บทวิเคราะห์ : “แม้ว-ปู” อิน เจแปน เขย่าเลือกตั้ง ก.พ.2562 เพื่อไทย แลนด์สไลด์

เกิดผลสะเทือนอย่างน้อย 2 ด้านต่อการปรากฏตัวของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองพี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรี ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เป็นการออกงานร่วมเปิดตัวหนังสือของ นายฮาจิเมะ อิชิอิ ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีกิจการภายในญี่ปุ่น

การเคลื่อนไหวส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งมีผลต่อพรรคเพื่อไทย

ทั้ง 2 ด้านเชื่อมโยงกัน

ไม่มีใครรู้ “บังเอิญ” หรือ “จงใจ” ต่อการที่นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวแบบ “แพ็กคู่” ในจังหวะรัฐบาล คสช. กำลังประสบปัญหาความน่าเชื่อถือ

จากกรณีโรดแม็ปเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง

ส่อเค้าว่าอาจต้องขยับเลื่อนออกไปอีกครั้งจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ภายหลังการ “กลับลำ” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. กับร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

“ไม่รู้ว่าเขาต้องการส่งสัญญาณหรือเล่นเกมอะไร” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเคลื่อนไหวล่าสุดของสองพี่น้องอดีตนายกฯ

สิ่งตามมาแทบทุกครั้งที่นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวเคลื่อนไหวในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน หรือญี่ปุ่น

คือคำถามพุ่งตรงเข้าใส่รัฐบาลและ คสช. ว่าทำไมทางการของประเทศนั้นๆ ไม่จับตัวอดีตนายกฯ ทั้ง 2 ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนส่งกลับให้ไทย เป็นคำถามซ้ำๆ เดิมๆ

เช่นเดียวกับคำตอบไม่ว่าจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ หรือจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ยังคงซ้ำๆ เดิมๆ

เป็นความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้า

อย่างการปรากฏตัวกลางกรุงโตเกียว ก็รู้เพียงแค่นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปในนามส่วนตัวเพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับการตีกอล์ฟของอดีตรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เป็นเพื่อนกัน

แต่ไม่รู้เป็นวีซ่าประเภทใด ได้มาอย่างไร

จึงไม่น่าประหลาดใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกอาการหงุดหงิด เมื่อนักข่าวตั้งคำถามยิงเข้าใส่ จะดำเนินการอย่างไรกับนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังคงเคลื่อนไหวในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

“ไม่ทำอะไร เพราะทางกฎหมายได้ทำไปแล้ว กฎหมายไปบังคับต่างประเทศได้หรือไม่ เขาส่งตัวกลับมาหรือไม่ ถ้าต่างประเทศไม่ส่งก็คือไม่ส่ง เข้าใจกันหรือไม่ จะเอากฎหมายในประเทศไปบังคับเขาได้อย่างไร ประสานไปหมดแล้ว แต่ไม่มีการยืนยันหรือตอบรับมา”

คือคำตอบจากผู้นำรัฐบาลไทย

สิ่งที่น่าจับตานอกเหนือจากการปรากฏตัวพร้อมกันของทั้งคู่

อยู่ตรงคำให้สัมภาษณ์ของ นายทักษิณ ชินวัตร ผ่านเว็บไซต์อาซาฮี และเอ็นเอชเคเวิลด์ สื่อดังของญี่ปุ่น เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร

นายทักษิณแสดงความหวังว่าประเทศไทยจะหวนคืนสู่ประชาธิปไตยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเป็นระบบที่เปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และรับประกันสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุคใหม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย

อดีตนายกฯ ของไทย ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ถึงแม้ในปัจจุบันตนเองจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าพรรคมีคนที่มีคุณสมบัติดีๆ มากมาย ที่จะมานำพาพรรค

ชนะเลือกตั้งอย่าง “ถล่มทลาย”

หลายคนวิเคราะห์ว่าการคาดการณ์ของ “ทักษิณ” ได้ก่อแรงสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทยในลักษณะ “ดาบสองคม”

ถึงจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคแล้วก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า นายทักษิณ ชินวัตร คือผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยอันเป็นรากเหง้าพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา

ทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดนโยบาย “ประชานิยม” ฉบับต้นตำรับ ที่รัฐบาลชุดต่อมามักนำไปลอกเลียนแบบในชื่ออื่น แต่ก็ยังไม่สามารถครองใจประชาชนได้

การปรากฏตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับความมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ยังเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย เปิดยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค

ท่ามกลางกระแสข่าวนักการเมืองบางกลุ่ม เช่น กลุ่มวาดะห์ และกลุ่มสะสมทรัพย์ อาจย้ายสังกัดหรือแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่

ไม่ว่าด้วยจุดมุ่งหมายใดก็ตาม

คำให้สัมภาษณ์ของ “ทักษิณ” ด้านหนึ่งอาจมีส่วนสำคัญช่วยดึงดูดสมาชิกให้อยู่กับพรรคเพื่อไทยต่อไป แต่อีกด้านก็อาจนำพาความยุ่งเหยิงมาสู่พรรคเพื่อไทยเช่นกัน

คือเหตุผลว่าทำไมแกนนำพรรคเพื่อไทยถึงได้ระบุ สิ่งที่นายทักษิณแสดงความเห็นเป็นเพียง “ทัศนะส่วนตัว” ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค แม้ใจหนึ่งจะเชื่อว่าทัศนะส่วนตัวนั้น มีความเป็นไปได้มากก็ตาม

รวมถึงการยืนยันว่านายทักษิณ จะไม่สไกป์เข้ามาร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัววันสงกรานต์ของพรรคในปีนี้ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน

ให้ “ยุบพรรค” ได้

สะท้อนสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้

ในส่วนพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวในทุกฝีก้าว เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า

กลุ่มผู้มีอำนาจมีความปรารถนา ไม่ต้องการเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2551 และ 2554 ที่พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย พลิกฟื้นวิกฤตจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 กลับมาชนะเลือกตั้ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ฝันร้ายของกลุ่มอำนาจนิยมทุกวันนี้

“ใครจะเชื่อก็เชื่อไป จะมาถามทำไม เพราะผมไม่เชื่อ” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แกนนำ คสช. และรัฐบาลยืนยัน ไม่หวั่นไหวต่อการประเมินของ นายทักษิณ ชินวัตร

ที่เชื่อมั่นเป็นการ “ส่วนตัว” ว่าพรรคเพื่อไทยจะกวาด ส.ส. ได้ถึง 220-230 ที่นั่งในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออีกราว 1 ปีข้างหน้า

ไม่หวั่นไหวเพราะ คสช. และรัฐบาลก็มีความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันว่า

แม่น้ำสายต่างๆ ภายใต้การควบคุมของ คสช. ได้ร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไว้อย่างรอบคอบรัดกุม

ไม่นับรวมดาบอาญาสิทธิ์ “มาตรา 44” ที่พร้อมชักออกมาฟาดฟันซีกตรงข้ามทางการเมืองและกลุ่มคนเห็นต่างได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่

ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่น ต่างฝ่ายต่างมั่นใจ

ฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นในพลังอำนาจและกับดักข้อกฎหมายที่ออกแบบมากับมือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตยและพลังศรัทธาของประชาชน

ไม่เชื่อมั่นมีอยู่เรื่องเดียว

ไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้จริง