สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน เยือน ร.ร. I see U เรื่องดีปนเศร้าที่บ้านกอมูเดอ (10)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กลางหมู่บ้านกะเหรี่ยงรายล้อมด้วยป่าเขาสูงเสียดฟ้า ลำธารน้ำใสไหลผ่านท่วมท้น กรวดทราย กองหินใหญ่น้อย กลายเป็นถนนไปจนถึงเป้าหมายสุดท้ายใกล้ค่ำวันนั้น

โรงเรียนบ้านกอมูเดอ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย เลิกเรียนแล้ว แต่ผู้อำนวยการ ครู นักเรียน ยังรอคณะผู้มาเยือน กพฐ.สัญจรอยู่ด้วยใจจดจ่อ

เด็กน้อยหน้าตาใสซื่อ บ้องแบ๊วบริสุทธิ์ ไม่ต่างจากน้ำที่ไหลรินมาจากยอดภูดอย ใจคงคิดกันไปต่างๆ นานา เมื่อไหร่จะมาถึงสักทีนะ จะได้กลับบ้านไปวิ่งเล่น แม่รออยู่

มาแล้วจะทำให้พวกหนู ครูของหนู โรงเรียนของหนูสะดวกสบายขึ้นจริงหรือเปล่า หรือมาแล้วก็งั้นๆ เหมือนคนผ่านทางหลายกลุ่มที่ผ่านมา

 

คณะใช้เวลาเดินทางจากโรงเรียนบ้านกลอเซโลนานนับชั่วโมง บางช่วงพลขับขอหยุดพักให้คนเดินทางหน้าใหม่ได้ประสบการณ์ย่ำเท้าขึ้นดอย ก่อนไปกันต่อจนมาถึง โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 8 ห้อง

นักเรียน 82 คน ครูชาย 1 คน หญิง 4 คน 1 คนกำลังตั้งครรภ์ถูกให้ไปช่วยราชการที่โรงเรียนบ้านแม่เงา จึงเหลือครูสอน 4 คนกับผู้อำนวยการ คือ นายสุวิจักขณ์ วาสน์เกื้อกูล

นักเรียนทั้งหมดเป็นเด็กกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน บ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ตามเนินเขาจนถึงยอด รวม 400 หลังคาเรือน ประชากรกว่า 1,000 คน เช้าพากันเดินเท้ามาโรงเรียน เย็นเดินกลับบ้าน โรงเรียนไม่มีเรือนพักนอน ส่วนครูทั้งหมดพักบ้านพักครู สัปดาห์หนึ่งหรือมากกว่านั้นกลับบ้านที

ความที่ห้องเรียนเกินจำนวนครู เป็นปัญหาปกติเช่นเดียวกับหลายโรงเรียน ครูไม่ครบชั้น ทางออกคือให้ครูสอนคนละ 2 ชั้น กับสอนคละชั้น ป.4-5 เรียนด้วยกัน ทางการยังไม่มีงบฯ จ้างครูอัตราจ้าง ครูต้องช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเอง

แม้ครูขาด แต่จิตใจของพวกเขาและเธอไม่ย่นย่อ ทำทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือนักเรียน ช่วงเย็นหลังเลิกเรียนแบ่งกันช่วยติวเด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อนหรืออยากทำความเข้าใจบทเรียนเพิ่ม

 

“ในหมู่บ้านมีเด็กเรียนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีบัญชีสอบครูอยู่ แต่ยังไม่ได้รับจัดสรรอัตรากำลังมาให้ โรงเรียนต้องรอ”

ครูดาวฟ้า พงศ์ศิริ ครูอนุบาล ศิษย์เก่าราชภัฏเชียงใหม่ เล่าอย่างมีความหวังว่าวันหนึ่งพวกเธอจะมีเพื่อนครูมาเพิ่มให้ครบทุกชั้นเรียน

บ้านครูดาวฟ้าอยู่อำเภอแม่ลาน้อย พักบ้านพักครู เย็นวันศุกร์ขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน บอกว่า อยากไปอบรมพัฒนาเพื่อนำความรู้ เทคนิคการสอนใหม่ๆ มาใช้ให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียน ผลการทดสอบโอเน็ตดีขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมาจัดอบรมหลักสูตรเทคนิคการสอนภาษาไทย ที่แม่ฮ่องสอน อยู่ในตัวจังหวัดเลยพอไปได้ แต่ถ้าข้ามจังหวัด ไปไกล คงยาก ต้องทิ้งเด็ก ทิ้งโรงเรียน

เหตุที่ครอบครัวนักเรียนทำการเกษตร ปลูกข้าวกินเอง ข้าวไร่ ข้าวเหนียว พริกกะเกรียง ส่วนใหญ่ฐานะยากจน ความเป็นอยู่ขาดแคลน ยากลำบาก ทั้งอาหาร เครื่องแบบนักเรียน ครูช่วยกันออกแบบชุดฟ้าขาวเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยกันทอผ้า ให้โรงเรียนหาเงินมาจ้างช่างเย็บไว้แจกนักเรียน

แม้จะยากจนข้นแค้น แต่น้ำใจไม่ขัดสน ความร่วมมือช่วยเหลือของชาวบ้านที่ให้กับโรงเรียนเป็นไปอย่างดี ทำให้ปัญหานักเรียนออกกลางคันมีน้อย นอกจากเรียนกับครูในโรงเรียนแล้วยังได้เรียนกับครูสอนศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านวันอาทิตย์

 

ผอ.สุวิจักขณ์ บอกว่า ฝรั่งประสานงานผ่านสำนักงานเกษตรพื้นที่สูงและมูลนิธิศูนย์พัฒนาชาวเขากอมูเดอ มาช่วยเหลือโรงเรียน ให้งบประมาณต่อเติมอาคารเรียน ห้องประชุม และสร้างห้องเด็กอนุบาล กว่าสามแสนบาท

การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ตามราคาปกติ แต่ค่าขนส่งต้องจ้างรถบรรทุก 6 ล้อมาจากอำเภอแม่สะเรียงถึงแม่สามแลบ มาถึงปากทางเข้าหมู่บ้านเที่ยวละ 6,000 บาท รวมค่าขนส่ง 5 รอบ 30,000 บาท ยังไม่นับรถกระบะลากทรายได้แค่วันละ 1 รอบ ผู้อำนวยการต้องใช้รถกระบะส่วนตัวเติมน้ำมัน 500 บาท ถ้าจ้างชาวบ้านที่มีรถคิดรอบละ 1,000 บาท เฉพาะค่าขนส่งที่เสียไปเกือบ 60,000 บาท

“งบประมาณติดลบ โรงเรียนต้องหามาเพิ่ม” ผอ. เน้นเสียงอ่อย

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งไปซื้อวัตถุดิบอาหารสดแช่น้ำแข็งจาก อ.แม่สะเรียง มาเก็บไว้สำหรับทำอาหารกลางวันให้นักเรียนทุกอาทิตย์ จึงเป็นภาระใหญ่ที่โรงเรียนต้องแบกรับ ต่างจากโรงเรียนในเมืองลิบลับ เหตุส่วนหนึ่ง ผู้ปกครองลูกเยอะ ปลูกข้าวไม่พอกิน

ที่ผ่านมา หลวงพ่อพระปลัดวาโย ถาวโร จากภูเก็ต มาจำวัดที่วัดห้วยสิงห์ได้รับบริจาคสิ่งของ เสื้อผ้า อาหารแห้งจากลูกศิษย์ลูกหา รวบรวมมาช่วยเหลือโรงเรียนในศูนย์สาละวิน 7-8 โรงเรียนทุกเดือน

โรงเรียนและชาวบ้านกอมูเดอกำลังช่วยกันสร้างกุฏิ ศาลา เป็นสถานที่สอนพุทธศาสนา เพราะที่หมู่บ้านไม่มีวัด แต่มีผู้นับถือศาสนาพุทธจำนวนมาก นิมนต์หลวงพ่อมาพำนักประจำ

“การสอนด้านอาชีพ โรงเรียนมีสอนงานจักสาน ทอผ้า ทำขนม ผู้ปกครองมาช่วยสอน การเกษตรมีสำนักงานเกษตรพื้นที่สูง สอนทำน้ำหมักชีวภาพ การปลูกพืชต่างๆ”

เสียดายเวลาเย็นมาก คณะไม่ได้เข้าไปดูห้องเรียน แต่สังเกตหน้าตา ท่าทางนักเรียน สดใส มีความสุข ไม่ซึมเศร้า

 

ลาครู นักเรียน ผู้อำนวยการ ออกจากที่นั่นใกล้ค่ำ มุ่งหน้ากลับเข้าแม่สะเรียง จอดแวะโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ ดูความพร้อมเตรียมจัดรายการ ข่าวเช้า สพฐ. วันรุ่งขึ้น ผู้บริหารมอบนโยบายแจ้งเรื่องราวข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาพื้นฐานกับผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน ผ่านรายการโทรทัศน์ ประหยัดเวลา งบประมาณ ไม่ต้องเดินทางมาประชุม รับฟังได้ที่โรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ

โรงเรียนจัดซุ้มเวที ฉากหลังรายการ ประดับประดาด้วยดอกไม้สวยงาม เด็กชาย-หญิงกลุ่มหนึ่งในชุดนักเรียนมาเฝ้าสังเกตการณ์ ผมกับคุณนุชากร มาศฉมาดล เลยแวะไปทักทายพูดคุยด้วย มารู้เมื่อพวกเธอเล่าว่า นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ ล้วนเป็นเด็กชนเผ่าจากดอยสูง ทั้งกะเหรี่ยงสกอร์ กะเหรี่ยงโปว์ ละว้า ไทยใหญ่

แต่ละคำตอบที่ได้รับ สะท้อนผลผลิตของโรงเรียนขนาดเล็ก ขาดแคลน ห่างไกลทุรกันดารตามชายขอบ น่าชื่นชมและชื่นใจอย่างยิ่ง

ทำให้คิดถึงการบริหารการศึกษา จัดการโรงเรียนโดยระบบส่งต่อ มีโรงเรียนมัธยมคุณภาพไว้รองรับนักเรียนประถมที่โรงเรียนบนยอดดอยผลิตออกมา ทำให้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบโรงเรียน ไม่มีที่เรียนต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับ ลดลง

โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ทำบทบาทนี้ได้ดี มิน่าเล่าถึงได้รับรางวัลมากมาย รางวัลอะไร ระดับไหน ไว้ค่อยว่ากัน