วิช่วลคัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์ / แผนที่กับชาติยุคสงครามเย็น (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

แผนที่กับชาติยุคสงครามเย็น (1)

ทุกวันนี้ เราอาจจะเปิดดูแผนที่ดิจิตอลในโทรศัพท์มือถือหรือโน้ตบุ๊กเพื่ออ่านหรือแก้ไขปรับปรุงได้อย่างง่ายดาย จนแทบไม่ได้สังเกตว่า แผนที่ ซึ่งหมายถึงเทคนิคการทำพื้นที่สามมิติให้เป็นรูปภาพมีความเป็นมาอย่างไร และการกำหนดชื่อของสิ่งต่างๆ ในแผนที่มีความสำคัญแค่ไหน

“แผนที่สร้างชาติ : รัฐประชาชาติกับการทําแผนที่หมู่บ้านไทยในยุคสงครามเย็น” ของอาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำแผนที่ในช่วงสงครามเวียดนาม

โดยใช้เทคนิคถ่ายภาพทางอากาศของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีดาวเทียมและระบบ GPS และ google map

นอกจากนั้น ยังน่าสนใจเพราะเกี่ยวกับประวัติของวัฒนธรรมชุมชนและวงการมานุษยวิทยาไทย

อ่านแล้วชวนให้นึกถึง “The Englishman Who Went Up a Hill But Came Down a Mountain” (1998) หนังที่กำกับโดยคริสโตเฟอร์ มังเกอร์ และนำแสดงโดย ฮิวจ์ แกรนต์ และเกี่ยวกับการ “ตั้งชื่อ” หรือ Nomenclature ให้กับสิ่งต่างๆ ในแผนที่ เช่น เนินและภูเขา

The Englishman เริ่มต้นเมื่อนักทำแผนที่จากสำนักงานสำรวจออร์ดิแนนซ์ของรัฐบาลอังกฤษ เดินทางมาที่เวลส์เพื่อทำแผนที่ฉบับใหม่ ปัญหาของการเรียกชื่อให้ถูกต้องคือข้อกำหนดที่ว่า ภูเขาต้องสูงเกินหนึ่งพันฟุต เตี้ยกว่านั้นต้องเรียกว่าเนิน และผลการวัด ฟินนอน กาว อันเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านแถวนั้น ก็คือสูงไม่ถึงหนึ่งพันฟุต

ฟินนอน กาว เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและเกิดมาก่อนใครๆ รวมทั้งคนที่มาทำแผนที่

ความเชื่อในตำนานและเรื่องปรัมปราเกี่ยวกับบทบาทของภูเขาลูกนี้ในการป้องกันอริราชศัตรูในอดีต จึงมีมากกว่าความถูกต้องของการวัด

ชาวบ้านไม่ยอมเรียกมันว่าเนิน และตอนนั้น สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพิ่งจะเลิก พอเจอเรื่องนี้ ชาวเวลส์จึงรู้สึกเหมือนถูกปล้นอีกครั้ง

แต่คราวนี้โดยรัฐบาลอังกฤษ

เพื่อที่นักทำแผนที่จะได้เรียกมันว่าภูเขาแทนที่จะเป็นเนิน ในตอนกลางคืน ชาวบ้านจึงระดมคนทั้งหมู่บ้านขนเอาดินมาถมให้สูงเท่าที่รัฐบาลกำหนด ระหว่างนั้น ต้องหาทางทำให้นักทำแผนที่ต้องตกค้างอยู่ในหมู่บ้านต่อไปอีกหลายวัน เพื่อจะได้วัดกันใหม่เมื่อถมภูเขาเสร็จ

และนำมาซึ่งเรื่องราวอันสนุกสนานอีกมากมาย

ทั้งๆ ที่เป็นเพียงรูปภาพที่วาดลงบนแผ่นกระดาษ แผนที่สร้างรัฐและผลักดันให้มีชีวิตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นท่ามกลางสงครามในจีน การยึดครองของไดเมียวในญี่ปุ่น การสู้รบในอเมริกาเหนือ ความขัดแย้งในรัสเซีย หรืออาณานิคมต่างๆ ทุกมุมโลก

ใน Siam Mapped : A History of Geo-Body อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เรียกการสร้างแผนที่ว่า “ภูมิกายา” (the geo-body) โดยพูดถึงการเกิดขึ้นของแผนที่สยามในศตวรรษที่ 19

เขาบอกว่าบทบาทของภูมิกายามีถึงสามอย่างคือ

หนึ่ง ก่อให้เกิดชาติและรัฐสมัยใหม่

สอง กลายเป็นรูปภาพแบบ iconic หรือที่เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ใน Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism เรียกว่า “the map-as-logo”

และสาม ช่วยทำให้เชื่อกันว่าพื้นที่นั้นๆ มีมานานแล้ว และผู้ครองดินแดนอ้างได้ว่าเป็นมรดกที่ตกทอดมานาน รวมทั้งสืบย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดได้

จากนั้น จึงตามมาด้วยโวหารของความรักชาติและความจำเป็นที่จะปกป้องพื้นที่เหล่านี้

การมีประโยชน์มากมายเช่นนี้ ทำให้ผู้นำของรัฐไทยสมัยนั้นชอบการทำแผนที่มาก ธงชัยเรียกกำเนิดของประเทศสยามในแง่ที่เป็น “ชัยชนะของแผนที่”

“แผนที่สร้างชาติ” พูดถึงพัฒนาการของ L708 และชุดต่อๆ มา นัยทางการเมืองของแผนที่เหล่านี้ชัดเจน เพราะเกิดในช่วงหลังสงครามเย็น อันเป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นผู้นำทางการทหารของโลกเสรีหรือเข้าสวมบทบาท “เจ้าอาณานิคม” ต่อจากอังกฤษ

อเมริกันได้ปฏิวัติวิธีทำแผนที่หลายอย่าง เช่น ใช้กล้องถ่ายรูปและเครื่องบินสมัยใหม่ รวมทั้งนักทำแผนที่และนักสำรวจภาคพื้นดิน อันเป็นความรู้ในการทำและอ่านแผนที่แบบใหม่

ในแง่รูปภาพ ลำพังการใช้เส้น สี รูปร่างต่างๆ เพื่อบอกที่ตั้ง พรมแดน ลักษณะภูมิประเทศ รวมทั้งชื่อเขตปกครองต่างๆ เช่น จังหวัด อำเภอและหมู่บ้านอย่างละเอียด ก็ทำให้ทหารอเมริกันและไทยสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ง่ายอยู่แล้ว แต่การใช้กล้องถ่ายรูปยิ่งทำให้แผนที่เป็นรูปภาพที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เกิดความเชื่อว่าแผนที่คือภาพถ่าย ซึ่งมีความเป็นภววิสัย หรือไม่มีจิตใจหรืออคติของผู้ทำมาเจือปน

เทคโนโลยีนี้จึงไม่เพียงให้ความสะดวกในการใช้งาน แต่เปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และเป็นกลไกสำคัญในการแผ่อิทธิพลของรัฐ

ผู้เขียนคือคุณเก่งกิจก้าวข้ามประเด็นที่ว่าแผนที่กับชาตินั้น ใครสร้างใคร? ข้อเสนอของเขาคือ ก่อนหน้านั้น แผนที่มีจุดมุ่งหมายเพียงสร้างและขยายอำนาจความมั่นคงของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์มากกว่าจะสร้างความเป็นชาติ นี่จึงเป็นแผนที่ของชาติชุดแรกที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

“แผนที่สร้างชาติ” ให้ความสำคัญกับยุคนั้น และตั้งข้อถกเถียงว่าการก่อรูปรัฐประชาชาติของไทยอาจจะเริ่มต้นขึ้นพร้อมกัน

ที่สำคัญ ภูมิกายาไม่ได้เพียงถูกวาดขึ้นเพื่อชาตินิยมหรือโฆษณาชวนเชื่อ แต่มีบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ “ตั้งชื่อ” หรือ Nomenclature ให้กับสิ่งต่างๆ เช่น “หมู่บ้าน”

คำนี้เป็นหน่วยเล็กที่สุดของการปกครองและถูกใช้เป็นครั้งแรกในสงครามเวียดนาม ผู้เขียนบอกว่าก่อนจะถูกเรียกว่า village นั้น ถูกเรียกว่า hamlet และการระบุชื่อและที่ตั้งก็จะทำให้ทหารเข้าไปควบคุมหมู่บ้านต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

แผนที่ชุดนี้จึงไม่ได้บอกเพียงว่าพรมแดนของประเทศสิ้นสุดลงตรงไหน แต่บอกด้วยว่าหมู่บ้านหรือหน่วยการปกครองดังกล่าว มีความสำคัญเพียงใด