อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : เมียนมาช่วงเปลี่ยนผ่าน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

นับเป็นวาสนาของผมและทีมวิจัย ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่ต้องตอบโจทย์ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) ให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย

ดังนั้น ทีมวิจัยของพวกเราจึงต้องประยุกต์ตำราจากหิ้งและห้องสมุดออนไลน์ทั้งหลายมาใช้กับนโยบายสาธารณะของการลงทุนอุตสาหกรรม อันต้องลงภาคสนามบ่อยครั้ง

พูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสีย (stake holder) ทั้งหลาย เช่น ภาคอุตสาหกรรมเอง คนในพื้นที่ คณาจารย์ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สื่อมวลชนท้องถิ่นซึ่งสำคัญมาก รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับภาคอุตสาหกรรม

ครั้งนี้ หลังจากกลับมาจากเมืองกวางบินห์ (Quang Bin) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เรากลับมาพูดคุยกับทีมวิจัยร่วมชาวพม่าของพวกเราที่มหาวิทยาลัยเมาะลำไย (Mawlamyine University) ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จึงขออนุญาตเล่าเรื่องที่ได้พบมาให้ผู้อ่านทราบ

 

ตามหาออง ซาน ซูจี ที่เมาะลำไย

ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีว่าเมียนมากำลังเป็นประเทศดาวเด่นของโลกอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ในหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน

ด้านแรกคือ การเปิดประเทศและระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้น

เศรษฐกิจเมียนมาได้เข้าสู่ระบบและกติกาของระบบทุนนิยมโลก (World Capitalism) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีการปิดตายระบบเศรษฐกิจและสังคมจากระบบทุนนิยมโลกด้วยนโยบาย วิถีสังคมนิยมแบบพม่า (Burmese Way to Socialism) ยาวนานร่วมสี่ทศวรรษคือ ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา

สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ที่ปกครองโดยผู้นำทหารพลิกโฉมไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย (Democratization) การปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภาและตัวแทนประชาชนและชาติพันธุ์ต่างๆ โดยพรรคการเมืองหลายพรรคการเมือง

ที่บอกว่าพลิกโฉมหน้าเพราะชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2010 ของพรรค National League for Democracy-NLD ที่นำโดยท่านออง ซาน ซูจี และพลพรรคของท่าน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อระบบเศรษฐกิจเมียนมาเกาะเกี่ยวกับระบบทุนนิยมโลกอีกครั้งหนึ่ง เราจะเห็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าไปเมียนมาจำนวนมาก

มากทั้งจำนวนเงินลงทุนและมากด้วยความสนใจของหลายประเทศทั่วโลก

แต่การลงทุนที่รวดเร็วก็พบกับความล่าช้าของระบบราชการ กฎระเบียบที่ไม่ได้มาตรฐาน รัฐบาลเมียนมารับฟังเสียงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและคำติและเตือนของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศเมียนมามากขึ้น

ที่สำคัญมาก พื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้คนในท้องถิ่นยังมีความสำคัญอยู่มาก อำนาจจากเมืองหลวงเนปิดอว์ยังไปไม่ถึงในความเป็นจริงอีกหลายพื้นที่ หลายชาติพันธุ์และอาจจะซับซ้อนกว่าเดิม

 

กระบวนการเป็นประชาธิปไตยของเมียนมาก็เช่นกัน ประชาธิปไตยในเมียนมาเกิดขึ้นไม่ได้เพียงชั่วข้ามคืน ฉันใดก็ฉันนั้น ให้ดูตัวอย่าง กว่าแปดทศวรรษของประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาสิครับ

พรรคการเมืองใหม่แต่คนหน้าเก่าๆ เพิ่งได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนพรรคการเมืองได้ไม่นานนี่เอง หลังจากการรัฐประหารครั้งที่ 18 การรัฐประหารเมื่อ 2557 นี่เอง ซึ่งก็หาใช่รัฐประหารครั้งสุดท้ายของเพื่อนบ้านเมียนมาด้วย

ดังนั้น ประชาธิปไตยในเมียนมาเพิ่งก่อตัวและเริ่มตั้งไข่ พรรค NLD ได้คะแนนมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็เป็นรัฐบาลมือใหม่ มีรัฐมนตรีผู้เชี่ยวชาญการบริหารไม่มาก

ผู้บริหารจำนวนหนึ่งมาจากเทคโนแครตเก่าที่เคยลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แล้วกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD

รัฐมนตรีจำนวนหนึ่งไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหาร มีแต่ประสบการณ์ของการเป็นแกนนำนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในขณะที่กระทรวงสำคัญคือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงกิจการชายแดน กระทรวงกิจการกลุ่มชาติพันธุ์ยังอยู่ในมือของนายทหารซึ่งยังมีบทบาทสูง

สมาชิกรัฐสภาร้อยละ 25 ก็ยังต้องเชิญนายทหารและผู้นำเหล่าทัพมาดำรงตำแหน่งอยู่

ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภาประจำรัฐซึ่งยังอายุน้อยและน้อยด้านประสบการณ์การบริหารและการเมืองจึงมีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

แต่ผลที่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางจะรับไปปฏิบัติจึงมีน้อย

 

ถึงกระนั้นก็ตาม เมียนมากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านในทุกๆ เรื่อง เพื่อนร่วมงานที่เชี่ยวชาญเมียนมาบอกกับผมอีกครั้งหนึ่งว่า มาเมียนมาทีไร เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทุกครั้งไป

ซึ่งก็จริงอย่างการวิเคราะห์ของเพื่อนผมด้วย

ก่อนที่เราจะเดินทางมาที่เมืองเมาะลำไย เมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศเพื่อประชุมร่วมกับนักวิจัยฝ่ายเมียนมา มีการลงนามสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกลางกับอีก 3 รัฐ หนึ่งในนั้นคือการลงนามหยุดยิงของพรรคมอญใหม่ (New Mon State) ซึ่งปกครองรัฐมอญซึ่งเป็นรัฐที่เมืองเมาะลำไยเป็นเมืองหลวง

พวกเราได้รับการประสานงานว่า นักวิจัยซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเมาะลำไยต้องเตรียมการต้อนรับคณะที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี ที่มีกำหนดการกล่าวปราศรัยและร่วมงานฉลองการเจรจาหยุดยิงที่เมืองเมาะลำไยด้วย

พวกเราซึ่งเป็นนักวิจัยจากศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สังเกตการณ์ในกระบวนการสันติภาพของเมียนมา อันเกี่ยวกับรัฐมอญโดยตรง

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทีมวิจัยได้เข้าร่วมงานแสดงเกี่ยวกับการฉลองการหยุดยิงและสันติภาพที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเมาะลำไย เป็นงานแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญ เช่น กะเหรี่ยง ยะไข่ มอญ พม่า พะโอ มีสมาชิกสภารัฐมอญ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลมอญ ผู้นำชุมชน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเมาะลำไยเข้าร่วมในที่ประชุมแห่งนั้นเป็นจำนวนมาก

แต่น่าเสียดาย ผมไม่เห็นท่านออง ซาน ซูจี เข้าร่วมงานและมากล่าวปราศรัยเรื่องการหยุดยิงของรัฐมอญแต่อย่างใด

ผู้ใหญ่ในงานบอกกับผมว่า เพื่อระบบความปลอดภัยของรัฐบาล ท่านออง ซาน ซูจี ทีมงานของท่านเลื่อนการเดินทางมาเมืองเมาะลำไยอย่างกะทันหัน

เรื่องระบบความปลอดภัยที่ท่านกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรฮิงญาและระเบิดอีกหลายลูกที่ระเบิดที่ธนาคารในรัฐฉานซึ่งมีผู้เสียชีวิตด้วย (1) ระเบิดที่เมืองหลวงรัฐยะไข่หลายลูก และอาจเกี่ยวกับระเบิดที่บ้านพักของท่านออง ซาน ซูจี ที่เมืองย่างกุ้งก่อนหน้านั้นด้วย

กระบวนการประชาธิปไตย การหยุดยิงและระเบิดคือภาพจริงของเมียนมาช่วงเปลี่ยนผ่าน

—————————————————————————————————————————
(1) ระเบิดที่ Yoko Bank ในรัฐฉาน (Shan) ทางเหนือของเมียนมาเกิดขึ้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2018 มีคนเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 11 คน อ้างจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 21 กุมภาพันธ์ 2561 http://thaipost.net/main/detail/3618. (เข้าถึง 22 กุมภาพันธ์ 2561)