มนัส สัตยารักษ์ : ฆ่าราชการ

เมื่อเกิดเรื่องที่ประเทศชาติหรือสังคมเสียหายไม่ว่าจะเป็นเหตุใดๆ ก็ตาม วาระแรกที่เราต้องทำคือ หาตัวคนรับผิดชอบมาทำข่าว ประณามและเร่งเร้าให้ผู้ทำผิดได้รับการลงโทษโดยรุนแรงและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็พยายามโยงใยตัวบุคคลไปยังขั้วการเมือง

พร้อมกันนั้นบรรดาสื่อทั้งหลายต่างก็พยายามให้รัฐบาลหรือข้าราชการที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมรับผิดด้วย ทั้งนี้ หลายครั้งเพียงเพื่อให้ข่าวมีความสำคัญน่าสนใจมากขึ้น

ไม่เพียงแต่แย่งกันสร้างข่าวเท่านั้น สื่อบางชนิดยังสร้างสรรค์วิธีการเสนอข่าวแบบใหม่ให้ผู้รับข่าวสับสนอีกด้วย เช่น ใช้ประโยคที่ไม่มีประธานหรือกรรมในการพาดหัว (ถ้าอยากรู้รายละเอียดและความถูกต้องต้องอ่านเนื้อใน) บางสื่อจะพาดหัวอย่างหนึ่งแต่เนื้อความกลายเป็นตรงข้ามหรือเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น

บางสื่อก็เอาความเท็จมาสร้างเรื่องให้เป็นปมที่ด่าทอและวิวาทะกันง่ายๆ

ผู้เสพสื่อจึงต้องใจเย็น รอบคอบ หนักแน่น อย่าหลงเชื่อข่าวแค่อ่านพาดหัว อย่ามีอคติจนตั้งข้อสงสัยกับข้าราชการไว้ล่วงหน้า และอย่าเพิ่งบริภาษประณามใครโดยไม่มีพยานหลักฐานที่แน่ชัดและเชื่อถือได้

กรณีนักล่าสัตว์ฆ่าเสือดำ เก้งและไก่ฟ้าหลังเทา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในป่าสงวนแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร

ปรากฏว่า ดร.กาญจนา นิตยะ ผอ.ส่วนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะเป็นคนอนุญาตให้นายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอ บ.อิตาเลียนไทยฯ กับพวกรวม 4 คน เข้าไป “ศึกษาธรรมชาติ”

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นแหล่งมรดกโลกของประเทศไทยโดยการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่ปี 2534 ประกอบกับเสือดำที่ถูกฆ่าเป็นสัตว์คุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เหตุร้ายแรงนี้จะเงียบหายไปเฉยๆ แล้วถือเป็นเรื่องส่วนตัว

คนสนใจข่าวที่เป็นโรคการเมืองขึ้นสมอง ต่างรู้และเข้าใจกันว่านายเปรมชัยเป็นคนหนึ่งที่ คสช. ถือว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงอำนาจเก่า เพราะ คสช. เคย “บล๊อก” นายเปรมชัยหลังรัฐประหาร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านอำนาจเก่าก็ลงมือประณาม ดร.กาญจนา ทันที เพื่อให้ผู้เสพข่าวเข้าใจว่า ดร.กาญจนา เป็นฝ่ายเดียวกับอำนาจเก่า

ครั้น ดร.กาญจนา ชี้แจงว่าไม่รู้จักกับนายเปรมชัย แต่มี นายนพดล พฤกษะวัน อดีตข้าราชการ เคยทำงานที่เดียวกันในกรมอุทยานฯ โทร.มาหาว่า คณะของนายเปรมชัยจะขอเข้ามา “ศึกษาธรรมชาติ” ซึ่งเป็นภารกิจปกติธรรมดาของส่วนอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าฯ จึงได้แจ้งให้นายนพดลไปประสานกับพื้นที่ตามขั้นตอน

นายนพดลคนนี้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งระดับ “ผู้อำนวยการ” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้สื่อข่าวบางส่วนแอบรู้มาว่า ในอดีตเคยสนิทชิดเชื้อกับนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี นายชวนเคยเป็นประธานในการแต่งงานบุตรของนายนพดล

สื่อทำท่าจะโยง ดร.กาญจนาให้ไปอยู่กับอีกขั้วหนึ่งของการเมือง แต่ไม่ค่อยได้รับการสนองตอบจากตลาดข่าวนัก

สื่อบางเจ้าหวนไปพูดเปรียบเทียบถึงกรณีที่ ดร.กาญจนาเคยปฏิเสธพระเอก ติ๊ก เจษฎาภรณ์ เข้าไปถ่ายทำสารคดีในป่าสงวนฯ แห่งหนึ่ง เปรียบเทียบทำนองว่า ติ๊ก เจษฎาภรณ์ไม่มีอำนาจบารมีเท่าเจ้าสัวเปรมชัย พยายามสร้างภาพให้เห็นว่า ดร.กาญจนาเป็นข้าราชการที่ไม่มีหลักการหรือไม่มีมาตรฐาน

โดยข้ามข้อเท็จจริงที่ได้มีการชี้แจงไปแล้วว่า ที่ปฏิเสธคณะถ่ายทำสารคดี เนื่องจากผู้นำทางพยายามฝ่าฝืนข้อปฏิบัติ เพื่อจะไปเปิดเผยเส้นทางลับที่จะไปยังพื้นที่ห้ามเข้าที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจตราหรือขัดขวาง อาจจะเป็นการชี้ช่องโหว่แก่นักนิยมไพรมาล่าสัตว์

ดร.กาญจนาถึงกับต้องพูดตรงไปตรงมาไม่ไว้หน้าเศรษฐีหมื่นล้านว่า “ใครจะไปรู้สันดานเขาว่าเป็นนักล่าสัตว์”

ดร.กาญจนาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหญิงแกร่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ถึงแก่น้ำตาคลอเมื่อดำริจะลาออก!

ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งในกรณี “ฆ่าเสือดำ” ครั้งนี้ก็คือ นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ผู้จับกุมนายเปรมชัยกับพวกรวม 4 คน

นายวิเชียรมีผลงานความกล้าหาญ สู้กับอิทธิพลของผู้ทำลายทรัพยากรหลายรายการ เมื่อตำรวจ บก.สปท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เชิญตัวไปสอบสวน สื่อได้โจมตีตำรวจว่าเจตนาจะเล่นงานนายวิเชียรเพื่อช่วยเหลือนายเปรมชัย

ครั้นเมื่อเพื่อนในสถาบันการศึกษาและที่ทำงานเดียวกันกับนายวิเชียรได้โพสต์ถึงประวัติและอุดมการณ์ ตลอดจนความเสียสละในการทำงานของนายวิเชียรให้สังคมรับทราบ สื่อเจ้าหนึ่งดันพาดหัวว่า “แฉประวัติวิเชียร”

คุณสมบัติที่ดีของนายวิเชียรเลยกลายเป็นโทษสมบัติไปทันที ของดีกลายเป็นของเสีย และอาจจะถึงแก่เป็นของเน่าไปก็ได้ ถ้าไม่ได้อ่านข้อความอันเป็นเนื้อใน

ข่าว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ให้ผู้บังคับบัญชาของนายวิเชียรพิจารณาความบกพร่อง กรณีที่ปล่อยให้นายเปรมชัยกับพวกเข้าไปในเขตป่าโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม 110 บาท ทำให้สาธารณชนถึงกับ “พลิก” ความคิด แม้ภายหลัง รอง ผบ.ตร. จะได้แจ้งข้อหา “พยายามให้สินบนเจ้าพนักงาน” แก่นายเปรมชัยเพิ่มเติม และได้แก้ข่าวรังแกนายวิเชียรแล้วก็ไม่เป็นผล

หลังจากนั้นยังตามมาด้วยการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบร้านอาหาร “เก้าทัพแกงป่า” โดยสืบทราบมาว่า ก่อนที่คณะนายเปรมชัยจะเดินทางเข้าป่า ได้ไปซื้ออาหารสดที่นี่

สื่อโซเชียลดักคอว่าเป็นการ “ชี้โพรง” ให้เปรมชัย และส่อว่าคดีนี้จะเป็นมวยล้ม

ในความเป็นจริง การที่ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านประตู 110 บาท มันป็นแค่สัญลักษณ์ของอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษ เหมือนกับอภิสิทธิ์ได้รับการ “ว่ากล่าวตักเตือน” ไม่ต้องเสียค่าปรับในความผิดจราจร

อาเสี่ยไม่ต้องจ่ายค่าปรับ 500 บาท แต่พานายตำรวจไปเลี้ยงดูปูเสื่อแล้วจ่ายไปกว่า 5,000 บาท อาเสี่ยเขาถือว่าคุ้มมาก เพราะหลังจากนั้นเขาและบริวารจะไม่ถูกจับอีกเลยไม่ว่าจะข้อหาใดๆ

มันก็เหมือนกับ “มาเฟีย” ยอมให้นายตำรวจใหญ่ยืมเงินถึง 300 ล้านบาท เพราะหลังจากนั้น ธุรกิจสีเทากำไร 10,000 ล้าน จะไม่ถูกจับอีกเลยไม่ว่าข้อหาใดๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ดี รองศรีวราห์น่าจะทำสิ่งที่พนักงานสอบสวนรุ่นผมเรียกกันว่า “สอบตัด” คือตัดประเด็นที่คาดว่าฝ่ายผู้ต้องหาจะเอาไปใช้เป็นข้อแก้ตัว ตัดช่องทางสู้คดีของผู้ต้องหา เพราะจะไม่มีร้านค้าร้านไหนที่จะให้การว่ามีและขายเนื้อสัตว์ป่า (ซึ่งผิดกฎหมายเช่นเดียวกับล่าสัตว์ป่า) ให้แก่พวกของนายเปรมชัย

การที่ตำรวจถูกส่องและถูกจับตามองจากสื่อ หรือความกระเหี้ยนกระหือรือของสื่อที่จะให้เหยียบคนทำผิดร้ายแรงให้จมดินนั้นล้วนก่อให้เกิดการ “ขยายผล”

มีข่าวที่ดินจังหวัดเลย แฉเปรมชัย กรรณสูต รุกที่ป่าสงวนฯ ภูเรือ จังหวัดเลย พบออกโฉนดโดยมิชอบหลายแปลง ข้าราชการหลายฝ่ายน่าจะมีส่วนรับผิดชอบด้วย

เป็นเรื่องที่สื่อต้องจับตาและติดตามดูด้วยจิตใจที่เป็นธรรมต่อไป