การศึกษา/ปิดคดีตั๋วฯ ปลอม 2.5 พันล้าน บิ๊กบิลเลี่ยนฯ ติดคุกยาว 10 ปี

การศึกษา

ปิดคดีตั๋วฯ ปลอม 2.5 พันล้าน

บิ๊กบิลเลี่ยนฯ ติดคุกยาว 10 ปี

หลังคดีทุจริตซื้อ “ตั๋วสัญญา” ของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด มูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งอดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้นำเงินจำนวนมากไปลงทุน ยืดเยื้อมานานหลายปีนั้น
ในที่สุด ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีปลอมตั๋วเงิน หมายเลขดำ อ.134/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา และนายสิทธินันท์ หลอมทอง กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทบิลเลี่ยนฯ ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันปลอม และใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266 (4), 268 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560
ซึ่งตามฟ้องของอัยการโจทก์ ระบุพฤติการณ์ความผิดของจำเลยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2556 – 21 กรกฎาคม 2557 จำเลยกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ โดยนายสิทธินันท์ กรรมการผู้มีอำนาจ และในฐานะส่วนตัว กับพวกของจำเลย ได้ร่วมกันปลอมเอกสารตั๋วแลกเงิน หรือดราฟต์ ทั้งฉบับของธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำหรับการสั่งจ่ายเงิน ก่อนนำตั๋วแลกเงินปลอมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท ไปแสดงต่อ สกสค. ผู้เสียหาย จนหลงเชื่อว่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทบิลเลี่ยนฯ 2,100 ล้านบาท ที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำมาหลอกขายให้ สกสค. ทำให้ สกสค. เชื่อว่าพวกจำเลยสามารถหาหลักทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับธนาคารเป็นอาวัล กระทั่งคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ยึดถือไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐาน ที่โจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสอง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266(4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอม และใช้ตั๋วเงินปลอมนั่นเอง
พิพากษาลงโทษฐานร่วมกันใช้ตั๋วเงินปลอมเพียงกระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 10 ปี ริบของกลาง

ทั้งนี้ ภายหลังศาลมีคำพิพากษา นายสัมฤทธิ์ และนายสิทธินันท์ ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที
ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า สำนักงาน สกสค. ต้องไปดูว่าการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคืบหน้าไปถึงไหน เพราะยื่นเรื่องถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้เข้ามาตรวจสอบด้วย
จึงสั่งการให้สำนักงาน สกสค. ติดตาม และรายงานที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ในวันที่ 30 มีนาคม
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากอดีตผู้บริหาร สกสค. ได้นำเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. 2,500 ล้านบาท ซื้อตั๋วสัญญาของบริษัทบิลเลี่ยนฯ ที่บริษัทอ้างว่าจะนำไปลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในขณะนั้นจึงสั่งการให้ สกสค. แจ้งความดำเนินคดีกับนายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค. และนายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตประธานคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษ ช.พ.ค. ข้อหา “ฉ้อโกง”
นอกจากนี้ ยังให้แจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการบริหารบริษัทบิลเลี่ยนฯ 9 ราย ข้อหาสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และให้สอบวินัยเจ้าหน้าที่ สกสค. ที่เกี่ยวข้องอีก 6 ราย
รวมทั้ง เจรจากับธนาคารธนชาตให้คืนเงิน 2,100 ล้านบาท ให้ สกสค. กรณีอนุมัติปิดบัญชี และเบิกถอนเงินของ สกสค. ที่ฝากไว้ เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอยู่ระหว่างเดินเรื่องฟ้องร้องกันอยู่

สําหรับการตรวจสอบการทุจริตนำเงินสวัสดิการครูไปซื้อตั๋วสัญญามูลค่า 2,500 ล้านบาทนั้น เกิดขึ้นเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ., คณะกรรมการคุรุสภา, คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. เพื่อให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าตรวจสอบความถูกต้อง และโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณในหน่วยงานต่างๆ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในช่วงนั้น จึงประสาน คตร., กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงาน ป.ป.ช., สำนักงาน ปปง. และผู้บริหาร ศธ. เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าว
จากการตรวจสอบร่วมกัน พบว่า หลักทรัพย์เกือบทั้งหมดที่อยู่ในตู้เซฟของผู้บริหาร สกสค. เป็นของปลอม หรือถ้าเป็นเอกสารจริง ก็ไม่มีมูลค่า ซึ่งทรัพย์สินทั้ง 7 รายการ ประกอบด้วย
1. ตั๋วแลกเงิน (ดราฟต์) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC) 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. ใบค้ำประกันของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) 3 ฉบับ
3. ใบหุ้นสโมสร THE READING FOOTBALL CLUB มูลค่า 50 ล้านปอนด์
4. เงินสกุลดีน่า (โครเอเชีย) 950,000,000 HRK ล้านเหรียญโครเอเชีย ที่ถูกยกเลิกการใช้แล้ว
5. โฉนดที่ดิน 33 แปลง และ น.ส.3 จำนวน 16 แปลง ในพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง
6. เช็คธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ มูลค่า 2,100 ล้านบาท
และ 7. สัญญาค้ำประกันตนเองของนายสัมฤทธิ์

ผลจากการตรวจสอบทุจริตดังกล่าว ส่งผลให้ สกสค. สั่งรื้อโครงสร้างการบริหารภายใน และยกเลิกระเบียบสำนักงาน สกสค. หลายเรื่อง รวมทั้ง คณะกรรมการ สกสค. มีมติ “ยกเลิก” การว่าจ้างเลขาธิการ สกสค. มีผลให้นายสมศักดิ์ และรองเลขาธิการ สกสค. อีก 4 คน พ้นตำแหน่งทันที
ส่วน ปปง. มีมติเห็นชอบให้ “อายัด” ทรัพย์อดีตผู้บริหาร สกสค. กับพวก และบริษัทบิลเลี่ยนฯ 153 รายการ มูลค่า 500-800 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2560 คณะกรรมการสอบสวนฯ ศธ. เดินหน้าสอบสวนอดีตผู้บริหาร สกสค. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ มีคำสั่ง สกสค. ลงโทษไล่ออกอดีตผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สกสค. รวม 7 คน ประกอบด้วย นายสมศักด์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค. เมื่อวันที่ 26 กันยายน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 เนื่องจากนายสมศักดิ์อนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,500 ล้านบาท จากบริษัทบิลเลี่ยนฯ โดยมิชอบ และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทบิลเลี่ยนฯ มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐาน
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก 6 คน มีคำสั่งลงโทษไล่ออกตามสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ได้แก่
1. นายสุรเดช พรหมโชติ รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.
2. นางปิยาภรณ์ เยาวาจา ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการครู
3. นายพรเทพ มุสิกวัตร ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสำนักงาน สกสค.
4. นางมยุรี ตัณฑวัล ผู้อำนวยการกลุ่มการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกคุรุสภากรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.)
5. นายสุเทพ ริยาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักประจำสำนักงาน สกสค.
และ 6. น.ส.กัญญาณัฐ แจ่มมี ผู้อำนวยการสถานพยาบาล สกสค.
รวมถึง ผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 ราย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อีก 1 ราย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พิจารณาอนุมัติลงโทษให้ไล่ออกจากราชการตามที่หน่วยงานต้นสังกัดเสนอ
นับเป็นบทสรุปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในคดีทุจริตซื้อตั๋วสัญญา 2,500 ล้านบาท หลังยืดเยื้อมายาวนาน!!