จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในตะวันออกเฉียงใต้ (3)

จรัญ มะลูลีม

อิสลามในอินโดนีเซีย (ต่อ)

คนมุสลิมในอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นซุนนีหรือชีอะฮ์จะปฏิบัติในสิ่งที่เรียกกันว่า “อิสลามพื้นบ้าน” (Folk Islam)

อิสลามพื้นบ้านจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อพื้นบ้านดั้งเดิมกับพิธีกรรมตามจารีตของชาวมุสลิม

ตัวอย่างเช่น ก่อนจะสร้างบ้านจะต้องมีการเชือดไก่เพื่อปกป้องบ้านที่สร้าง ดังนั้น หัวไก่ ขาไก่ ปีกไก่จะถูกฝังอยู่ใต้หินที่เป็นศิลาฤกษ์ หัวไก่ซึ่งมีข้าวกับเครื่องเทศล้อมรอบอยู่จะต้องหันไปทางตะวันออก

เลือดไก่จะนองไปที่หินศิลาฤกษ์และมีเหรียญเงินวางอยู่ที่มุมหินศิลาฤกษ์ เมื่อทำพิธีนี้เสร็จแล้วบ้านก็จะสร้างขึ้นได้

การกระทำดังกล่าวมิได้เป็นการปฏิบัติตามกุรอานและสุนนะฮ์ (จารีต) ของท่านศาสดา ซึ่งได้มอบอิสลามที่ถูกต้องเอาไว้ให้แล้ว

เพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าวในปี 1926 องค์การนะฮ์ดะตุลอุลามาอ์ (Nadhalatul Ulama) หรือ NU จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อขานรับการท้าทาย “ความบริสุทธิ์” จนเป็นเหตุให้นักวิชาการศาสนาท้องถิ่นต้องยุติบทบาทลงด้วย

องค์การมุฮัมมะดียะฮ์ได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษามาตั้งแต่ต้น สิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงการศึกษาทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมการศึกษาสมัยใหม่เพื่อให้ชาวมุสลิมเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ได้รับการพัฒนาและกลายมาเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง

ดังนั้น โรงเรียนต่างๆ ขององค์การมุฮัมมะดียะฮ์จึงใช้หลักสูตรเดียวกับโรงเรียนทั่วไปแต่รวมการศึกษาศาสนาเข้าไปด้วย ปัจจุบันมีสถานศึกษาดังกล่าวมากกว่า 14,000 แห่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วอินโดนีเซียอีก 60 มหาวิทยาลัย

ในเวลาเดียวกัน NU ได้ผลิตนักคิดอิสลามรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สานุศิษย์ของ NU จำนวนมากได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศ ในเบื้องต้นพวกเขาถูกส่งไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาด้านศาสนาที่ได้รับการยอมรับในดินแดนตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตก รวมทั้งมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร (Al-Azhar) ในอียิปต์

แต่ต่อมาพวกเขาเหล่านี้จะถูกส่งไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศูนย์กลางการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศตะวันตก อย่างเช่น มหาวิทยาลัยแม็คกิล (McGill) ในแคนาดา มหาวิทยาลัยชิคาโก (Chicago) ในสหรัฐ มหาวิทยาลัยซอร์บอนด์ (Sorbonne) ในฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเลเด็น (Leiden) ในเนเธอร์แลนด์ รวมถึงมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (Melbourne) และแคนเบอร์รา (Canberra) ในออสเตรเลีย

นักวิชาการจากองค์การมุฮัมมะดียะฮ์ก็เดินตามเส้นทางการศึกษานี้เช่นกัน

ในตอนกลางของทศวรรษ 1980 อับดุรเราะห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) อดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ซึ่งในเวลานั้นเป็นประธานของ NU ได้เปิดระบบการศึกษาที่เรียกว่า เปซันเทรนซ์ (Pesantrens) หรือโรงเรียนกินนอน ซึ่งวางอยู่บนหลักการของเพลโต (Plato) ขึ้นมาใหม่

จุดมุ่งหมายของเปซันเทรนส์ ก็คือต้องการให้โรงเรียนเหล่านี้มีความทัดเทียมกับโรงเรียนทั่วไป มีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถในด้านศาสนาอิสลามอยู่ใน NU อันเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นทางศาสนาแต่ก็เป็นแนวหน้าอยู่ในการปรองดองอิสลามและความทันสมัยให้เป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งอิสลามกับความเป็นชาตินิยม

อินโดนีเซียในฐานะที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายอันเป็นลักษณะของอินโดนีเซียและประชาชนของอินโดนีเซีย

เริ่มต้นด้วยชาวชะวา (Javanese) คิดเป็นร้อยละ 42 ของชาวอินโดนีเซียซึ่งมีมากกว่ากลุ่มอื่นและการเมืองของอินโดนีเซียก็ครอบคลุมไปด้วยชาวชวา

นอกจากนี้ ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียยังเป็นชุมชนที่แบ่งไปตามเชื้อชาติ ภูมิภาคการเมืองและการภักดีทางศาสนา

การเมืองอินโดนีเซียส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของกรุงจาการ์ตา (Jakasta) แต่ชาวมุสลิมจากส่วนต่างๆ ของหมู่เกาะจะมุ่งปฏิบัติตามผู้นำศาสนาท้องถิ่นและการเมืองภูมิภาค

ชาวอินโดนีเซียรับเอาอิสลามที่มีการปฏิบัติต่างกัน ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นสามรูปแบบ

1. ศานตรี (Santri) คือกลุ่มของผู้บริสุทธิ์ (Purist)

2. อบังงัน (Abangan) หรือกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีความเคร่งครัดมากนักและ ปรียายี (Priyayi) หรือผู้นำศาสนาที่เป็นข้าราชการและชนชั้นสูง

นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีนักการศาสนาที่อยู่ในรูปของนักประสบการณ์ทางจิต นักสมัยนิยม (มุฮัมมะดียะฮ์) และนักจารีตนิยมซึ่งเรียกกันว่า มัจญ์ลิส อินโดนีเซีย (นะด์ละตุลอุลามาอ์)

ปัจจุบันมีกลุ่มก้อนของผู้คนที่เรียกว่ากลุ่มเสรีนิยมอิสลาม (Islamic Liberalion) เกิดขึ้นและมีการตีความกฎหมายอิสลาม (Syar”iah) ไปตามแนวทางของชีวิตสมัยใหม่


อิสลามในมาเลเซีย

มาเลเซียเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมศาสนาและภาษาอันหลากหลาย อิสลามเป็นศาสนาของสหพันธ์แต่ศาสนาอื่นๆ ก็ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติอยู่ท่ามกลางความศานติและการปรองดอง

ราวร้อยละ 60-65 ของประชากรชาวมาเลเซียเป็นชาวมุสลิม มีผู้ที่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิมอยู่ราวร้อยละ 35-40 ซึ่งรวมตัวกันอยู่ในบริเวณคาบสมุทรของรัฐปีนัง (Penang) เปรัก (Perak) เซลังงอร์ (Selangor) และกรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐทางตะวันออกของซาบาห์ (Sabah) และซาราวัก (Sarawak)

ศาสนาสำคัญที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามได้แก่ ศาสนาพุทธ (Buddhist) ฮินดู (Hindu) คริสเตียน (Christianity) และสิกข์ (Sikhism)

การให้การยอมรับอิสลามในส่วนนี้ของโลกเป็นความคิดมาตั้งแต่ ค.ศ.674 อันเป็นเวลา 42 ปีหลังการจากไปของศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)

เมื่อผู้ปกครองราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyah) คือมุอาวิยะฮ์ (Muawiyah) อยู่ในอำนาจที่ในกรุงดามัสกัส สองร้อยปีต่อมาคือในปี 878 อิสลามได้รับการนับถือโดยประชากรที่อยู่ตามฝั่งของคาบสมุทรมาเลย์ รวมทั้งท่าเรือเกลัง (Kelang) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีชื่อเสียง

ก่อนที่อิสลามจะมาถึงชาวพื้นเมืองมาเลย์นับถือศาสนาดั้งเดิม ซึ่งมีรูปแบบการนับถือหลายอย่าง รวมทั้งประชาชนบางกลุ่มที่ยึดถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ

ในระดับการเมืองผู้นำที่เป็นเจ้าผู้ครองนครและหัวหน้ารัฐในชุมชนส่วนใหญ่ของโลกมาเลย์จะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ผู้คนจะมีความซาบซึ้งและได้รับความดึงดูดใจจากข้อความในอัลกุรอานและหะดีษ (คำสอนของท่านศาสดา) ซึ่งเน้นย้ำในความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ

ผู้คนที่ถูกจัดอยู่ในชนชั้นล่างหรืออยู่ในวรรณะต่ำมาเป็นเวลานานได้แลเห็นความเท่าเทียมของสังคมอิสลาม ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับวรรณะและรูปแบบการมีชีวิตแบบชนชั้นอีกต่อไป ในอิสลามจะไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือการแบ่งแยกบนพื้นฐานของสีผิว เผ่าพันธุ์ ที่อยู่หรือถิ่นกำเนิด ที่อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในภายหลัง

สำหรับพวกเขาศาสนาใหม่นี้ทำให้คนตัวเล็กๆ รู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นปัจเจกบุคคล และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชนอิสลามที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมที่ดำรงอยู่อย่างช้านาน