“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (26) ข่วงหลวงเวียงแก้ว : มุมมองจากเอกสารจดหมายเหตุฝ่ายสยาม (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

 

การที่อาจารย์วรชาติ มีชูบท อดีตนักจดหมายเหตุ ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เข้ามาสนใจเรื่อง “ข่วงหลวงเวียงแก้วของเมืองเชียงใหม่” นั้น ก็เนื่องมาจาก ราวทศวรรษก่อนท่านได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการจัดทำหนังสือ “๑๐๐ ปีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย” ทำให้ได้มีโอกาสศึกษา “แผนที่ทางอากาศ” ของเมืองเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจัดทำโดยนายเจมส์ แมคคาร์ธี ชาวอังกฤษ กับกลุ่มเอกสารลายลักษณ์อีกหลายฉบับในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสยาม-ล้านนา

ต้องถือว่า นี่คืองานค้นคว้าที่แปลกและแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับผลงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากเป็นมุมมองของผู้ใช้เอกสาร “ฝ่ายสยาม” มาส่องความเคลื่อนไหวของ “ล้านนา” มากกว่าที่จะเน้นการใช้ข้อมูลด้านความทรงจำหรือคำบอกเล่า (เน้นความเจ็บช้ำน้ำใจ) ของคนเชียงใหม่ที่รู้สึกต่อชาวสยาม ดั่งหนังสือหลายๆ เล่มที่แพร่หลายในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา

จากการพินิจพิเคราะห์แผนที่สี่เหลี่ยมฉบับนั้น ทำให้อาจารย์วรชาติต้องค่อยๆ ถอดรหัสว่าหน้าตาของเมืองเชียงใหม่ในปี 2432 มีหน้าตาเป็นอย่างไร มีอาคารสถานที่อะไรบ้าง สิ่งไรที่ยังหลงเหลืออยู่จวบปัจจุบัน

และอะไรบ้างที่ร้างไปแล้ว

 

หนึ่งในสถานที่สำคัญที่ระบุในแผนที่เก่า พบคำว่า “เวียงแก้ว” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงเชียงใหม่ สอดรับกับเอกสารทางประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ 720 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยพระญามังรายที่ระบุว่า

เวียงแก้วเคยเป็นคุ้มหลวงของราชวงศ์มังราย ต่อมาเป็นเวียงน้อยของพม่าผู้มาปกครองเมืองเชียงใหม่

แต่เมื่อถึงยุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนหรือยุคฟื้นฟู พระญากาวิละได้ใช้พื้นที่เดิมของเวียงแก้วเป็นที่ตั้งคุ้มหลวงของนครเชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ 6 ตนได้ใช้เวียงแก้วในฐานะคุ้มหลวงต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาร่วม 100 ปี ก่อนที่จะสิ้นสภาพการเป็นคุ้มหลวง และพื้นที่ส่วนหนึ่งของเวียงแก้วได้กลายมาเป็นที่ตั้งเรือนจำกลางมณฑลพายัพในเวลาต่อมา

ปมเงื่อนที่อาจารย์วรชาติตั้งคำถามคือ เมื่อพระเจ้าอินทวชิยานนท์ครองนครเชียงใหม่ต่อจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เหตุใดพระเจ้าอินทวชิยานนท์จึงไม่เข้าไปพำนักในคุ้มหลวงเวียงแก้วตามประเพณี

หากแต่เลือกที่จะไปสร้างคุ้มหลวงแห่งใหม่ในพื้นที่ที่ส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน

ปล่อยให้เวียงแก้วที่เคยเป็นคุ้มหลวงกลายเป็นสถานที่รกร้างมาเป็นเวลากว่า 30 ปีตลอดสมัยพระเจ้าอินทวชิยานนท์ ต่อเนื่องมาจนถึงต้นยุคเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ครองนครเชียงใหม่?

อันเป็นปมประเด็นที่นำมาสู่คำถามที่ว่า ตามที่เราเคยกล่าวกันว่า ฝ่ายสยามได้กระทำการย่ำยีจิตวิญญาณคนล้านนาด้วยการ “เปลี่ยนคุ้มให้เป็นคอก (คุก)” นั้น ตกลงแล้ว ล้านนาเป็นฝ่ายถูกกระทำ

หรือว่าเจ้านครเชียงใหม่สมยอมกันแน่?

 

ย้อนมองข่วงหลวงเวียงแก้ว

การจะไขปริศนาเรื่องการแปลงข่วงหรือคุ้มให้เป็นคอกนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาปูมหลังของข่วงหลวงเวียงแก้วอย่างเจาะลึกกันเสียก่อน

ข่วงหลวงเวียงแก้ว เรียกกันเป็นสามัญว่า เวียงแก้ว หรือเวียงน้อย ตั้งอยู่ในกำแพงเวียงนครเชียงใหม่ เวียงน้อยที่เรียกกันว่า เวียงแก้วนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครเป็นผู้สร้าง สร้างขึ้นเมื่อไร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด บ้างก็ว่าเป็นคุ้มหลวงของนครเชียงใหม่มาแต่ครั้งราชวงศ์มังราย โดยอ้างอิงความตอนหนึ่งจากพงศาวดารโยนกว่า เมื่อพระญามังรายแรกเข้ามาสถาปนาเวียงเชียงใหม่ใน พ.ศ.1839

“…พระยาเมงรายสถิตสถานอยู่หนตะวันตะวันออกเฉียงเหนือแห่งที่ชัยภูมินั้น ที่เวียงเล็กอันประทับอยู่นั้นเรียกชื่อว่า เวียงเชียงมั่น แล้วให้แผ้วถางต่อออกไปทางด้านตะวันออก เรียกว่า เวียงเชียงช้าง…”

แต่ที่ตั้งเวียงเชียงช้างหรือวัดล่ามช้างตามที่ปรากฏในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 กลับอยู่ในระนาบเดียวกับเวียงแก้ว จึงมีความเห็นแย้งว่า เวียงแก้วซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเวียงเชียงมั่นนั้น น่าจะไม่ใช่คุ้มหลวงที่พระญามังรายสถาปนาไว้เมื่อแรกสร้างเวียงเชียงใหม่

นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสงสัยอีกว่า ตามปกติทุกเมืองในดินแดนล้านนาจะต้องมีข่วงหลวงหรือลานโล่งประจำเมือง โดยมีวัดหัวข่วงตั้งอยู่ทางตอนเหนือของข่วงหลวง ในขณะที่นครเชียงใหม่มีวัดหัวข่วง หรือปัจจุบันเรียกว่า วัดแสนเมืองมาหลวง แต่กลับไม่ปรากฏข่วงหลวง แม้ในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ.2436 ก็มิได้แสดงที่ตั้งข่วงหลวงนครเชียงใหม่ไว้เลย

จากข้อสังเกตทั้งสองประการดังกล่าว ประกอบกับมีความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุไว้ว่า เมื่อล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว กษัตริย์พม่าได้ส่งเจ้านายและขุนนางพม่ามาปกครองนครเชียงใหม่ ดังนี้ อาจารย์วรชาติจึงเกิดคำถามว่า

คุ้มหรือจวนของเจ้านายขุนนางพม่าที่มาปกครองนครเชียงใหม่ในช่วง 200 ปี ที่ล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่านั้นอยู่ที่ใด?

หรือว่าเวียงแก้วนั้นคือเวียงน้อยของพม่าที่มาตั้งขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยเป็นข่วงหลวงของนครเชียงใหม่

เนื่องจากขาดหลักฐานที่แน่ชัดในชั้นนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า เวียงแก้วเคยเป็นคุ้มหลวงของนครเชียงใหม่มาแต่ครั้งราชวงศ์มังรายจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เวียงน้อยที่พม่ามาสร้างขึ้นเมื่อครั้งมาปกครองนครเชียงใหม่?

จากหลักฐานที่สามารถสืบค้นได้ในปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระญากาวิละเป็นพระยานครเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2325 แล้ว ในระยะแรกยังขาดไพร่พลที่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ได้ พระญากาวิละได้ไปตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เวียงป่าซางก่อน ครั้นรวบรวมผู้คนได้มากพอที่จะรักษาเวียงเชียงใหม่ได้แล้ว จึงได้นำกำลังมาฟื้นฟูเมืองนครเชียงใหม่ให้กลับคืนสภาพหลังจากที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี

เมื่อพระญากาวิละจัดให้แผ้วถางซ่อมแปลงปฏิสังขรณ์อารามเก่าใหม่ในเวียงเชียงใหม่แล้วเสร็จ ถึงวันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช 1158 (วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2339) พระญากาวิละ “จึงเข้าสู่นิเวศน์สถานที่อยู่อันสร้างไว้ภายในนครนั้น” นับแต่นั้นมาเวียงแก้วจึงได้เป็นคุ้มหลวงของนครเชียงใหม่ต่อเนื่องกันมาจนสิ้นยุคพระเจ้ากาวิโลรสสรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ที่ 6

อนึ่ง เมื่อพระญากาวิละลงไปเฝ้าฯรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2445 ในคราวนั้นทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระญากาวิละขึ้นเป็นพระเจ้าประเทศราช มีเกียรติยศเหนือพระญาประเทศราชล้านนาอีก 4 หัวเมือง ครั้นพระเจ้ากาวิละกลับขึ้นไปถึงนครเชียงใหม่แล้วก็ให้สร้างหอคำขึ้นประดับเกียรติยศในเวียงแก้ว

 

หอคำ vs คุ้มหลวง
เครื่องหมายแห่งฐานานุศักดิ์

ธรรมเนียมการสร้างหอคำประดับเกียรติยศนั้น จะเริ่มมีมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้จะเชื่อกันว่า มีมาแต่ครั้งราชวงศ์มังราย แต่ก็ยังไม่อาจหาหลักฐานมาสนับสนุนความเชื่อนั้นได้ คงพบแต่ความในเอกสารจดหมายเหตุเรื่องตึกหอคำนครน่าน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานคำอธิบายไว้ว่า

“สถานที่ซึ่งไทยเหนือเรียกว่า “หอคำ” นั้น ตรงกับคำไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง” คือเรือนที่อยู่ของเจ้าผู้ครองเมือง สร้างไว้ในบริเวณคุ้มหลวง เป็นเครื่องประดับเกียรติยศ…

บรรดาเมืองประเทศราชในมณฑลพายัพ ทุกเมืองย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมือง จะเป็นโดยผู้รับมฤดกเจ้าเมืองคนก่อนก็ตาม หรือมิได้เป็นผู้รับมฤดกก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ที่คุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้น เพราะแต่ก่อนมาสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจ จะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนก่อน ก็มักให้เอาไปปลูกถวายวัด (ยังมีปรากฏเป็นวิหารอยู่ที่เมืองเชียงใหม่หลายแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ใหม่ตามชอบใจของตน ว่าด้วยคุ้มหลวงประเพณีมีสืบมาดั่งนี้

หอคำนั้น ไม่ได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะเป็นเครื่องประดับเกียรติยศพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติยศพิเศษสูงกว่าเป็นเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ เช่น ทรงตั้งเป็น “พระเจ้า” จึ่งสร้างหอคำขึ้นเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศนั้น แต่เมื่อถึงพิราลัยแล้ว ก็มักรื้อย้ายหอคำไปถวายวัดตามประเพณี”

เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละถึงพิราลัยไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ

“…สถาปนาพระยานครลำปางดวงทิพ ให้มีเกียรติยศสูงขึ้นเป็นพระเจ้านครลำปาง เหมือนอย่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เคยทรงสถาปนาพระญากาวิละขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่เคยสร้างเวียงแก้ว (คือทำนองอย่างวัง) ขึ้นประดับเกียรติยศ เมื่อพระยานครลำปางดวงทิพได้เป็นพระเจ้านครลำปางก็สร้าง “หอคำ” (แปลว่า ตำหนักทอง) ขึ้นประดับเกียรติยศในที่คุ้มหลวงนั้น แต่นั้นมาบริเวณที่คุ้มหลวงจึงมีชื่อเรียกเป็น 2 ตอน เรียกว่าหอคำตอน 1 คงเรียกว่าที่คุ้มหลวงตอน 1 แต่ที่ทั้ง 2 ตอนนั้นอยู่ในบริเวณที่อันเดียวกัน

ต่อจากพระเจ้านครลำปางดวงทิพมา พระยาชัยวงศ พระยากันทิยะ พระยาน้อยอินทร ล้วนเป็นบุตรพระยานครลำปางคำโสม ได้เป็นเจ้าเมืองนครลำปางต่อกันมา 3 คนจนตลอดรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกตำแหน่งพระยานครลำปางขึ้นเป็นเจ้าประเทศราช และทรงตั้งเจ้าวรญาณรังสี บุตรพระยานครลำปางคำโสมอีกคน 1 เป็นเจ้านครลำปาง เจ้าเมืองนครลำปางทั้ง 4 คนนี้ก็อยู่ในคุ้มหลวงทุกคน…”

ต่อมา พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาน่านอนันตยศขึ้นเป็น “เจ้าอนันตวรฤทธิเดช” มีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านตนก่อนๆ ซึ่งล้วนมียศเป็นเพียงพระยาประเทศราช

“…เจ้าอนันตตวรฤทธิเดช จึ่งสร้างหอคำขึ้น และให้แปลงชื่อคุ้มหลวงเรียกว่า “คุ้มแก้ว” ให้วิเศษขึ้นตามเกียรติยศ… แต่เมื่อพระเจ้าสุริยพงศผริตเดชเป็นเจ้านครน่านเมื่อ พ.ศ.2436 ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว และให้กลับเรียกว่าคุ้มหลวงเหมือนอย่างเจ้าเมืองน่านแต่ก่อนมา ครั้นล่วงเวลามาอีก 10 ปี ถึง พ.ศ.2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงศผริตเดช ขึ้นเป็นพระเจ้าสุริยพงศผริตเดช พระเจ้าสุริยพงศผริตเดชจึ่งสร้างหอคำสำหรับประดับเกียรติยศขึ้นแทนหอคำเดิม แต่สร้างเป็นตึก ซึ่งยังคงอยู่จนทุกวันนี้…”

 

จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เมืองนครลำปางและนครน่าน จะเห็นได้ว่า เฉพาะพระยานครลำปางและพระยานครน่านที่ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าประเทศราชเท่านั้นที่สร้างและหอคำไว้ประดับเกียรติยศและคงพำนักที่หอคำนั้นต่อมาจนสิ้นอายุขัย แต่ผู้ที่มิได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าประเทศราชนั้นคงอยู่แต่ที่คุ้มหลวง

ซึ่งต่างจากที่นครเชียงใหม่ที่พบหลักฐานแต่เพียงว่า เมื่อพระยาอุปราชพุทธวงศ์ได้รับสถาปนาเป็นพระยาเชียงใหม่ที่ 4 ใน พ.ศ.2369

“เจ้ามหาอุปราชเป็นต้น เจ้าราชวงศ์ เจ้ารัตนหัวเมืองแก้วเป็นประธาน มหาขัติยวงศ์ ท้าวพระยาเสนาอำมาตย์ทั้งมวล พร้อมกันอัญเชิญเจ้ามหาพุทธิวังสภูมิบาลราช เข้าอยู่สถิตสำราญในหอคำพระราชวังหลวง พระเป็นเจ้าก็เกรงแต่พระบารมีแห่งเจ้าจอมน้าอาว์พี่เชื้อบรรดาที่ล่วงไปแล้ว ก็ไม่ประสงค์จักขึ้นอยู่ในหอคำ จึงสร้างหอเทียมขึ้นด้านใต้ของหอคำ”

แล้วคงพำนักอยู่ที่หอเทียมนั้นจนถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.2389

มาถึงบรรทัดนี้ นอกเหนือจากคีย์เวิร์ดสำคัญ ไม่ว่า หอคำ คุ้มหลวง ข่วงหลวงเวียงแก้ว เวียงน้อย ยังได้ศัพท์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกคำหนึ่งแล้วคือ “หอเทียม”

เรื่องราวปริศนาของการตีความว่าข่วงหลวงเวียงแก้วผืนที่เคยเป็นเรือนจำเก่ากลางเมืองเชียงใหม่ จะใช่พระราชวังหรือคุ้มหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยพระญามังราย 720 ปีก่อนจริงหรือไม่ ยังมีอะไรที่ต้องถกกันอีกหลายประเด็น