วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ห้องสมุด : ส่งเสริมหรือเซ็นเซอร์ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์
ประชา สุวีรานนท์

ห้องสมุด : ส่งเสริมหรือเซ็นเซอร์ (จบ)

ทุกวันนี้ ห้องสมุดสาธารณะอาจจะสื่อถึงความเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นสถาบันทางการเมืองอันเดียวที่สร้างความภูมิใจให้แก่ผู้นิยมเสรีภาพ ภาพที่เน้นการแสวงหาความรู้จึงเป็นที่นิยมยกย่อง แม้จะกลายเป็นเพียงรสนิยมหรือสถานภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง
นอกจากนั้น ขณะที่การอ่านหนังสือมีน้อยลงทุกที มูลค่าของเนื้อหาและอำนาจของสายส่งอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Google หรือ Facebook กลับเพิ่มมากขึ้น
ห้องสมุดและบรรณารักษ์ในฐานะผู้เก็บหนังสือที่ทำด้วยกระดาษกลายเป็นของเก่าที่แปลกตาและกลับมาได้รับความสนใจ

ในหนังบางเรื่อง บทบาทส่งเสริมจะเด่นกว่ากีดกัน Wings Of Desire หนังของ วิม เวนเดอร์ส์ ซึ่งออกมาในปี 1986 หรือก่อนการรวมเยอรมนีเพียงสองสามปี พูดถึงภาวะของชาวเบอร์ลิน และมองห้องสมุดในแง่ดี คือให้โอกาสสำหรับการอ่านหนังสือ สนทนากับอดีต และพิจารณาความคิดของตนเอง
ในห้องสมุด การอ่านในใจก่อเสียงที่ประสานกันดังอื้ออึง และระหว่างที่อ่าน จะมีเทวดาเป็นผู้นั่งฟังอย่างตั้งใจอยู่เสมอ เทวดาเหล่านี้ทำหน้าที่ทั้งให้กำลังใจเมื่ออ่านสำเร็จหรือปลอบประโลมเมื่อท้อแท้สิ้นหวัง ฉากหนึ่งมีนักเขียนชรา ซึ่งมองเห็นเทวดาเป็นผู้อ่านคนแรกหรือ “หมายเลขหนึ่ง” ของเขา
นักอ่านจำนวนมากกับเพดานสูงทำให้เสียงกึกก้องราวกับมีการร้องเพลงในโบสถ์ (https://www.youtube.com/watch?v=ivnMDs2krX0)
บทความของ ลอร่า มาร์คัส ในหนังสือ The Meaning of the Library : A Cultural History บอกว่า เทวดาได้ทำให้ห้องสมุดเป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ใน The Nasty Girl ผลงานของ ไมเคิล เวอร์โฮเวน ซึ่งออกฉายในทศวรรษที่ 90s ห้องสมุดกลายเป็นผู้ร้าย ซอนย่า นางเอกของเรื่องเป็นนักเรียนมัธยมที่ได้รับเกียรติให้เขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับประวัติของเมืองพาสเซาในเยอรมนี เธอค้นพบว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลายคนในเมืองนี้เคยสมคบกับนาซีและทำความรุนแรงกับชาวยิวมากมาย ซอนย่าจึงถูกสั่งไม่ให้เขียนต่อไป และกลับมาสนใจเรื่องนี้เมื่อแต่งงานและมีลูกสองคนแล้ว
ในหนังเรื่องนี้ ห้องสมุดไม่ได้มีเป้าหมายเพื่ออ่านหรือคิด แต่มีไว้ปิดบังความจริง และอาจจะด้วยความจำกัดทางการถ่ายทำ หนังจึงใช้แบ๊กโปรเจ็กเตอร์สำหรับฉากเหล่านี้ แต่ภาพที่ได้ออกมาก็น่าสนใจ เพราะให้บรรยากาศของยุคใหม่กับยุคกลางพร้อมกัน

ในหนังปัจจุบัน ทั้งที่โผล่ให้เห็นนิดเดียวและเป็นแกนสำคัญของเรื่อง เช่น Harry Potter และ The Librarians ห้องสมุดจะเป็นฉากใหญ่ และอุดมไปด้วยเรื่องราวปรัมปราต่างๆ
ที่น่าสนใจคือ The Book Thief (2014) ซึ่งพูดถึงการขโมยหนังสือห้องสมุด หนังจะเกี่ยวกับเด็กหญิงอายุ 12 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งกลายเป็นเด็กกำพร้าและอยู่ในอุปการะของสองผัวเมีย (แสดงโดย เจฟฟรีย์ รัช และ เอมิลี วัตสัน) ในเมืองเล็กๆ ของเยอรมนี เมื่อเรื่องดำเนินไป เราจะพบว่าเธอเป็นนักขโมยหนังสือตัวยง ทั้งแอบขโมยหนังสือจากห้องสมุดของคนอื่นและกองหนังสือที่ถูกเผาของนาซี
ทั้งๆ ที่การขโมยขัดกับหลักการแบบเสรีนิยมเท่าๆ กับการเผา หนังสามารถบอกว่าการขโมยเป็นสิ่งที่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากใช้หนังสือเป็นตัวแทนของเสรีภาพมาแต่ต้น และวางภาพการขโมยในฐานะพฤติกรรมที่อยู่ตรงข้ามกับการเผาและเก็บไว้อ่านคนเดียวของนาซี ซึ่งเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะที่แท้จริง การขโมยจึงดีกว่ามาก
แต่อย่าลืมว่าปัญหาอื่นๆ เช่น การปิดห้องสมุดหรือกีดกันด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งก็เป็นการทำลายหนังสือแบบหนึ่ง ไม่ได้ถูกพูดถึง

หนังที่พูดถึงการขโมยได้น่าสนใจกว่าคือ Hidden Figures (2017)
เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงคนดําในโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นการส่งชาวอเมริกันขึ้นไปโคจรรอบโลกครั้งแรกในปี พ.ศ.2505
ในยุคการแบ่งแยกสีผิว (segragration) เขาแบ่งแยกกันจริงๆ เช่นในบางรัฐ คนที่ต่างสีผิวจะใช้ของสาธารณะร่วมกันไม่ได้ จะฉี่ในห้องน้ำเดียวกันหรือจะดื่มน้ำจากเครื่องเดียวกันไม่ได้ ต้องแยกกันและมีป้ายบอกไว้ชัดเจน
ห้องสมุดก็เหมือนกัน โดโรธี วอห์น (ออกตาเวีย สเปนเซอร์) เข้าไปในห้องสมุดสาธารณะเพื่อค้นหาหนังสือบนหิ้งของคนขาว เพราะหาจากหิ้งของคนดําไม่ได้ ผลก็คือถูกขับไล่ออกมา แต่เมื่อขึ้นรถเมล์แล้ว เธอควักหนังสือเล่มหนึ่งออกมา
หนังสือเล่มนั้นสอนภาษาฟอร์แทรน วิชาใหม่ซึ่งใช้ในการป้อนข้อมูลให้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมของนาซ่า หนังสือจึงไม่เพียงเปลี่ยนอาชีพ แต่จะเปลี่ยนชีวิตของออกตาเวียด้วย
ที่สำคัญ เธอสอนลูกชายที่ไปด้วยกันว่า ห้องสมุดนั้นอยู่ได้เพราะเราเป็นคนจ่ายภาษี และยืนยันว่าการทําอะไรที่ถูกกฎหมายไม่ได้แปลว่าดี และการทำผิดกฎหมายไม่ได้แปลว่าชั่ว
ดังนั้น “การหยิบหนังสือออกมาจึงไม่ใช่การขโมย”
คำสอนของเธอยังดังมาถึงทุกวันนี้