วรศักดิ์ มหัทธโนบล / จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (15)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

กล่าวคือ เมื่อเจ้าศักดินาต้องกระจายที่ดินให้แก่ลูกหลานของตนแล้ว หน่วยปกครองที่มีพื้นฐานเดิมอยู่ที่ระบบบริหารเขตอำเภอ (จวิ้น-เสี้ยน) ก็ถูกแบ่งออกเป็นหน่วยปกครองขนาดเล็กที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปอีกหลายหน่วย

โดยในฮั่นสมัยแรกนี้จะมีหน่วยปกครองที่ว่านี้มากถึง 1,587 หน่วย โดยขนาดของแต่ละหน่วยจะขึ้นอยู่กับจำนวนครัวเรือนในสังกัดว่ามีมากน้อยเพียงใด

ถ้ามีมากกว่า 1,000 ครัวเรือน เจ้าศักดินาที่ปกครองจะเรียกว่า เสี้ยนลิ่ง (นายอำเภอ)

แต่ถ้าน้อยกว่า 1,000 ครัวเรือนก็จะเรียกว่า เสี้ยนจ่าง (ปลัดอำเภอ) เป็นต้น

ส่วนหน้าที่ของเจ้าศักดินาเหล่านี้จะมีตั้งแต่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร การเก็บเกี่ยว งานพิธีต่างๆ การทหาร ตลอดจนพิจารณาคดีความต่างๆ เป็นต้น

กล่าวเฉพาะการพิจารณาคดีความแล้ว ผู้ปกครองหน่วยปกครองทุกระดับจะมีอำนาจในด้านนี้ โดยนายอำเภอกับปลัดอำเภอถือเป็นผู้ปกครองในระดับล่างสุดของท้องถิ่นที่มีอำนาจในตัดสินคดีโทษประหาร

หากเป็นหน่วยปกครองที่ต่ำกว่านี้จะต้องรายงานให้หน่วยปกครองที่สูงกว่าอนุมัติ จึงจะตัดสินประหารชีวิตได้

จะเห็นได้ว่า หน่วยปกครองขนาดต่างๆ ในยุคนี้แม้จะเกิดเพื่อที่จะลดทอนอำนาจของเจ้าศักดินาก็จริง แต่หลังจากเกิดแล้วชื่อของหน่วยปกครองเหล่านี้ก็ยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ จะต่างกันก็แต่หน้าที่เท่านั้นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

จากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า ระบบการปกครองของจักรวรรดิจีนนั้น ความจำเป็นในการรักษาอำนาจส่วนกลางเอาไว้นับเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นกฎตายตัว เท่าๆ กับความจำเป็นในอันที่จะรักษาความเป็นเอกภาพในด้านต่างๆ เอาไว้

โดยในฮั่นสมัยแรกนั้น เอกภาพที่ได้สร้างขึ้นอย่างสำคัญก็คือ การใช้หลักคิดของสำนักหญูเป็นหลักในการปกครอง และหลังจากนั้นราชวงศ์ในชั้นหลังก็สืบทอดใช้ตามๆ กันมาอีกกว่าสองพันปี

แต่ก็ดังที่รู้กันทั่วไปว่า ระบบการปกครองที่ดำเนินคู่ขนานกันไประหว่างอำนาจของส่วนกลางกับความเป็นเอกภาพนี้ เอาเข้าจริงแล้วก็ใช้ได้เพียงชั่วเวลานั้นเท่านั้น ครั้นพอเวลาผ่านไประบบที่ว่านี้ก็มิอาจหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนไปได้

 

ง.เศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมใหม่

แน่นอนว่า เศรษฐกิจของฮั่นสมัยแรกยังคงเป็นการเกษตรที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่ง

และแน่นอนอีกเช่นกันที่ว่า เศรษฐกิจการเกษตรย่อมตัดขาดกับภาคชนบทไปไม่ได้ ซึ่งในเวลานั้นหน่วยปกครองในภาคชนบทที่มีบทบาทสูงก็คือ เซียง (สุขาภิบาล, district) และหลี่ (หมู่บ้าน, hamlet) ซึ่งถือเป็นหน่วยปกครองที่เล็กที่สุด

ถึงกระนั้นก็ตาม ภาคชนบทที่มีบทบาทสูงนี้ก็ยังคงขึ้นต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ของจีนอีกด้วย นั่นคือ สภาพที่จีนถูกแบ่งเป็นสองภูมิภาคหลักเป็นตอนเหนือกับตอนใต้ โดยเส้นแบ่งคือแม่น้ำฮว๋ายที่ไหลจากตะวันตกไปตะวันออกกับแนวเทือกเขาฉินหลิ่งที่อยู่ทางตะวันตก

เส้นแบ่งนี้ยังผลให้อากาศทางตอนเหนือกับตอนใต้แตกต่างกัน โดยทางตอนเหนือที่เป็นที่ราบภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือที่เป็นดินเหลือง (loess) มีฝนตกที่เบาบาง จนมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 400-800 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น และมีแม่น้ำเหลืองเป็นตัวหล่อเลี้ยงที่สำคัญ

ส่วนพื้นที่ด้านล่างของเส้นแบ่งที่ว่ากับพื้นที่ที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำหยางจื่อในที่ราบซื่อชวน (Sichuan Basin) นั้น กลับมีฤดูฝนที่ฝนตกหนักและยาวนาน จนมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 800-1,500 มิลลิเมตรต่อปี ความแตกต่างเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันไปด้วย

แน่นอนว่า ตอนใต้ย่อมอุดมสมบูรณ์มากกว่าตอนเหนือ

 

การที่ภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจประการหนึ่ง และการที่ตอนเหนือกับตอนใต้มีความอุดมสมบูรณ์ต่างกันอย่างมากอีกประการหนึ่ง ทำให้ฮั่นสมัยแรกจำต้องคิดค้นวิธีบริหารจัดการภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิธีที่คิดค้นขึ้นมานี้ย่อมมีความแตกต่างกันระหว่างตอนเหนือและตอนใต้

วิธีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้กับตอนเหนือก็คือ วิธีนาสลับ (ไต้เถียนฝ่า, Alternating fields system)

วิธีการคือ เกษตรกรจะไถดินให้กว้างและลึกประมาณ 0.23 เมตรในพื้นที่ 1 หมู่ ที่ในเวลานั้น 1 หมู่จะกว้างและยาวประมาณ 331 เมตร จากนั้นก็จะหยอดเมล็ดพันธุ์ลงในร่องที่ไถไว้ (ไม่ได้หยอดลงบนสันดิน) ต่อเนื่องกันไปจนแล้วเสร็จ

พอถึงช่วงที่กำจัดวัชพืชหน้าดินบนสันจะร่วงลงสู่ร่องทีละเล็กละน้อย ซึ่งจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไปในการกำจัดวัชพืชแต่ละครั้ง จนเวลาผ่านไปสันกับร่องก็จะมีดินที่เสมอกัน

จากเหตุนี้ เมล็ดพืชที่เริ่มแตกหน่อหลังจากที่มีการหยอดเพื่อปลูกก็จะมีรากฝังลึกมากขึ้น และรากที่ลึกลงนี้ก็จะช่วยให้ต้นที่โตขึ้นเรื่อยๆ สามารถต้านแรงลมและความแห้งแล้งเอาไว้ได้ ครั้นถึงฤดูกาลหน้าในปีต่อไป วิธีนี้ก็จะถูกนำมาใช้ด้วยการพลิกสลับการไถร่องดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า วิธีนาสลับจากที่กล่าวมานี้เป็นภูมิปัญญาใหม่ในการเกษตร ด้วยเป็นวิธีที่ไม่เพียงช่วยในการรักษาความชื้นให้กับดินในขณะที่มีฝนน้อยเท่านั้น หากยังประหยัดเวลาและแรงงานให้เกษตรกร และช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าก่อนหน้านี้อีกด้วย

และที่เรียกว่าวิธีนาสลับก็เป็นไปด้วยประการฉะนี้

 

ส่วนทางตอนใต้ของจีนนั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำหยางจื่อ อันเป็นบริเวณที่ราบซื่อชวนที่การเกษตรได้รับการพัฒนามาก่อนหน้านี้แล้วในยุครัฐศึก และตลอดแนวแม่น้ำไข่มุก (จูเจียง) ที่อยู่ทางภาคใต้ซึ่งเคยได้รับการพัฒนาในสมัยฉิน แต่ไม่มีหลักฐานที่ชี้ถึงรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึกหรือหลักฐานอื่นใดที่พบในหลุมฝังศพ

แต่หลักฐานที่มีอยู่ในฮั่นสมัยแรกก็ทำให้รู้ว่า การเกษตรตลอดแนวแม่น้ำหยางจื่อนั้นล้าหลังกว่าทางตอนเหนืออยู่มาก

หลักฐานที่ว่าปรากฏใน ฮั่นซู (พงศาวดารฮั่น) เรียกวิธีปลูกข้าวในบริเวณนี้ว่า “เตรียมดินด้วยไฟ พรวนดินด้วยน้ำ” (ฮว่อเกิงสุ่ยโน่ว, plowing with fire and weeding with water)

วิธีนี้เป็นไปโดยเผาหน้าดินเพื่อกำจัดวัชพืชก่อน จากนั้นก็รดน้ำลงหน้าดินแล้วหว่านเมล็ดลงไป วิธีนี้ถูกอธิบายว่า รากจะปลอดภัยจากวัชพืชแล้วหน่ออ่อนก็จะงอกขึ้นมา จนเมื่อต้นสูงขึ้นราว 16-18 เซนติเมตร วัชพืชจะถูกถอนเพื่อกำจัดแล้วก็รดน้ำอีกครั้ง วัชพืชจะเหี่ยวแห้งและต้นข้าวก็จะเติบโต

 

จากวิธีที่ว่านี้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วก็เห็นได้ว่าวิธีที่ใช้ในจีนตอนเหนือก้าวหน้ากว่ามาก แต่ก็ด้วยวิธีที่ดู “ล้าหลัง” กว่าของจีนตอนใต้นี้ก็เห็นได้เช่นกันว่าถูกรองรับด้วยฝนที่มีมากกว่า และก็เป็นวิธีที่ยังคงใช้กันแม้ในปัจจุบันที่รวมถึงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่เข้ามาช่วยภาคเกษตรแล้วไม่น้อยก็คือ ภูมิปัญญาทางนวัตกรรม

โดยในยุคนี้ได้มีโรงหล่อเอกชนที่ผลิตเครื่องมือการเกษตรอยู่ทั่วจักรวรรดิแล้ว สิ่งที่ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปกว่าเดิมคือ คันไถเหล็ก ที่จีนใช้มาตั้งแต่ราว ก.ค.ศ.600 คันไถเหล็กในยุคนี้สามารถปรับระดับความลึกได้ดีกว่าก่อนหน้านี้

และในราว ก.ค.ศ.200 จีนก็ยังได้ประดิษฐ์พัดลมฝัดเมล็ดแบบหมุน วิธีทำงานคือ เมล็ดธัญพืชจะถูกเทลงในกรวยแล้วไปออกตรงด้านล่าง และขณะที่เมล็ดกำลังไหลลงอยู่นั้นก็จะถูกกระแสลมจากพัดลมที่ใช้มือหมุนพัดอย่างต่อเนื่อง เปลือกของเมล็ดจึงถูกพัดออกไป

เครื่องมือนี้จึงใช้ได้ดีกว่าการโยนเมล็ดขึ้นไปในอากาศที่มีลมพัดแรงเพื่อให้ลมพัดเปลือกออกไป

นอกจากนี้ เครื่องหยอดเมล็ดแบบหลายท่อก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน โดยตัวเครื่องจะถูกลากตามหลังม้า วัว หรือล่อ ในระหว่างนั้นเครื่องก็จะหยอดเมล็ดลงดินในอัตราที่ควบคุมได้เป็นแถวตรง

เครื่องชนิดนี้จึงย่อมดีกว่าการหว่านเมล็ดด้วยมือที่สร้างความสูญเปล่าของเมล็ดโดยใช่เหตุ

เหตุฉะนั้น ไม่ว่าวิธีจะเป็นเช่นไร การมีเครื่องมือที่ว่าย่อมส่งเสริมให้ผลผลิตในภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อมีมากขึ้นก็ย่อมทำให้ผลผลิตมากขึ้นตามไปด้วย