อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ลัทธิสุดโต่ง ข้อสังเกตบางประการ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ลัทธิสุดโต่ง (Extreme) จริงๆ มีอยู่ พัฒนาและดำเนินไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก ปัจจัยพื้นฐานที่มีการศึกษาได้อ้างสมมุติฐานของลัทธิสุดโต่ง ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ลัทธิสุดโต่งทางศาสนา (Religious Extreme)

ประการที่สอง ลัทธิสุดโต่งทางด้านชาติพันธุ์ (Ethnic Extreme)

ประการที่สาม ลัทธิสุดโต่งทางด้านการเมือง (Political Extreme)

ทั้งนี้ ในความคิดเห็นผม ทั้งสามสมมุติฐานล้วนมีผลที่ทำให้เกิดลัทธิสุดโต่งได้ เช่น ลัทธิสุดโต่งทางศาสนาย่อมส่งผลให้เกิดลัทธิสุดโต่งทางการเมืองด้วย

กล่าวคือ ลัทธิสุดโต่งทางศาสนาในบางสังคมอาจผลักดันหรือก่อให้เกิดการรอนสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมืองของชนกลุ่มเล็กๆ และคนชายขอบ (marginalize) ในสังคมนั้นก็ได้

ในบทความเล็กๆ นี้ อยากนำเสนอเพียง 2 ประเด็นคือ ประเด็นที่หนึ่ง สภาพการณ์ทั่วไปของลัทธิสุดโต่งในโลก

ประเด็นที่สอง ลองนำเสนอตัวอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อประกอบการพิจารณา

 

ลัทธิสุดโต่ง : สภาพการณ์ทั่วไป

จากการที่ผู้เขียนได้รับฟังข้อคิดเห็นจากนักวิชาการจากโลกมุสลิมที่ได้เข้าร่วมเสนอบทความในการประชุม Southeast Asia Consortium 2017 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ที่ประชุมแห่งนั้นได้ชี้ประเด็นให้เห็นถึงการดำรงอยู่และการเคลื่อนไหวในโลกมากมาย เช่น ในเยอรมนี ในศรีลังกา ในอินโดนีเซีย ในเมียนมา ในภาคใต้ของไทย

มีนักวิชาการชี้ให้เห็นว่า ในเยอรมนีลัทธิสุดโต่งต่อต้านคนที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์เยอรมัน ยิ่งมีการอพยพย้านถิ่นจากตรุกี แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางมากขึ้น และบางส่วนได้เป็นคนเยอรมัน ลัทธิสุดโต่งก็ยิ่งต่อต้านด้วยความรุนแรง

นอกจากในยุโรปแล้ว นักวิชาการเหล่านั้นชี้ให้เห็นว่า มีปัจจัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมายที่เป็นมูลฐานก่อให้เกิดลัทธิสุดโต่ง ได้แก่

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายของศาสนามากมาย ได้แก่ อิสลาม คริสต์ พุทธ ฮินดูและพราหมณ์ มากมาย ความหลากหลายของศาสนานี่เองอาจเป็นที่มาของความขัดแย้งทางความเชื่อ ซึ่งอาจกลายเป็นฉนวนที่ก่อตัวของลัทธิสุดโต่งเพื่อปกป้องศาสนาของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์มากมาย ในอินโดนีเซีย ในเวียดนาม ในเมียนมา รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ประเทศเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตและปฏิสัมพันธ์กับชาติพันธุ์อื่นๆ ที่แตกต่างกันไป

ในบางช่วงเวลา ปัญหาชาติพันธุ์ยังคงเป็นปัญหาความขัดแย้งในระดับชาติและมีกองกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระ

ตัวอย่างที่ดีในที่นี้คือ ปัญหาชาติพันธุ์ในเมียนมา ปัญหาชาติพันธุ์ยังคงก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงทางการเมือง

และกำลังทหารในหมู่เกาะมินดาเนาในประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ซึ่งไม่ยอมรับศาสนาและวัฒนธรรมศริสต์จากส่วนอื่นของประเทศ แต่พยายามคงไว้ซึ่งความเป็นมุสลิมในหมู่เกาะของตน

ลัทธิสุดโต่งยังคงสร้างความขัดแย้งในจังหวัดอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย ทั้งนี้เพราะไม่ยอมรับวัฒนธรรมและการปกครองของรัฐชวา

นักวิชาการในที่ประชุมแห่งนั้นเสนอว่า ไม่ว่าศาสนาไหน ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหนก็เป็นมูลฐานให้เกิดลัทธิสุดโต่งได้ ประเด็นที่ผมสงสัยคือ ลัทธิสุดโต่งคือ เป็นใครได้บ้างในสังคมนั้นๆ

มีการระดม (mobilize) พลังมวลชนจัดตั้งเป็นองค์กรทางสังคม (social organization) หรือไม่

เป้าหมาย (ultimate goal) ของลัทธิสุดโต่งคืออะไร สร้างความรุนแรงเป็นครั้งคราว หรือละลายชาติพันธุ์และศาสนาอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบต่อคำถามเหล่านี้จากวงสัมมนาครั้งนั้น

ทว่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ได้มีการหยิบยกลัทธิสุดโต่งมาศึกษาและแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลสำคัญว่า โลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม (discourse) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal-SDG) ขององค์การสหประชาชาติกันไปหมดแล้ว

 

SDG กับลัทธิสุดโต่ง

SDG ยั่งยืน ก็ชี้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น สบายขึ้น สะดวกขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ความทันสมัย (modernization) ความเป็นเมือง (urbanization) และเราควรทำให้เมืองของเราเป็นเมืองแบบ Smart City ซึ่งนักการเมืองและนักเทคโนแครตอ้างได้เพียงที่เดียว เมืองเดียวคือ สิงคโปร์

SDG มั่งคั่ง ก็ชี้ว่า คนรุ่นต่อไปหรือ New generation จะมีการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคนรุ่นเก่าเพราะความสามารถของเทคโนโลยี เช่น IT และเทคโนโลยีทางด้านโทรคมนาคม

ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงเป็น Start up ได้

ผมเห็นด้วยครับในความก้าวหน้าของ IT

ผมเห็นด้วยครับ โลกทัศน์ วิธีคิดและการดำรงชีวิตทั้งเรื่องงาน อาชีพ ความสัมพันธ์ของพวกเขากับสังคมภายนอกย่อมเปลี่ยนแปลงไป เช่น ต้องการทำงานอิสระ ต้องการร่ำรวยเร็วและมากในเวลาชั่วข้ามคืน เพราะพวกเขามีโลกเสมือนจริงทั้ง IT การสื่อสาร และโลกเสมือนจริงทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาดหุ้น Fintec และ crytocurrency ทั้งหลาย และโลกเสมือนจริงทางสังคม ใน social media ทั้งหลาย

ความจริงแล้ว ณ เวลานี้ เราไม่ได้ถกเถียงถึง โลกเสมือนจริงกับโลกจริง ว่าโลกเป็นอย่างไรกันแน่

เราไม่ได้ถกเถียงว่าโลกดิจิตอลดีกว่าโลกอะนาล็อกหรือไม่อย่างไร

เราไม่ได้โจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่า พวกโลกสวยกับพวกโลกเบี้ยว

โลกย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในหลายมิติพร้อมๆ กัน

แต่เราควรใคร่ครวญถึงมูลฐานบางประการที่ต้องตระหนักถึงการดำรงอยู่ การเคลื่อนไหว พลวัตและผลกระทบในหลายๆ มิติพร้อมๆ กันของมูลฐาน

เช่น ความแตกต่าง ความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค การครอบงำ อำนาจนำ เป็นต้น

เราควรเข้าใจโลกของลัทธิสุดโต่งด้วย