วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ไทยเรารู้จักชื่อของเปาบุ้นจิ้นมานานหลายสิบปีแล้ว และที่รู้จักนั้นโดยมากมักผ่านสื่อภาพยนตร์กับละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่อหลังน่าจะทำให้รู้จักมากกว่าสื่อแรก เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย

แต่ที่น่าสังเกตคือ เปาบุ้นจิ้นที่ไทยเรารู้จักผ่านละครโทรทัศน์นี้ไม่ใช่พอรู้จักแล้วก็ผ่านไป ด้วยว่าละครชุดนี้ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำกันหลายครั้ง

จะซ้ำกี่ครั้งก็ยังมีผู้ชมอยู่เสมอ

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้วไทยเราเองก็เป็นสังคมที่โหยหาความยุติธรรมอยู่เหมือนกัน แล้วให้บังเอิญว่าเนื้อหาหลักในแต่ละตอนของละครชุดเปาบุ้นจิ้นก็มุ่งไปสู่จุดที่ว่านี้ เมื่อผสมผสานเข้ากับการเขียนบทในแต่ละตอนที่มีครบทุกรสทุกอารมณ์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมต้องติดตามมากขึ้นยิ่งขึ้น

ติดตามจนบางทีก็ละเลยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกตอนนั้นว่าหมายถึงอะไร

pao06

เช่น เสียงเปล่งของตำรวจที่ยืนเรียงอยู่ 2 ฝั่งในศาลไคเฟิงที่ฟังได้ว่า “แว…วู…” นั้นคืออะไรหรือหมายถึงอะไร?

และถึงไม่รู้ก็ยังมิวายที่จะนำเอาเสียงเปล่งนั้นมาเล่นกัน จำได้ว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนได้ใช้ให้หลานๆ ที่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบดีมาช่วยงานบ้าน พอได้เวลาอาหารก็ตะโกนว่าให้หลานหยุดงานก่อนแล้วมากินข้าวกัน

ทันทีที่สิ้นเสียงของผู้เป็นอาว่า “กินข้าว…!” หลานๆ ก็เปล่งเสียงขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “แว…วู…”

ตอนนั้นรู้สึกขำ แต่ตอนนี้กลับมีความคิดเพิ่มเติมว่า การที่ละครชุดเปาบุ้นจิ้นได้รับความนิยมมานานหลายสิบปีจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบุพการีสนับสนุนให้เด็กๆ ในครอบครัวได้ดูด้วย ดูแล้วจะได้รู้ว่าความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างไร จำเป็นแค่ไหน แม้อาจไม่รู้ไม่เข้าใจบางประเด็นหรือรายละเอียดบางอย่างก็ตามที

แต่ก็ยังดีกว่าให้เด็กๆ ดูละครน้ำเน่าเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม เปาบุ้นจิ้นที่เป็นวรรณกรรมก็ดี ภาพยนตร์ก็ดี หรือละครชุดทางโทรทัศน์ก็ดี เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นเรื่องแต่งทั้งสิ้น ยิ่งละครชุดด้วยแล้วเรียกได้ว่ามีบางตอนที่แต่งขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ แต่ที่ขาดไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดก็คือ ทุกสื่อมักแจ้งให้ผู้ชมรู้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า เปาบุ้นจิ้นมีตัวมีตนจริงในประวัติศาสตร์จีน หาใช่บุคคลที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาไม่ แต่กระนั้น การรู้ว่าเปาบุ้นจิ้นมีตัวตนจริงก็แทบไม่มีสื่อใดก็ว่าได้เช่นกัน ที่จะขยายความการมีตัวตนดังกล่าวของเปาบุ้นจิ้นให้เป็นที่รับรู้กัน

คงทิ้งไว้แต่ความทรงจำที่ดีๆ ที่มีต่อเปาบุ้นจิ้นให้แก่ผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมละครชุดนี้ทางโทรทัศน์ ที่จนถึง พ.ศ.2559 นี้ก็ยังนำกลับมาแพร่ภาพอีก และก็ยังมีผู้ชมเฝ้าติดตามดูไม่ต่างจากอดีต

ว่าที่จริงแล้วเรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้นนั้นใช่ว่าจะไม่มีผู้เขียนถึงไม่ จริงๆ แล้วมีงานเขียนที่เป็นภาษาไทยที่มีทั้งที่เขียนอย่างย่อๆ และอย่างยาวๆ โดยที่เขียนอย่างยาวนั้นรู้สึกว่าจะไม่เป็นที่แพร่หลายกันมากนัก หรือเป็นเพราะเป็นงานแปลก็มิอาจทราบได้

ในที่นี้เห็นว่า หากได้รู้เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้นไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไปก็น่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง อย่างน้อยก็ทำให้การดูละครชุดเรื่องนี้เป็นไปด้วยความเข้าใจ และหวังว่าจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนในยุคเปาบุ้นจิ้นประกอบกันไปด้วย

และต่อไปนี้ก็คือเรื่องราวจริงของเปาบุ้นจิ้น

เนื่องจากเปาบุ้นจิ้นมีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ซ่ง จึงเห็นว่าควรกล่าวถึงราชวงศ์นี้ก่อนแต่เพียงสังเขปเพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ว่าในช่วงชีวิตของเปาบุ้นจิ้นนั้นบ้านเมืองจีนมีสภาพอย่างไร

ราชวงศ์ซ่งมีช่วงของราชวงศ์อยู่ 2 ช่วง ช่วงแรก อยู่ในระหว่าง ค.ศ.960-1127 ในช่วงนี้จะเรียกว่าราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่ยซ่ง, Northern Song Dynasty) ช่วงที่สอง อยู่ในระหว่าง ค.ศ.1127-1279) ในช่วงนี้จะเรียกว่า ราชวงศ์ซ่งใต้ (หนานซ่ง, Southern Song Dynasty)

สาเหตุที่ราชวงศ์นี้ถูกแบ่งเป็น 2 ช่วงก็เพราะเกิดความอ่อนแอลง ความอ่อนแอนี้มีทั้งเพราะการเมืองภายในอ่อนแอ และเพราะถูกคุกคามจากชนชาติอื่นที่มิใช่ชนชาติฮั่น (จีน) หลายชนชาติด้วยกัน สาเหตุทั้งสองประการนี้ต่างเป็นปัจจัยแก่กันและกัน คือหากการเมืองภายในมีความเข้มแข็ง ซ่งก็อาจต่อต้านการคุกคามของชนชาติอื่นได้ แต่เนื่องจากซ่งอ่อนแอ ราชวงศ์ในสมัยแรกคือซ่งเหนือจึงล่มลงแล้วย้ายมาทางใต้เป็นซ่งใต้ดังได้กล่าวไป ทั้งนี้ โดยมีเมืองหลวงเป็นหลักหมายที่สำคัญของทั้งสองช่วงนี้

ประเด็นต่อมา หากนับเวลาของทั้งสองช่วงของซ่งแล้วก็จะพบว่า ช่วงแรกคือซ่งเหนือจะมีระยะเวลา 167 ปี ช่วงที่สองคือซ่งใต้ 152 ปี ช่วงแรกจึงยาวนานกว่าช่วงที่สองอยู่ 15 ปี และเมื่อรวมทั้งสองช่วงเข้าด้วยกันแล้วซ่งจะมีอายุ 319 ปี ถือเป็นราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว การที่มีอายุยืนยาวเช่นนี้ในด้านหนึ่งย่อมแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์นี้ไปในตัว

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ราชวงศ์นี้ถูกแบ่งเป็น 2 ช่วงก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยอยู่ด้วยเช่นกัน

กล่าวโดยสังเขปแล้ว ในด้านที่เจริญรุ่งเรืองนั้นหมายถึงว่า ราชวงศ์ซ่งได้สร้างสรรค์ศิลปวรรณคดีที่มีคุณค่าแก่ชนรุ่นหลังอยู่ไม่น้อย

เป็นราชวงศ์ที่ได้จัดวางระบบการเมืองการปกครองที่ต่อยอดจากยุคสมัยก่อนหน้าในหลายด้าน

เป็นยุคที่มีการปฏิรูปลัทธิขงจื่อครั้งใหญ่จนกลายเป็นบรรทัดฐานที่ใช้อ้างอิงในสมัยหลังต่อมา

และเป็นอีกสมัยหนึ่งที่จีนมากด้วยขุนนางกับขุนศึกที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความสามารถ จนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นกล่าวขานบอกเล่ากันจนถึงปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้จากเปาบุ้นจิ้น เป็นต้น

ส่วนในด้านที่เสื่อมถอยนั้นหมายถึงว่า ซ่งเป็นราชวงศ์ที่อ่อนข้อให้แก่การคุกคามของชนชาติอื่นเป็นอย่างมาก

โดยซ่งมีนโยบายว่า การยอมให้แก่ชนชาติอื่นย่อมดีกว่าทำสงคราม ซึ่งซ่งเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรมนุษย์และอื่นๆ

ดังนั้น ซ่งจึงยอมเฉือนดินแดนของตนและส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ชนชาติอื่น สุดแต่ชนชาตินั้นจะร้องขอแกมบังคับ หรือไม่ซ่งก็เป็นผู้เสนอให้เอง

การที่ซ่งมีนโยบายเช่นนั้นออกจะผิดแปลกสำหรับชาวเราที่เกิดในปัจจุบัน ด้วยว่าการที่จะเกิดภาวะเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อเรารบแพ้จนหมดทางสู้ และต้องยอมตามที่ผู้ชนะเรียกเอา คงไม่มีชาติใดที่คิดอย่างที่ซ่งคิดเป็นแน่

ตรงนี้เองที่เกิดประเด็นคำถามขึ้นว่า อะไรทำให้ซ่งคิดเช่นนั้น

คําตอบคือ เป็นเพราะซ่งมีขุนนางที่คิดเช่นนั้น เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็เสนอความคิดของตนต่อองค์จักรพรรดิ แล้วก็ให้บังเอิญว่าจักรพรรดิทรงเห็นด้วยอีก ซ่งจึงตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมถอยได้ไม่ยาก

จากเหตุดังกล่าวหากใช้เกณฑ์ปัจจุบันมาพิจารณาแล้ว ขุนนางผู้นั้นก็คือขุนนางกังฉินที่ยอมต่อชนชาติอื่นเพราะได้ประโยชน์จากชนชาตินั้น ส่วนจักรพรรดิก็อ่อนแอจนเหลือกำลังที่จะฉุดรั้งสติให้กลับคืนเป็นปกติได้อีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ขุนนางและขุนศึกตงฉินที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีใจหาญกล้าย่อมถูกทำลาย

หรือไม่ก็ไร้ซึ่งความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

เหตุดังนั้น หากมีชาติใดในปัจจุบันที่มีนโยบายดังเช่นราชวงศ์ซ่งแล้ว ประชาชนของชาตินั้นก็คงมิอาจนิ่งเฉยได้เป็นแน่

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านที่เสื่อมถอยของซ่งยังสะท้อนผ่านกรณีอื่นๆ อีกไม่น้อย กรณีที่อื้อฉาวมากเรื่องหนึ่งก็คือ การสร้างค่านิยมให้หญิงรัดเท้า ว่าเมื่อรัดจนมีเท้าเล็กดังดอกบัวแล้วจึงนับว่าเป็นหญิงงาม

ค่านิยมนี้ฝั่งรากลึกอยู่ในสังคมจีนมาอีกหลายร้อยปี และถูกทำลายลงพร้อมกับราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนก่อนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะด้านที่เสื่อมถอยแล้ว ผลที่สำคัญยิ่งก็คือ การถูกคุกคามจากชนชาติอื่นที่มาคู่กับความอ่อนแอของราชวงศ์เอง ผลจากการนี้ทำให้ซ่งต้องสูญเสียดินแดนของตนให้แก่ชนชาติอื่นอยู่เป็นระยะๆ จนในที่สุดก็ถูกชนชาติมองโกลที่นำโดยกุบไลข่านบุกเข้าตีจนราชวงศ์ล่มสลายในที่สุด แล้วชนชาติมองโกลก็สถาปนาราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368) ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ใช้เวลายาวนานในการขยายดินแดนไปยังที่อื่นๆ เมื่อก่อนหน้านี้

โดยสรุปแล้ว ซ่งเป็นราชวงศ์ที่สร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ขึ้นมากมาย แต่ก็ยอมเฉือนดินแดนของตนให้แก่ชนชาติอื่นเพียงเพื่อรักษาความเจริญรุ่งเรืองเอาไว้ แต่ระหว่างนั้นสิ่งที่เสื่อมถอยก็เกิดขึ้นผ่านการฉ้อฉลเป็นสำคัญ แผ่นดินจีนจึงแหว่งวิ่นไม่เป็นรูปเป็นร่างไม่สมกับที่สู้อุตส่าห์สร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา และทำให้ต้องล่มสลายไปในที่สุด

เราจึงอาจนิยามราชวงศ์ซ่งด้วยถ้อยคำที่สั้นกระชับว่า ความรุ่งโรจน์ที่แหว่งวิ่น