“Alex Face” ศิลปิน “สตรีตอาร์ต” ผู้ให้กำเนิด “เด็กสามตาหน้าบึ้ง” “ศิลปะ” ต้องสื่อสารกับสังคม

“เด็กสามตาหน้าบึ้ง” หรือ “น้องมาร์ดี” คือผลงานสตรีตอาร์ตที่เราอาจคุ้นตากันเป็นอย่างดี เพราะสามารถพบเห็นได้ตามแหล่งชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ

หลายคนชื่นชอบผลงานแนวนี้ หลายคนตามถ่ายรูปเพื่ออัพขึ้นโซเชียลพร้อมโพสท่าประกอบแบบคูลๆ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผู้ให้กำเนิด “เด็กสามตาหน้าบึ้ง” นี้เป็นใคร? และเขาต้องการที่จะ “สื่อ” อะไรกับสังคม?

“พัชรพล แตงรื่น” หรือ “Alex Face” หากเอ่ยสองชื่อนี้ออกไป คงมีแค่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่รู้จัก แต่เขาคนนี้คือผู้ให้กำเนิดหรือจะเรียกว่าเป็น “พ่อ” ของ “น้องมาร์ดี” ก็ว่าได้

จากชายหนุ่มลูกชาวนาที่เดินตามฝันและมีความคลั่งไคล้ในศิลปะตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ผลงานของพัชรพลเป็นที่ยอมรับไม่ใช่แค่เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น เพราะผลงานของเขาได้ไปปรากฏอยู่ตามสถานที่หลายแห่งทั่วโลก

ด้วยการนำแคแร็กเตอร์ของลูกสาวซึ่งก็คือ “น้องมาร์ดี” มาเป็นต้นแบบผลงาน พร้อมกับสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ผ่านทางแววตาและท่าทางที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้คนที่เดินผ่านมาพบเห็น “เด็กน้อยสามตา”

ได้ฉุกคิดอะไรบางอย่าง

“ในมุมมองของผมมันจะมีวิถีอะไรบางอย่างอยู่ในสตรีตอาร์ต มันจะมีความขบถอยู่ มันมีความกวนตีนอยู่ในนั้น มันต้องมีการเรียกร้องอะไรบางอย่าง มันต้องมีการเหน็บแนม หรือว่าจิกกัดบางอย่างอยู่ในผลงาน เรียกร้องอะไรบางอย่างให้สังคมเรา

“เรายกตัวอย่างดีกว่า อย่างในอังกฤษที่มันมีสตรีตอาร์ต เหมือนกับเขาทำงานสตรีตอาร์ตเพื่อต่อต้านบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่มาตั้งโรงงานในหมู่บ้านเขา แบบแล้วเขาก็ทำสตรีตอาร์ตเพื่อต่อต้านอะไรที่เขารู้สึกมันไม่ถูกต้อง กับสิ่งที่เขาเจอ

“เราว่าสตรีตอาร์ตมันต้องมีบริบทอะไรแบบนี้อยู่ในนั้นด้วย เพราะเราอยู่ในสังคมนี้และเราทำงานในพื้นที่สาธารณะ

“ส่วนอย่างอื่นที่เราคิดว่ามันเป็น (สตรีตอาร์ต) อย่างเราวาดดอกไม้ วาดชอล์กตามถนน หรือว่างานประติมากรรมที่อยู่ตามถนน มันอาจจะเรียกว่า “พับลิกอาร์ต” ไง มันอาจจะไม่จัดรวมว่าเป็นสตรีตอาร์ตซะทีเดียว”

พัชรพล ภายใต้นามแฝง “Alex Face” กล่าวถึงนิยามของคำว่า “สตรีตอาร์ต”

ด้วยความที่สภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแสดงออกหรือพูดในสิ่งที่ตนเองคิดได้ทั้งหมด การสื่อสารผ่านงานศิลปะบนกำแพงจึงกลายเป็นทางออกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยส่องสะท้อนหรือฉายภาพปัญหาสังคม ที่หลายคนไม่กล้าเอ่ยถึง

“ถ้าพูดถึงเรื่องนั้น ตอนนี้ประเทศเราก็อยู่ในช่วงที่อาจจะแบบไม่สามารถมาพูดหรือว่าแสดงความคิดเห็นได้อย่างเมื่อก่อน เราว่ามันก็มีปัญหาอะไรหลายๆ อย่างตามมานะ

“ในเมื่อเราไม่สามารถจะพูดในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารได้ คราวนี้มันก็มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าปัญหาที่แบบใครทำอะไรผิด เราก็ไม่สามารถมารวมตัวเพื่อพูดในสิ่งแบบนั้นได้ เราว่ามันก็อาจจะเป็นปัญหาเหมือนกัน

“เพราะฉะนั้น ศิลปะมันก็เป็นวิธีหนึ่ง มันเป็นเครื่องมือนึงที่มันแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ เราไม่ได้แบบไปทำร้ายร่างกายใคร ไม่ได้มาตะโกนอะไรแบบนั้น เหมือนกับมันเป็นวิธีการนึงที่สามารถพูด ในลักษณะที่มันสมูตหน่อยหรือว่าซอฟต์ขึ้นมาหน่อยอย่างนี้”

Alex แสดงความเห็น

เหตุการณ์ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคม คือ “คดีล่าเสือดำที่ทุ่งใหญ่นเรศวร” เพราะหนึ่งในผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม อีกทั้งกระบวนการสืบสวนจัดทำสำนวนคดีต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ก็ค่อนข้างล่าช้าและคล้ายจะขัดแย้งกับความคิดเห็นของคนในสังคม

นำไปสู่กระแสเรียกร้องให้มีการเอาผิดผู้ต้องหาทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาเดียวกัน ได้ปรากฏผลงานสตรีตอาร์ตรูปเสือดำโดยมีลำโพงถูกขีดฆ่าตั้งอยู่ข้างๆ บนกำแพงสาธารณะ ทว่ารูปดังกล่าวกลับถูกลบทิ้งไปในเวลาอันสั้น

Alex เป็นหนึ่งในศิลปินที่ออกมาพ่นงานสตรีตอาร์ตกรณีทุ่งใหญ่ฯ บนกำแพงย่านพุทธมณฑลสาย 2 เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของสังคม และเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์สัตว์ป่า

แต่ก็เหมือนกับการอ่านหนังสือเล่มเดิม เพราะหลังจากที่เจ้าตัวโพสต์ภาพผลงานลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวได้ไม่นาน ผลงานของเขาก็ถูกลบทิ้งในชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม กลับมีข้อครหาถึงศิลปินสตรีตอาร์ตต่อกรณีที่เกิดขึ้น ในทำนองว่า “พ่นเอง ลบเอง เพื่อสร้างกระแสรึเปล่า?”

“ตอนนั่งดูคอมเมนต์ที่คนบอกพ่นเอง ลบเอง มันก็ว่างคิดไปเนอะ ใครจะมานั่งลบเองวะ คนทำงานศิลปะ เขาวาดรูป เขาไม่มานั่งลบงานตัวเองหรอก เพราะเรารู้ วันหนึ่งมันก็ต้องถูกลบอยู่แล้ว ถึงไม่มีใครมาลบมันก็เก่า มันก็หาย มีใครมาทับไปอยู่ดี

“คนพ่นกราฟิตี้มันจะซีเรียสกันมากนะ เราก็เคยเป็น ถ้าใครมาทับงานนี่หูยเดือด แม่งทับกู กลับไปทับแม่งคืนเลย มันจะเป็นอย่างนั้นอ่ะ มันไม่มีใครที่แบบมาทับงานตัวเองเพื่อสร้างกระแสหรอก นึกออกมั้ย?

“ไม่ได้แก้ตัวนะ แต่แบบมันไม่มีใครทำแบบนั้นหรอก ติ๊งต๊อง มันก็คงว่างอ่ะ ว่างๆ มึงมาตากแดดพ่นสีกับกูดีกว่า จะได้รู้ว่าคนไปพ่น คนไปตากแดด มันไปเสียตังค์ซื้อสี ใครมันจะไปลบเพื่ออะไร เพื่อสร้างกระแสทำไม?”

Alex ตอบโต้ข้อครหาดังกล่าว

ตลอด 1 ชั่วโมงที่ได้สนทนากับเขา “สตรีตอาร์ต” สำหรับ Alex เป็นอะไรมากกว่าแค่สีที่พ่นอยู่บนกำแพงทั่วไป เพราะทุกผลงานต้องมีเรื่องราวหรือข้อความที่ศิลปินต้องการสื่อออกไปให้ผู้พบเห็นได้เข้าใจและเรียนรู้ผ่านงานศิลปะร่วมสมัยประเภทนี้

ณ ปัจจุบัน สังคมบ้านเราก็เริ่มเปิดรับสตรีตอาร์ตมากขึ้น เห็นได้จากแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เริ่มนำศิลปะแนวนี้มาใช้เป็นช่องทางสำหรับการเผยแพร่โฆษณา

“มันก็ไม่มีอะไรมากนะ เรื่องง่ายๆ ก็คือ เราต้องทุ่มเททำงานหนัก เราต้องจริงจังกับมัน เราต้องอินกับมัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ พอเราอินเราก็จะมีแรงมีกำลังใจที่จะไปฝึกมันวาดมัน เราเชื่อว่าศิลปะมันเป็นทักษะด้วย มันเป็นวิธีคิดด้วย เพื่อเอาทักษะมาตอบสนองวิธีคิด เพราะฉะนั้น มันต้องมีการฝึกฝน

“เราก็ฝึกฝนเยอะมาก กว่าจะทำอะไรเก่งขึ้นมาได้อย่างนึง กว่าจะวาดรูปอะไรได้มันต้องผ่านการฝึก เราฝึกมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็วาดตลอด ทุกวันนี้ก็ยังต้องฝึกอีกทั้งทักษะหรือว่าความคิด มันไม่มีทางลัด มันต้องฝึกจริงๆ

“ถ้าใครอยากจะเป็นศิลปิน อยากทำงานศิลปะ ฝึกเลย วาดรูปเลย แล้วเอาจริงเอาจังกับมัน”

“Alex Face” พูดทิ้งท้ายเป็นข้อคิดสำหรับใครก็ตามที่อยากจะเข้าสู่วงการสตรีตอาร์ตในอนาคต…