วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/Victoria and Abdul : ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์
ประชา สุวีรานนท์

Victoria and Abdul

: ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (จบ)

ก่อนจะพูดถึงเดอบาร์ คงต้องเล่าเรื่อง Indian Mutiny หรือการกบฏต่ออังกฤษ ที่เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.2400 ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประวัติศาสตร์อินเดีย และที่มาของชื่องานพระราชพิธี พ.ศ.2420 และห้องในวังออสบอร์น
แม้อังกฤษจะปราบกบฏได้เพราะมีอำนาจทางทหารที่เหนือกว่า
แต่การลุกขึ้นสู้นี้ส่งสัญญาณว่าการกดขี่ขูดรีดอย่างเปิดเผยซึ่งทำกันมากว่าร้อยปี ก่อให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรงมากเกินการ
ดังนั้น ถ้าจะอยู่กันต่อไป อังกฤษจะต้องยอมปรับปรุงตัวเองบ้าง
การปรับปรุงที่ว่าคือกลับไปรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ ว่ากันว่าในทวีปยุโรปนั้น รัฐบาลอังกฤษรู้จักใช้อำนาจของสถาบันนี้มานาน การนำสิ่งนี้ไปสู่ดินแดนที่เป็นอาณานิคมจึงไม่ยากเกินไป เพื่อเอาอินเดียมาอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษโดยตรง มีการเรียกชื่อใหม่ว่า British Raj ยุบทั้งราชวงศ์โมกุลและบริษัทอิสต์อินเดีย แต่งตั้งวิกตอเรียให้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดินี และไวซ์รอยหรือผู้สำเร็จราชการให้เป็นผู้ปกครองอินเดีย
ในหนัง เหรียญโมฮาร์ซึ่งทำให้อับดุลถูกเลือกให้เป็นผู้ถวายแก่วิกตอเรียจึงมีความสำคัญมาก เพราะไม่เพียงเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์อันทรงเกียรติ แต่เป็นสัญลักษณ์ของการรวมชาติใหม่
สำหรับอังกฤษ การมีเหรียญและเงินตราหมายถึงบรรลุการจัดองค์กรที่ดีและรวมศูนย์อำนาจที่เข้มแข็งแล้ว หลังจากนั้นจึงจัดงานเดลฮี เดอบาร์ขึ้นมาเฉลิมฉลอง

เดลฮี เดอบาร์ ยิ่งใหญ่ขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งสำคัญของโลก บทความของโคห์นถูกอ้างถึงโดยวอลลี่ โอลินส์ (Wally Olins) ซึ่งเป็นนักสร้างแบรนด์ชาวอังกฤษ ซึ่งมีผลงานระดับโลกมาแล้วมากมาย ใน Corporate Identity : Making Business Strategy Visible Through Design (1990) โอลินส์ได้พูดถึง Branding the Nation ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอังกฤษ แต่ที่เด่นคือการรีแบรนด์อินเดียของอังกฤษ
สำหรับโอลินส์ การประดิษฐ์ประเพณีมีความสำคัญ และเดอบาร์เป็นตัวอย่างที่แสดงความเชี่ยวชาญของอังกฤษในเรื่องนี้
พิธีได้สะท้อนสิ่งที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า “ประเพณีประดิษฐ์ที่แกล้งเก่า” โดยดำรงการยกย่องกษัตริย์ แต่เปลี่ยนแปลงไปคือ จากที่เคยเน้นความศักดิ์สิทธิ์ หันมาเน้นการเชื่อมสัมพันธ์กับพลเมืองหรือบทบาทเชิงสาธารณะของเจ้า
พูดอีกอย่าง ต้องบอกได้ว่าราชวงศ์สำคัญต่อชาติอย่างไร
เดอบาร์จึงไม่ได้มีเพียงการตั้งเวทีและเชิญคนมาฟังสปีช แต่หมายความการออกแบบประเพณีต่างๆ ด้วย เช่น จะประดับยศให้เจ้าอินเดียอย่างไร จะให้แต่งกายอย่างไร ใส่หรือถอดรองเท้าในกรณีไหน
สัญลักษณ์ที่บอกลำดับและความสัมพันธ์ของฐานานุศักดิ์ ล้วนเพื่อสยบการแข็งขืนและสลายความแตกต่างของเจ้าระดับต่างๆ ซึ่งถือเป็นการ “ล้างไพ่” ระบบเก่า
พระราชพิธีนี้จึงไม่ได้เป็นอีเวนต์ที่แค่ปรนเปรอสายตา แต่เป็นอัตลักษณ์ของชาติซึ่งมีผลต่อความเชื่อของผู้เข้าร่วม และจะกลายเป็นจารีตที่จะถูกสืบทอดต่อไปอีกนาน
บทความของโคห์นมีรายละเอียดมากมาย เขาเล่าเรื่องการเตรียมงาน การจัดเวที การยิงสลุต สวนสนาม สุนทรพจน์ และการจัดที่นั่งของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งชื่อของผู้จัดงาน เช่น ผู้สำเร็จราชการ รัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหาร
สำหรับการออกแบบสัญลักษณ์ต่างๆ ดีไซเนอร์คนสำคัญคือ จอห์น ลอกวู้ด คิปลิ้ง แห่งมาโย โรงเรียนศิลปะชื่อดังในละฮอร์ ซึ่งเป็นทั้งครูสอนศิลปะและภัณทารักษ์ของมิวเซียม (ที่น่าสนใจคือเป็นพ่อของนักเขียนที่ชื่อรัดยาร์ด คิปลิ้ง)
เขาได้ออกแบบตกแต่งสถานที่ และประดิษฐ์เครื่องแบบของทหารและข้าราชการ ซึ่งมีทั้งผ้าโพกหัว เสื้อ กางเกง ผ้าคลุม เหรียญตรา และเครื่องหมายต่างๆ เช่น ธง ป้าย เครื่องแบบ อิสริยาภรณ์
เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างศาสนาหรือบอกว่านี่ไม่ใช่ศิลปะของทั้งฮินดูหรือมุสลิม ลอกวู้ด คิปลิ้ง จึงใช้สไตล์ยุควิกตอเรียของอังกฤษและยุคกลางของยุโรป แต่ดัดแปลงให้เป็นอินเดียหรือมีความแท้ (authenticity) อย่างที่เขาเห็น
สีและรูปทรงของสิ่งของเหล่านี้จะมีความหมายมากเพราะพระราชพิธีมีขนาดใหญ่โต จัดกลางแจ้ง และทำงานกับหลายสัมผัสของร่างกายของผู้เข้าร่วม โคห์นเรียกมันว่า ritual idiom หรือภาษาของพิธีกรรม อันประกอบด้วยศัพท์แสงและไวยากรณ์ใหม่ๆ ซึ่งจะถูกใช้ต่อไป แม้เมื่อประเทศที่เคยถูกเรียกว่าอินเดียเป็นอิสระจากอังกฤษแล้ว
และทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ใหม่หรืออินเดียที่เพิ่งสร้าง

ในตอนท้าย ดูเหมือนหนังเรื่อง Victoria and Abdul จะพยายามตอบว่า อับดุลเป็นผู้จงรักภักดีหรือนักต้มตุ๋น? เมื่อราชวงศ์ ข้าราชบริพารและนักการเมืองรวมหัวกันขุดคุ้ยประวัติของเขาและเอาไปฟ้องราชินี รวมทั้งขู่ว่าถ้าไม่ไล่เขาออก จะถอดวิกตอเรียออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม เพราะหนังทำให้เขาเป็นตัวละครที่มีมิติเดียวหรือแสดงออกไม่มากนัก จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ผู้ดูไม่รู้ว่าอับดุลคิดอย่างไรจริงๆ
รับสั่งของพระนางเจ้าวิกตอเรียกลับพูดถึงปัญหานี้ได้ดี ในฉากที่ยืนขึ้นเพื่อตอบโต้กับคนที่รุมกันขู่ เธอย้อนถามว่า “แล้วต่างกับพวกเธออย่างไรล่ะ?” เพราะมองให้กว้างที่สุด อับดุลอาจจะไต่เต้าเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ แต่ทุกคนทั้งในวังและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งอาจจะด้วยความเห็นแก่ตัวและอคติของตนเอง ก็กำลังต่อสู้ดิ้นรนแบบนั้นเหมือนกัน
แต่สิ่งที่แต่ละฝ่ายช่วยกันสร้าง ขุดคุ้ย หรือกระจายออกไป จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง และเป็นประเพณีที่นับถือสืบต่อมาจนทุกวันนี้