฯ อย่างพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้นั่นก็พอแล้ว

บอกตรงๆ ว่าเสียดายเงินงบประมาณ

ที่มาภาพประกอบ: www.matichon.co.th