นิ้วกลม : โตขึ้นผมจะเป็นเจ้าคนนายคน

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1 ผมเกิดมาในครอบครัวคนจีน

ภาพที่จำได้คือ อาม่าตื่นตีห้ามาต้มเก๊กฮวยขายเพื่อเลี้ยงครอบครัว

นามสกุลของผมคือ “เฮ้งสวัสดิ์” ตอนเด็กๆ เพื่อนๆ เรียกผมว่า “ไอ้เฮ้ง” แม้จะเป็นคำแรกของนามสกุลของผม แต่เมื่อถูกนำไปใช้เรียกในลักษณะนี้ ผมก็กลายเป็นคนที่ไม่ชอบนามสกุลของตัวเองไปเลย

เพราะโดยวิธีเรียกทั้งของครูและเพื่อนในโรงเรียนมันมีน้ำเสียงของการล้อเลียนหรือแซวในความเป็นคนจีนของผมอยู่ในนั้นด้วย

ผมยังคิดในใจเลยว่า ทำไมอากงอาม่าไม่เปลี่ยนนามสกุลให้มันดู “ไทย” กว่านี้ เหมือนที่เพื่อนเชื้อสายจีนคนอื่นเขาใช้กัน

ก็ใช่, เขาก็จีนเหมือนเรา แต่เขาดูกลมกลืนกับเพื่อนคนอื่นๆ มากกว่า

2 ไม่เพียงแค่ “ไอ้เฮ้ง” ผมยังถูกเพื่อนเรียกด้วย “สมญา” อีกหลายชื่อ

ส่วนใหญ่เกี่ยวกับความดำของสีผิว (ซึ่งก็แปลก คนจีนอะไรวะตัวดำ) เช่น ไอ้เหนี่ยง ไอ้ดำ ไอ้มืด

ยิ่งช่วงที่มีละครโทรทัศน์เรื่องข้าวนอกนา ผมก็กลายเป็นไอ้ข้าวนอกนา ไอ้ดำตับเป็ดไปด้วย

หนักข้อกว่านั้นบางคนก็เรียกสองปมผสมกันซะเลย “ไอ้เจ๊กดำ”

3 ยัง, ยังไม่จบ

ผมยังถูกล้อปมด้อยอื่นๆ อีก ทั้งที่พยายามดื่มนมก็แล้ว เล่นบาสก็แล้ว ส่วนสูงของผมก็เอื้อให้ถูกเพื่อนเรียกว่า “ไอ้เตี้ย” ได้จนจบมัธยม

หรือจะเป็นปมตาตี่ซึ่งถูกเรียกว่า “ไอ้ตี๋” หรือถูกล้อว่าเห็นโลกแคบหรือเปล่า เพราะตอนนั้นเทรนด์ลูกครึ่งฝรั่งฮิตกว่าหน้าตาเกาหลีแบบในตอนนี้

แต่ผมก็ไม่เกาหลีอยู่ดี

เกาหลีอะไรจะดำขนาดนี้

คงต้องเป็น “เกาหลีแดดเดียว”

4 เรื่องพวกนี้แปลก แม้เราจะคับค้องใจแค่ไหนที่ถูกล้อ

แต่ทันทีที่เราเห็นเพื่อนที่มีปมอื่น เราจะจัดการมันทันทีด้วยปมที่ว่านั้น เช่น ไอ้เหี่ยว-เพื่อนร่างผอมแห้งคนหนึ่ง

ไอ้อ้วน-เพื่อนที่อ้วนฉุ

ไอ้หมู-เพื่อนที่อ้วนกว่าไอ้คนเมื่อกี๊

ไอ้หัวล้าน-เพื่อนที่ผมบางกว่าคนอื่น มองเป็นเรื่องปกติก็ปกติ

แต่สิ่งที่น่ามองให้พ้นไปจากความปกติของมันก็คือ วัฒนธรรมกดขี่กันและกันผ่านปมต่างๆ ที่แลดูต้อยต่ำกว่าของคนอื่นเช่นนี้มันสร้างเราขึ้นมาเป็นคนแบบไหน

หรือมันสร้างสังคมแบบไหนขึ้นมากันหนอ

5 แต่เล็กจนโต ผมรู้สึกได้เลยว่าตัวเองนั้นอยู่ในลำดับชั้น “กำลังพัฒนา”

หากจัดหมู่ผู้คนเหมือนประเทศ ผมไม่ใช่ประเทศ “พัฒนาแล้ว” แน่ๆ

ดังนั้น จึงมีข้อตระหนักอยู่ในใจเสมอว่า จะต้องพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมคนอื่น

ในเมื่อเขาล้อเราว่าเป็นเจ๊กเป็นจีน เราต้องเป็นจีนที่กลมกลืนกับเพื่อนๆ คนไทย ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่เป็นรองใคร ต้องตั้งใจเรียน

เช่นกันกับปมอื่นๆ ที่ผมพยายามมองหาหนทาง “พัฒนา” เพื่อหนีตัวเองไปจากสิ่งที่เพื่อนล้อ ผมเคยคิดจะไปทำตาสองชั้นแก้อาการ “ตี๋” เคยคิดอยากเข้าคอร์สขัดสีผิวให้ขาวขึ้นบ้างก็ยังดี

ผมพยายามซดนมทุกคืนก่อนนอนเพื่อจะได้สูงขึ้นบ้าง

ทั้งหมดนี้มิเพียงเพื่อลดเสียงล้อเลียนในชีวิต

แต่ผมยังคิดว่าถ้าผมพ้นสภาพต้อยต่ำนั้นมาได้ก็เป็นทีผมบ้างที่จะได้ล้อเลียนคนอื่นที่ต่ำต้อยกว่า

6 ว่ากันตรงๆ แต่เล็กจนโต ผมได้ยินถ้อยคำในเชิงดูหมิ่นชนชาติอยู่เนืองๆ จากปากผู้ใหญ่ในสังคม

เช่น คำว่าลาว เขมร พม่า กลายเป็นคำที่ใช้ล้อเลียนเพื่อนฝูงไปได้เสียนี่

ไอ้คนที่ถูกคนอื่นล้อว่าเป็นเจ๊กก็โต้ตอบเพื่อนกลับไปว่า “มึงมันลาว”

เป็นเช่นนี้สลับไปมา

7 ป๊ากับแม่บอกกับผมเสมอว่าให้ตั้งใจเรียน ต้องเข้าโรงเรียนดีๆ ให้ได้

เข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง จะได้เป็นเจ้าคนนายคน

ผมพยายามอย่างหนักเพื่อสอบเข้าโรงเรียนมัธยมคุณภาพ เพื่อจะได้อยู่ในสังคมของเพื่อนที่มีคุณภาพ

เช่นกันกับตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ญาติมิตรต่างพูดชื่อมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่งที่ถ้าเข้าไปแล้วจะรู้สึกเลยว่าผู้นั้นมีสติปัญญาหรูหราอีกระดับ

เด็กๆ จึงต้องพยายามอย่างหนักเพื่อพิชิตเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

8 ผมและเพื่อนๆ ปีนป่ายข้ามผ่านคำแซว คำล้อเลียน ของเพื่อนที่สูงส่งกว่าในสารพัดด้าน ทั้งสรีระ รสนิยม ฐานะการเงิน เชื้อชาติ สีผิว ความสูง ฯลฯ (บางครั้งเราก็เป็นฝ่ายกดขี่เขาเหมือนกัน แล้วแต่เรื่องไหนใครได้เปรียบ) เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง

เมื่อสอบได้ เราคิดว่าเราอยู่บนยอดของพีระมิดแล้ว

แต่เดี๋ยวก่อน!

ยัง!

ในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นยังมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “รุ่นพี่” คอยต้อนรับพวกเราอยู่

9 โชคดีหน่อยที่การรับน้องในคณะของผมเป็นไปอย่างสนุกสนานและเป็นมิตร

แต่ในหลายๆ รายละเอียดก็อาจมีวิธีคิดคล้ายกันกับการรับน้องทั่วๆ ไป ที่รุ่นพี่มักเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบบางอย่าง ประตูบางบานห้ามเดินผ่าน พื้นที่บางแห่งห้ามนั่งเล่น

เติบโตมาก็เข้าใจว่ามันเป็นพิธีกรรมเพื่อรับเปลี่ยนแปลงผู้คนสู่การเป็นพวกเดียวกัน

แต่ในมุมหนึ่ง นี่ก็อีกสิ่งในชีวิตที่เราอาจเก็บสะสมไว้ในตัวโดยไม่รู้ตัวว่า ถ้าเราผ่านการรับน้องไปได้ ถึงตาเราแล้วเราจะทำแบบนี้กับน้องบ้าง หรือโหดกับน้องมากกว่าที่พี่โหดกับเรา

ไม่ต้องนับเลยว่า หากการรับน้องบางที่หนักหนากว่านี้ รุ่นน้องจะเติบโตไปเป็นรุ่นพี่แบบไหน

10 แล้วเราก็กลายไปเป็นรุ่นพี่ที่รอรับน้อง

แล้วเราก็กลายไปเป็นบัณฑิตที่เรียนจบ ออกมาพบโลกภายนอก ที่มีอีกหลายเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ

เราต้องพยายาม “พัฒนา” ตัวเองให้คนอื่นล้อเลียนเราไม่ได้

เราต้องใส่เสื้อผ้าที่หรูหราดูดี

ฐานะของเราจะสะท้อนผ่านทุกสิ่งอย่างที่เราบริโภค รถที่ขับจะทำให้ผู้คนยำเกรง คนเดียวกันขับรถต่างยี่ห้อกันย่อมได้รับการต้อนรับราวกับคนคนละชนชั้น

เป็นอีกครั้งที่เราต้องพัฒนาฐานะและสร้างตัวตนไปสู่จุดที่สูงกว่าคนอื่น (เท่าที่จะทำได้) ให้รวยกว่า เก่งกว่า ประสบความสำเร็จกว่า มีชื่อเสียงกว่า หล่อกว่า สวยกว่า ผู้ดีกว่า มารยาทงามกว่า อะไรก็ว่ากันไป

เพราะสิ่งเหล่านั้นรวมกันแล้วคือ “อำนาจ” ที่ทำให้เราได้เปรียบ

11 เส้นทางชีวิตตั้งแต่เกิดจนโต (เผลอๆ อาจจะจนตาย) บอกกับเราว่า “มึงแพ้ไม่ได้” เพราะถ้าแพ้ เราจะถูกเหยียบ เราจะถูกล้อ เราจะกลายเป็นเบี้ยล่าง เราจะกลายเป็นฝ่ายถูกอำนาจเล่นงาน แต่ถ้าชนะ เราจะกลายเป็นฝ่ายมีอำนาจ และใช้อำนาจนั้นเล่นงานคนอื่นได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ตัวเองได้เปรียบ

เราจึงต้องสู้ เราจึงต้องชนะ

เราเติบโตขึ้นมาในสังคมที่หล่อหลอมเราด้วยค่านิยมและวัฒนธรรมเช่นนี้แทบทุกวินาทีที่เราใช้ชีวิต เราเห็นอยู่ว่าคนที่มีอำนาจมากกว่าได้เปรียบอย่างไร เราไม่ได้รังเกียจความได้เปรียบของอำนาจนั้น ตรงกันข้าม,

เราอยากเป็นหนึ่งในนั้น

12 นี่คือสังคมที่นิยามสิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วย “อำนาจ”

นี่คือสังคมที่เป็น “อำนาจนิยม” เราจึงมิได้ปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบพี่น้องร่วมสังคม

วินาทีไหน พื้นที่ไหน สถานการณ์ไหน ที่เราได้เปรียบ มีอำนาจมากกว่า เราจะไม่ลืมใช้อำนาจนั้นโดยทันที

โดยไม่สนใจว่าใครจะได้รับผลกระทบจากการทำเช่นนั้น หรือถ้าจะสนใจก็น้อยเหลือเกิน เพราะในหลายจังหวะของชีวิตเราตกเป็นผู้ถูกกระทำ เราใช้ชีวิตท่ามกลาง “อำนาจ” ที่กระทำกับเราอยู่ตลอดเวลาผ่านสิ่งต่างๆ ผ่านการกระทำต่างๆ เมื่อมีโอกาสเราจึงไม่พลาดที่จะสำแดง “อำนาจ” ของเราบ้าง ด้านหนึ่งก็เป็นการปลดปล่อยความอัดอั้นจากการเป็นผู้ถูกกระทำมาเนิ่นนาน

รถยนต์จึงไม่หยุดให้คนข้ามถนน เพราะรถยนต์ใหญ่กว่า มอเตอร์ไซค์จึงวิ่งบนฟุตปาธได้โดยไม่แคร์คนเดินเท้า เพราะมอเตอร์ไซค์มีอำนาจกว่า แรงกว่า รุ่นพี่จึงว้ากรุ่นน้อง เพราะคิดว่าตัวเองโตกว่าและมาก่อน ผู้ชายบางคนจึงข่มขืนผู้หญิง เพราะคิดว่าเพศชายเป็นใหญ่ อาจารย์จึงทำโทษลูกศิษย์ด้วยวิธีรุนแรง เพราะคิดว่าตัวเองมีอำนาจ สามีจึงลงไม้ลงมือกับภรรยา เพราะคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ในบ้าน ฯลฯ อีกมากมาย

ในมุมหนึ่งเขาเหล่านี้ก็เป็น “ผู้ถูกกระทำ” ในสถานการณ์อื่น ทำให้พวกเขาเลือกที่จะเป็น “ผู้กระทำ” ในสถานการณ์ที่ตนได้เปรียบ

13 สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงจึงมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงได้มาก เพราะทุกคนในสังคมต้องพยายามปีนป่ายขึ้นสู่จุดที่สูงกว่า การอยู่ในจุดที่ต่ำกว่านั้นมีรายจ่ายมาก คุณจะอับอาย คุณจะเสียโอกาส คุณจะถูกล้อเลียน เช่นนี้แล้วสังคมจึงเต็มไปด้วยการแก่งแย่งกันอย่างเข้มข้น และคนจำนวนมากก็อาจเข้าไม่ถึงสถานะอันสูงส่งนั้น

การศึกษาทางจิตวิทยาบอกว่า การกระทำที่รุนแรงคือความพยายามที่จะกำจัดความรู้สึกอับอายและขายหน้า แล้วแทนที่มันด้วยความภาคภูมิใจ

ในสังคมที่เราตกเป็นฝ่ายถูกกระทำให้รู้สึกอับอายได้ทุกเมื่อทุกเวลา จึงไม่แปลกที่เมื่อไหร่ที่เรามีโอกาสเราจะกระทำบางสิ่งที่รุนแรงต่อบางคน เพื่อจะได้รู้สึกภูมิใจกับตัวเองขึ้นมาบ้าง

คำด่าหยาบคายในโลกออนไลน์ การทำร้ายร่างกายคนที่อ่อนแอกว่า คำล้อเลียนคนที่ด้อยกว่า การรับน้องที่สั่งให้น้องทำนั่นทำนี่ ฯลฯ

เราอาจทำสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัวว่าลึกๆ แล้วเราอยากรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ากับเขาบ้าง ในโลกที่เต็มไปด้วยผู้ชนะและผู้มีอำนาจข่มเหงเรา

14 นี่คือความน่ากลัวของสังคมที่หล่อหลอมให้ทุกคนต้องเป็น “เจ้าคนนายคน” แทนที่จะหล่อหลอมให้ทุกคนในสังคมเป็นคนที่เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนกับเพื่อนร่วมสังคม สังคมที่ผลักดันให้ทุกคนต้องเอาชนะและไปสู่จุดสูงสุด แทนที่จะหล่อหลอมให้มองเห็นคุณค่าของกันและกัน และมุ่งสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น แทนที่จะถีบตัวเองให้สูงกว่าคนอื่น เราควรฉุดคนอื่นให้สูงขึ้นมาเท่าๆ กับเรามิใช่หรือ

แบบหลังคือสังคมที่นิยามชีวิตของตนเองและผู้อื่นด้วยความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน มีความเป็น “มนุษยนิยม” มากกว่า “อำนาจนิยม” เมื่อเรามองคนอื่นว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราจะหาหนทางที่จะอยู่ด้วยกันอย่างเท่าเทียม ร่วมมือมิใช่แข่งขัน ให้เกียรติไม่ใช่ก่นด่า และมองเห็นคุณค่าพร้อมให้โอกาสเขาได้แลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกัน อยู่ร่วมกันโดยตั้งเป้าว่าเราจะปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่อีกคนหนึ่งมีและเป็น-ไม่ต่างจากเรา

“อำนาจนิยม” ชวนให้เราเป็น “เจ้าคนนายคน”

“มนุษยนิยม” ชวนให้เราเป็น “คน”

จะต้องแก้ที่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อน เราจึงใช้อำนาจต่อกันน้อยลง หรือจะต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกันก่อน เราจึงจะลดความเหลื่อมล้ำได้ ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ใจคือ เรื่องนี้ไม่น่าใช่เรื่องของ “เจ้าคนนายคน” คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

มันเป็นเรื่องของ “คน” ในสังคมทุกคน ที่ต้องช่วยกันคิด