อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : THE BROKEN LADDER รังนอนอันหนักอึ้ง ที่ไม่อาจเอื้อมถึงวิมานในอากาศ (เพราะ) บันไดหัก

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ด้วยความที่ในระยะนี้มีนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจให้ดูชมกันหลายนิทรรศการ ก็เลยต้องหยิบมาเล่าสู่ให้อ่านกันบ่อยสักหน่อย

อย่างเช่น ในนิทรรศการที่เพิ่งได้ไปดูมาหมาดๆ ที่มีชื่อว่า

THE BROKEN LADDER หรือบันไดหัก

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนเราที่สุด และเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 อันสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ อย่าง “บ้าน” นั่นเอง

และบ้านที่วันทนีย์กำลังพูดถึงนั้นก็ไม่ใช่บ้านของใครที่ไหน

แต่เป็นบ้านของเธอเองนั่นแหละ

ในนิทรรศการครั้งนี้ วันทนีย์แสดงผลงานศิลปะที่เธอทำขึ้นด้วยการกู้เงินซื้อบ้านที่เธอ (และครอบครัว) อยู่อาศัยจริงๆ โดยไม่ได้ทำการอุปโลกน์ขึ้นแต่อย่างใด

โดยเธอนำกระบวนการและหลักฐานในการซื้อบ้าน มาใช้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในผลงาน

เรียกได้ว่าชีวิตจริงและการทำงานศิลปะของเธอนั้นทับซ้อนและหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก

“จริงๆ งานส่วนใหญ่ที่เราทำนั้นมีที่มาจากชีวิตจริงหมด ลักษณะวิธีการทำงานเราค่อนข้างจะใช้ชีวิตตัวเองเป็นตัวอย่าง เป็นแกนหลักในการหาข้อมูล เรารู้สึกว่ามันทำให้เราไปต่อได้ เราไม่สามารถวางตัวเป็นบุคคลที่สามที่มองคนอื่นแล้วเอาเรื่องราวมาบอกเล่า เราจะเข้าใจมันก็ต่อเมื่อเราสัมผัสด้วยตัวเอง”

“ตอนซื้อบ้านหลังนี้ เราตั้งใจจะทำเป็นงานศิลปะตั้งแต่แรก เราเก็บข้อมูล เราถ่ายรูปทุกอย่างเก็บไว้หมดเลย เพราะก่อนหน้านี้เราเคยเป็นหนี้จากการทำงานศิลปะ พอแสดงเสร็จก็แทบไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เก็บไม่ได้สักอย่าง เราก็ตั้งคำถามว่า เราเป็นหนี้จากการทำงานศิลปะแบบนี้นี่เราฉลาดหรือโง่กันแน่? เราก็เลยคิดว่า ต่อไปถ้าเราจะต้องเป็นหนี้เพื่อการทำงานศิลปะ จะต้องได้อะไรสักอย่างกลับมา เราก็วางแผนและร่างโครงการว่าจะซื้อบ้านเป็นงานศิลปะ ก็คิดว่าจะทำยังไงให้ได้บ้านมา เราก็ไปทำเรื่องกู้เงินสำหรับซื้อบ้าน วันแรกที่กู้ผ่าน ได้สำเนาเช็คเงินกู้มา เราก็คิดว่านี่แหละ ศิลปวัตถุชิ้นแรกของเรา เราพยายามพูดถึงบ้านที่ไม่ใช่กายภาพในแบบตรงไปตรงมา หากแต่พูดในเชิงแนวความคิดของมัน”

ที่เป็นที่มาของผลงานชิ้นแรกอย่าง The Reckoning ที่ตั้งตระหง่านกลางห้องแสดงงาน คือสำเนาแคชเชียร์เช็ค จำนวนสองล้านเก้าแสนหกหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน ที่วันทนีย์กู้เพื่อซื้อบ้าน ซึ่งวางอยู่บนแท่นหินอ่อนทรงสี่เหลี่ยมเรียบหรู ครอบทับด้วยกล่องกระจกใส จนดูราวกับเป็นผลงานศิลปะอันสูงค่า

แต่ผลงานศิลปะชิ้นนี้ของเธอเป็นสิ่งที่ล้ำค่าจริงหรือ? เพราะอันที่จริง สิ่งที่ทำให้เธอซื้อบ้านได้ก็ไม่ใช่งานศิลปะที่เธอสร้างขึ้นด้วยซ้ำไป หากแต่เป็นอาชีพอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เป็นเครื่องรับประกันว่าเธอจะสามารถผ่อนบ้านไปได้อีกหลายสิบปีต่างหาก

“ภาระในการผ่อนบ้านสำหรับเรามันเหนื่อยและเปราะบางมาก เวลา 30-40 ปี เราไม่รู้ว่าเราจะตายก่อนหรือเปล่า ชีวิตก็ไม่แน่นอน เกิดตายขึ้นมาแล้วบ้านยังผ่อนไม่หมดจะทำยังไง? หรือถ้าถามว่าอาจารย์เป็นอาชีพที่มั่นคงไหม? เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ เกิดวันไหนโดนปลดโดนอะไรขึ้นมาก็จบ ทุกอย่างสำหรับเรามันเปราะบางมาก เราก็เลยอยากทำงานกับกระจก แล้วเราก็นึกถึงตัวโฉนดของบ้านที่เราไม่เคยได้จับต้องจริงๆ เราก็เลยอยากเขียนรูปโฉนดด้วยการจาร (engrave) ลงบนกระจก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าพอเราเขียนลงไปอยู่ๆ กระจกมันอาจจะแตกลงมาตอนไหนก็ได้”

ซึ่งเป็นที่มาของผลงานชิ้นที่สองอย่าง We all live under the same sky, but we don”t all have the same horizon ศิลปะจัดวางจากแผ่นกระจกใสบานใหญ่ขนาด 240 x 360 เมตร ที่วางพิงบนผนังห้องแสดงงาน กึ่งกลางกระจกมีร่องรอยที่ถูกจารด้วยเหล็กแหลมเป็นรูปสี่เหลี่ยม อันเป็นภาพแทนของโฉนดที่ถูกขยายจากขนาดดั้งเดิมจนใหญ่ขึ้น 10 เท่า เพื่อให้มองเห็นสัญลักษณ์ของแปลนบ้านในโฉนดได้ชัดถนัดตา แผ่นกระจกใสขนาดใหญ่ที่วางพิงผนังอย่างหมิ่นเหม่ ชวนให้เรานึกถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ (แต่เปราะบาง) ของการมีบ้าน อันเป็นความฝันที่ชนชั้นกลางในเมืองมีร่วมกัน

“ในโฉนดของบ้านทุกหลังจะมีตัวเลขอยู่สี่ชุดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวบอกว่านี่เป็นพื้นที่ของบ้านที่เราซื้อ และตัวเลขนี้จะต้องตรงกับหลักหมุดที่ฝังอยู่บนพื้นดินใต้บ้าน ที่เรียกว่าการรังวัดที่ดิน เราเลยฝังหมุดสี่อันลงบนพื้น และด้วยความที่เราคิดว่าที่ดินมันมีราคาแพงเหมือนทองคำ เราก็เลยทำหมุดสี่อันนี้ขึ้นจากทองคำ 18 เค”

อันเป็นที่มาของผลงานชิ้นที่สามอย่าง The Pins ศิลปะจัดวางในรูปหมุดทองคำ ที่ฝังอย่างแนบเนียน (จนแทบสังเกตไม่เห็น) บนพื้นห้องแสดงงาน ทำมุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามตำแหน่งที่ได้จากการคำนวณสัดส่วนของบ้านจริงต่อขนาดพื้นที่ของห้องแสดงงาน เพื่อสร้างเป็นพื้นที่สมมติของบ้านของศิลปินขึ้นมา

และถ้าผลงานสามชิ้นในห้องแสดงงานชั้นล่าง แสดงภาวะ (และภาระ) อันหนักอึ้งเหลือรับ ที่ตัวศิลปินและคนชั้นกลางทั้งหลายต้องแบกรับ ในการที่จะมีรังนอนเป็นของตัวเองแต่พอตัวสักหลัง

ผลงานในห้องแสดงงานชั้นบนอย่าง Castle in the air ก็แสดงถึงภาวะอันล่องลอยและเบาหวิวเหลือทนของชนชั้นสูง ที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาล จนเราแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าพวกเขาได้มันมาครอบครองได้อย่างไรกัน

ผลงานวิดีโอจัดวางบนจอโทรทัศน์สี่เหลี่ยมเนี้ยบกริบ ที่ฉายภาพเคลื่อนไหวของทิวทัศน์ในย่านโครงการที่อยู่อาศัยของเหล่าบรรดาเศรษฐีมีทรัพย์ ที่ถ่ายจากหน้าต่างรถที่กำลังแล่นอยู่ (ราวกับว่าตัวเองไม่รวยพอที่จะได้เหยียบย่างเข้าไป)

วิดีโอมีเสียงประกอบที่ฟังดูคล้ายกับเซลส์ขายบ้านกำลังบรรยายสรรพคุณอันเลิศหรูของบ้านในโครงการอภิมหาหมู่บ้านที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “สถาปัตยกรรมแบบเมดิเตอร์เรเนียนระดับเวิลด์คลาส” ซึ่งความขันขื่นอยู่ตรงที่ บ้านที่เซลส์กำลังพูดถึงอยู่นั้นเป็นบ้านระดับรองที่มีราคาย่อมเยาลงมาหน่อยแล้ว (เพราะบ้านที่แพงกว่านี้ขายหมดแล้วจ้ะ) แถมเสียงบรรยายยังสำทับว่า “ถ้าซื้อตอนนี้ โครงการมีโปรโมชั่นลดราคาจาก 41 ล้านเหลือแค่ 33 ล้าน” อีกด้วย แหม่ ถูกจริงอะไรจริง!

“เราอยากสร้างภาพเปรียบเทียบ ว่าขนาดระดับชนชั้นกลางอย่างเราซื้อบ้านยังกระอักขนาดนี้ คนข้างล่างจะสาหัสขนาดไหน แล้วคนเหล่านี้เอาเงินจากไหนมาซื้อบ้านราคาร้อยล้าน เราก็ทำเรื่องนัดหมายขอเข้าไปดูโครงการบ้านหรูกับน้องอีกคนในฐานะลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้าน บทพูดในงานวิดีโอก็คือบทสนทนาจริงที่ถูกเขียนเรียบเรียงใหม่และลงเสียงใหม่”

“ตอนไปเซลส์เขาก็คงเห็นแหละ ว่าเราคงไม่ซื้อ แต่เขาก็ถามว่าจะให้ติดต่อให้เข้ามาทำสัญญาเมื่อไหร่ ค่าจองล้านนึงน่ะ! พอเจอแบบนี้เราก็ตั้งคำถามว่า คนที่ซื้อคือคนระดับไหนวะ! ประเทศเรามีคนแบบนี้ด้วยเหรอ? แล้วทำไมคนจำนวนมากที่เหลือในประเทศเราถึงไม่มีที่อยู่อาศัย? ทำไมพวกเราต้องซื้อที่ดินในราคาแพงมหาศาลขนาดนี้?”

“เราอยากจะให้เห็นภาพรวมของความเหลื่อมล้ำตรงนี้”

ด้วยการจับคู่เปรียบอันแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างบ้านสองแบบ วันทนีย์ใช้ประเด็นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ว่านี้ สะท้อนสภาวะความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ด้วยวิธีการสำรวจสิทธิในการครอบครองบ้านของคนต่างชนชั้น อันนำไปสู่การค้นพบประเด็นทางการเมืองของการครอบครอง

เธอตั้งคำถามว่า บ้านที่เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 และทรัพย์สินที่เราครอบครองอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การครอบครองเชิงสัญลักษณ์ ที่ผู้มีอำนาจในสังคมทั้งหลายเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนดินให้กลายเป็นทองคำ สิทธิในการครอบครองของเราจึงไม่ได้หมายถึงการถือครองตลอดไป หากแต่สามารถถูกริบคืนได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม

“เรื่องที่เราพูดอาจดูเหมือนเป็นแค่เรื่องส่วนตัว แต่เรื่องส่วนตัวที่ว่า ก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปต้องเจอกันทุกคน แต่มันไม่ถูกพูดถึง เพราะมันกลายเป็นเรื่องชาชิน จริงอยู่ ว่าการที่คุณจะได้บ้านมา มันก็เป็นสิ่งที่ต้องซื้อหา เราเข้าใจ แต่ด้วยโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำแบบนี้ มันทำให้คนธรรมดาอย่างพวกเราลำบากมากในการจะมีบ้านสักหลัง เราคิดว่ามันไม่แฟร์ เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ควรจะต้องถูกพูดถึง”

การแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่อยู่อาศัยและที่ดินที่จำกัดอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันให้เห็นว่า การปีนบันไดทางสังคมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือแม้แต่การจะลืมตาอ้าปากในรัฐที่แทบจะปราศจากสวัสดิการนั้นเป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ที่แทบจะไม่มีวันเป็นจริงได้ เพราะ “บันได” ที่ว่าถูกทำให้หักพัง (BROKEN LADDER) ไปนานแล้ว นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมภายใต้ฟ้าเดียวกัน คนเราจึงไม่เคยอยู่อย่างเท่าเทียมกันได้เลย

นิทรรศการ BROKEN LADDER จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2561 สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์เว่อร์ และข้อมูลจากบทความประกอบนิทรรศการ “วิมาน” ของธนาวิ โชติประดิษฐ