อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ต้นทุนความขัดแย้ง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ทั่วโลกกำลังพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDG) ขององค์การสหประชาชาติ เช่น Smart City, Green Energy, Friendly Environment, Creative Tourism, E commerce, Digital Communication และอื่นๆ อีกมากมาย

พร้อมกันนั้น ยังถกเถียงถึงตัวชี้วัด (indicator) อีกมากมายว่า จะวัดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร และต้องใช้ตัวชี้วัดกี่ตัวประกอบเข้าด้วยกัน

เป้าหมายดังกล่าว กล่าวถึง การพัฒนาที่ Inclusive จากทุกภาคส่วนของสังคม มีการบูรณาการ (Integration) ของภูมิภาคนิยม (Regionalism)

ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ดี แต่หากสำรวจความเป็นจริงและพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ของภูมิภาคและของโลก ความจริงที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ ความขัดแย้ง ในมิติต่างๆ ที่ดำรงอยู่แล้ว อีกทั้งจะมีมากขึ้น

ทั้งนี้ บทความสั้นๆ นี้ขอกล่าวถึงเพียงด้านเดียวคือ ต้นทุนของความขัดแย้ง (Cost of Conflict)

 

ต้นทุนของความขัดแย้ง

จากรายงานล่าสุดขององค์อิสระด้านการวิจัยสันติภาพคือ the Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) รายงานว่า การนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์สู่ตะวันออกกลางและเอเชียบูมมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดทั้งสงครามและความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งกำลังทำสงครามกวาดล้างกบฏนิกายชีอะห์ (Shiite) ซึ่งกลุ่มกบฏได้รับการสนันสนุนจากอิหร่านซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างกันในความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง

ซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่นำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศอินเดีย ในช่วงระหว่างปี 2013-2017 การนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ในความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว กล่าวคือ กระโดดไปที่ร้อยละ 103 เมื่อเปรียบเทียบใน 5 ปีก่อนหน้านี้1

อีกทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางยังนับได้ว่ามีการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อจัดการหรือเพิ่มความขัดแย้งระหว่างกันมากเป็นร้อยละ 32 ของการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ทั่วโลก

คราวนี้เรามาดูประเทศที่ร่ำรวยจากการส่งออกอาวุธกัน จากรายงานดังกล่าว สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ขายอาวุธให้กับประเทศซาอุดีอาระเบียร้อยละ 61

ส่วนประเทศสหราชอาณาจักรขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียร้อยละ 23

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรลงนามขั้นต้นรับคำสั่งซื้อเครื่องบิน 48 Eurofighter Typhone Fighter jets มูลค่าหลายล้านปอนด์ รวมทั้งอุปกรณ์ทางทหารที่ผลิตโดยระบบ BAE System อีกด้วย2

กล่าวโดยสรุป สหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปยังเป็นประเทศที่ค้าขายอาวุธยุทโธปกรณ์หลักให้กับภูมิภาคตะวันออกกลาง และยังเป็นประเทศผู้ผลิตอาวุธมากกว่าร้อยละ 98 ให้กับซาอุดีอาระเบีย

 

ความต้องการของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ นับแล้วการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์คือ ร้อยละ 42 ของการนำเข้าอาวุธของโลกทั้งหมดในช่วงระหว่างปี 2013 และ 2017

อินเดียเป็นประเทศนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ รัสเซียเป็นแหล่งขายอาวุธหลักให้กับอินเดียคือร้อยละ 62 ในขณะเดียวกัน การส่งขายอาวุธให้กับอินเดียจากสหรัฐอเมริกาประเทศส่งออกอาวุธที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นได้เพิ่มอัตราการส่งออกอาวุธให้อินเดียมากเป็น 6 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ในแง่บริบทของความขัดแย้ง ความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างอินเดียกับปากีสถานและสาธารณรัฐประชาชนจีนในอีกด้านหนึ่งเป็นหัวเชื้อให้ความต้องการอาวุธของอินเดียเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าอินเดียเองเป็นประเทศผลิตอาวุธยุโธปกรณ์ได้เอง แต่การผลิตดังกล่าวยังไม่สามารถเพียงพอต่อความต้องการของอินเดีย

ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนกลับตรงกันข้าม สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังมีความสามารถในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนยังเพิ่มความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับทั้งปากีสถาน บังกลาเทศและเมียนมาโดยผ่านการเป็นผู้ผลิตอาวุธให้กับสามประเทศนี้

สาธารณรัฐประชาชนจีนเองการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ในระหว่าง 5 ปี โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแหล่งผลิตและผู้ส่งออกหลักอาวุธให้กับเมียนมา

บังกลาเทศมีการนำเข้าอาวุธยุโธปกรณ์ร้อยละ 71 และอินเดียนำเข้าอาวุธร้อยละ 70 เพื่อแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์กับปากีสถาน

 

ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด

อาจกล่าวได้ว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคเอเชียนั้นความขัดแย้งด้วยเหตุผลทางการเมือง ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ชาติพันธุ์และศาสนายังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หัวเชื้อที่จุดปะทุไฟแห่งความขัดแย้งอันหนึ่งมาจากการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน

การเจรจาบนโต๊ะและเวทีทางการทูตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่นในเวทีองค์การสหประชาชาติระหว่างชาติที่ขัดแย้งกัน เช่น ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านในตะวันออกกลาง อินเดียกับปากีสถาน บังกลาเทศกับเมียนมาในภูมิภาคเอเชียก็ยังคงดำเนินต่อไป ในเวลาเดียวกัน การนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ก็ดำเนินต่อเนื่อง อีกทั้งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

ด้านหนึ่ง ความขัดแย้งด้านต่างๆ ในตะวันออกกลางและเอเชียสร้างความร่ำรวยให้กับบริษัทและประเทศผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์

อีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งสร้างภาระทางงบประมาณรายจ่ายทางด้านการสั่งซื้ออาวุธ การทหารและกำลังพลอย่างมหาศาลให้กับประเทศผู้นำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ

นี่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้ง

หากนับต้นทุนทางเศรษฐกิจของพลเมืองที่ต้องล้มตาย บาดเจ็บ พิการ ไร้ที่อยู่อาศัยและอนาคตทั้งจากสนามรบและต้องลี้ภัยสงครามและบริเวณความขัดแย้ง ต้นทุนนี้มหาศาลยิ่งกว่ามาก

อะไรที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

อะไรที่เป็น Smart City, Creative Tourism

ย่อมเกิดได้ยากมากทั้งในตะวันออกกลางและภูมิภาคเอเชีย เพราะความขัดแย้งที่มีหัวเชื้อจากการสั่งซื้ออาวุธ

ที่สำคัญ ไทยต้องไม่ลืมว่า เราอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ชาติพันธุ์ ศาสนาในภูมิภาคเอเชียด้วย ไทยมีต้นทุนความขัดแย้งอยู่ในตัวเองอยู่ด้วย

นี่เป็นต้นทุนที่จับต้องได้ของไทย

————————————————————————————————————-
(1) “War, conflict fuel arms imports to Middle East, Asia : study” AFP 12 March 2018.
(2) Ibid.,