วรศักดิ์ มหัทธโนบล จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (8)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยแรกกับรากฐานเอกภาพใหม่ (ต่อ)

ต่อมาคือฝ่ายหลิวปังซึ่งทำศึกอยู่ทางด้านตะวันตก ศึกด้านนี้มิได้ลำบากเท่ากับศึกด้านเหนือ เพราะกำลังหลักของฉินถูกส่งไปทำศึกกับเซี่ยงอี่ว์ ด้วยเหตุนี้ ทัพของหลิวปังจึงบุกเข้ายึดเสียนหยางได้โดยง่าย จากนั้นก็ให้ปลดกษัตริย์จื่ออิงของรัฐฉินเมื่อ ก.ค.ศ.206

อันเป็นหลักหมายการสิ้นสุดลงของราชวงศ์ฉิน

พ้นไปจากนี้แล้วหลิวปังก็มิได้ทำลายสิ่งอันใดในเมืองหลวงแห่งนี้ ตรงกันข้ามเขากลับยกเลิกกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรงที่เคยใช้มาแต่เดิม แล้วให้ใช้กฎหมายที่ถูกตราขึ้นเฉพาะหน้าที่มีสาระสำคัญคือ ฆ่าคนต้องชดใช้ด้วยชีวิต ทำร้ายผู้อื่นและลักขโมยล้วนมีความผิด

ที่สำคัญ หลิวปังยังให้ผู้ร่วมกบฏที่ชื่อ เซียวเหอ (มรณะ ก.ค.ศ.193) เป็นผู้ดูแลหอสมุดของรัฐฉินอีกด้วย ทำให้กลุ่มของหลิวปังมีข้อมูลด้านต่างๆ ของจักรวรรดิจีนในเวลานั้นเป็นอย่างดี

นับเป็นการมองการณ์ไกลของหลิวปังโดยแท้

 

ส่วนเซี่ยงอี่ว์เมื่อเสร็จศึกกับจางหานก็นำทัพมาที่เสียนหยาง ครั้นรู้ว่าหลิวปังยึดได้ก่อนก็ให้ขุ่นเคืองยิ่งนัก ด้วยในขณะที่ตนกรำศึกด้วยความยากลำบากนั้น หลิวปังซึ่งมิได้ลำบากเท่ากลับยึดได้ก่อนตน และนั่นหมายความว่าหลิวปังจักได้ปกครองกวานจงตามเงื่อนไขที่ฉู่ฮว๋ายหวังตั้งไว้

จากเหตุนี้ เซี่ยงอี่ว์จึงตั้งทัพที่หงเหมินด้วยกำลังพลสี่แสนที่ได้มาหลังทำศึกกับจางหาน และหมายตีทัพของหลิวปังที่มีอยู่หนึ่งแสนที่ตั้งอยู่ที่ป้าซ่าง

กำลังพลที่ต่างกันมากมายเช่นนี้ทำให้หลิวปังไม่คิดที่จะต่อกรด้วย และด้วยคำแนะนำของจางเหลียง หลิวปังจึงเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงที่เซี่ยงอี่ว์จัดขึ้นที่หงเหมินเพื่อหวังประนีประนอมด้วย โดยหารู้ไม่ว่าเซี่ยงอี่ว์มีแผนที่จะสังหารตนในงานนี้

แต่ครั้นพบกันแล้วเซี่ยงอี่ว์กลับล้มเหลวในแผนสังหารหลิวปัง ส่วนหลิวปังที่รอดมาได้ก็ประกาศว่า ตนยอมให้เซี่ยงอี่ว์ได้ปกครองกวานจงโดยดุษณี

 

ควรกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่หงเหมินนี้ต่อมาถูกเรียกขานกันว่า “งานเลี้ยงที่ประตูหงส์” (หงเหมินเอี้ยน, Feast at Hong Gate) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีน

ด้วยเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการช่วงชิงอำนาจระหว่างเซี่ยงอี่ว์กับหลิวปัง ซึ่งถ้าหากเซี่ยงอี่ว์สามารถสังหารหลิวปังในงานเลี้ยงนี้ได้ตามแผนแล้ว ราชวงศ์ฮั่นก็อาจจะมิได้เกิด และอาจนำประวัติศาสตร์จีนไปอีกหน้าหนึ่งที่ยากจะจินตนาการได้

สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นี้ในปัจจุบันคือ หมู่บ้านหงเหมิน ตำบลซินเฟิง อำเภอหลินทง เมือง (จังหวัด) ซีอาน มณฑลส่านซี

ฝ่ายเซี่ยงอี่ว์เมื่อได้ตามที่ตนต้องการแล้วก็ยึดเสียนหยางแทนหลิวปัง แต่ที่ต่างจากหลิวปังคือ เซี่ยงอี่ว์ได้ทำการปล้นและเผาเสียนหยางจนเป็นจุณ ส่วนอดีตกษัตริย์จื่ออิงที่หลิวปังไว้ชีวิตนั้นเซี่ยงอี่ว์ก็สั่งให้ประหารเสีย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อ ก.ค.ศ.206

จะเห็นได้ว่า บทบาทของเซี่ยงอี่ว์กับหลิวปังนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน เซี่ยงอี่ว์ซึ่งฉายแววนักรบมาตั้งแต่เด็กถนัดแต่การศึกเท่านั้น ซ้ำยังมีใจไปในทางเข่นฆ่าแม้เมื่อข้าศึกได้ยอมแพ้แล้วก็ตาม ผิดกับหลิวปังที่ไม่เพียงจะไม่ทำเช่นนั้น ตรงกันข้ามกลับมีท่าทีที่โอนอ่อนผ่อนปรนมากกว่า

ความแตกต่างกันเช่นนี้จักส่งผลต่อฐานะทางการเมืองของทั้งสองในกาลต่อมา

 

นับแต่นั้นอำนาจของเซี่ยงอี่ว์ก็อยู่เหนือกบฏกลุ่มอื่นๆ ถึงตอนนี้เซี่ยงอี่ว์จึงใช้อำนาจของตนเปลี่ยนฐานะของฉู่ฮว๋ายหวังให้สูงขึ้นเป็นจักรพรรดิทรงธรรม (อี้ตี้) ในเดือนเก้า ก.ค.ศ.206 พอถึงเดือนสิบในปีเดียวกันก็สำเร็จโทษจักรพรรดิพระองค์นี้

ในขณะเดียวกันเซี่ยงอี่ว์ก็ตั้งตนให้สูงขึ้นเป็นอธิราช (ป้าหวัง) เรียกว่า อธิราชแห่งฉู่ตะวันตก (ซีฉู่ป้าหวัง) ดังพวกที่ตั้งตนเช่นนี้ในยุควสันตสารท

จากนั้นก็ตั้งเมืองหลวงที่เผิงเฉินอันเป็นบ้านเกิดของตนด้วยเหตุผลที่ว่า “ยามที่มั่งคั่งแลมีชื่อระบือไกลแล้วไม่กลับถิ่นเกิด ก็ดุจดั่งนั่งเย็บปักถักร้อยอยู่ในเรือนแลออกมาเดินเตร่ในยามราตรี เยี่ยงนี้แล้วผู้ใดพึงรู้จักเล่า”

แท้จริงแล้วเซี่ยงอี่ว์ต้องการกลับไปอวดตนที่บ้านเกิดว่าได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้ว ทั้งๆ ที่เมืองเสียนหยางหรือกวานจงมีความอุดมสมบูรณ์และมีข้อดีในทางยุทธศาสตร์มากกว่า

ถ้อยคำดังกล่าวสะท้อนทัศนคติที่เห็นว่า งานเย็บปักถักร้อยเป็นของสตรี และไม่ว่างานจะออกมางดงามเพียงใด หากไม่มีผู้ใดเห็นก็ย่อมไร้ค่า ไม่ต่างกับสตรีแต่งตัวสวยแล้วมาเดินเล่นยามค่ำคืนที่อย่างไรเสียก็ไม่มีผู้ใดเห็น

ถ้อยคำนี้จึงเป็นคำเปรียบเปรยเสียดสีบุคคลที่ชอบอวดตน

 

กล่าวกันว่า ชาวเจียงตง (พื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างของแม่น้ำหยางจื่อ) จัดเป็นคนพวกนี้ และเผิงเฉิงที่เป็นบ้านเกิดของเซี่ยงอี่ว์ก็ตั้งอยู่ในเจียงตง (1)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดแล้ว เซี่ยงอี่ว์ก็จัดการแบ่งสรรอำนาจให้กับบรรดาผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ได้ปกครองรัฐต่างๆ 19 รัฐในฐานะเจ้าศักดินา บุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือกบฏ อีกส่วนหนึ่งคือผู้เคยรับใช้ราชวงศ์ฉินมาก่อน

โดยเซี่ยงอี่ว์ปกครองรัฐฉู่ซึ่งเป็นหนึ่งใน 19 รัฐนั้น

ส่วนหลิวปังคู่แข่งคนสำคัญของเซี่ยงอี่ว์นั้น ถูกเซี่ยงอี่ว์ส่งไปปกครองดินแดนฮั่นจงหรือปาสู่ในฐานะกษัตริย์ฮั่น (ฮั่นหวัง) ดินแดนนี้ถูกมองว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ตั้งอยู่ไกลจากกวานจง (ปัจจุบันคือบริเวณมณฑลซื่อชวน) เพื่อทอนกำลังของกลุ่มหลิวปังให้อ่อนลง

แม้รัฐฉู่ของเซี่ยงอี่ว์จะทรงอิทธิพลสูงสุดก็ตาม แต่อีก 18 รัฐที่ด้อยกว่ากลับมีทั้งรัฐที่ยอมและไม่ยอมอ่อนข้อให้กับฉู่

แน่นอนว่า หนึ่งในรัฐที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้ก็คือฮั่นจงของหลิวปัง โดยนับแต่ ก.ค.ศ.206 ที่เซี่ยงอี่ว์ได้ปลงพระชนม์จักรพรรดิทรงธรรมนั้น หลิวปังก็ถือเอามาเป็นเหตุว่าเซี่ยงอี่ว์ได้กระทำผิดและประกาศจะจัดการเซี่ยงอี่ว์

หลิวปังไม่สู้ประสบความสำเร็จมากนักในการทำศึกกับเซี่ยงอี่ว์ โดยมีมากกว่าหนึ่งครั้งที่เขาพ่ายศึกจนแทบเอาตัวไม่รอด

ตราบจนเขาได้ขุนศึกที่ชื่อ หานซิ่น (มรณะ ก.ค.ศ.196) และการสนับสนุนในด้านเสบียงจากขุนนางที่ชื่อ เซียวเหอ (มรณะ ก.ค.ศ.193) รวมทั้งคำปรึกษาที่ดีของจางเหลียง ทัพของหลิวปังจึงค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น

ยิ่งเมื่อได้เมืองสิงหยาง (เป็นอำเภอที่ขึ้นต่อจังหวัดเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ที่อุดมสมบูรณ์มาเป็นฐานที่มั่นสำคัญด้วยแล้ว ทัพฮั่นของเขาก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น

 

จนถึง ก.ค.ศ.203 หลิวปังที่บัดนี้มีกำลังเข้มแข็งที่สุดก็ทำให้เซี่ยงอี่ว์ต้องเจรจาขอยุติศึกกับเขา โดยทั้งสองได้ทำข้อตกลงด้วยการแบ่งจีนเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ฟากตะวันออกเป็นของเซี่ยงอี่ว์ ที่อยู่ฟากตะวันตกเป็นของหลิวปัง

แต่ครั้นถึง ก.ค.ศ.202 หลิวปังก็ทำลายข้อตกลงนี้ด้วยการบุกเข้าตีทัพของเซี่ยงอี่ว์ ศึกนี้เกิดที่เมืองไกเซี่ย (ปัจจุบันคือเมืองซูโจวในมณฑลอันฮุย) โดยทัพของหลิวปังสามารถปิดล้อมทัพของเซี่ยงอี่ว์เอาไว้ได้

แต่เซี่ยงอี่ว์ก็ตีฝ่าวงล้อมออกมาได้เช่นกัน จากนั้นก็หนีการไล่ล่าจากทัพของหลิวปังโดยมีทหารติดตามเพียง 28 นาย ครั้นหนีมาถึงริมฝั่งแม่น้ำอู (อูเจียง, บริเวณอำเภอเหอของมณฑลอันฮุยในปัจจุบัน) ก็มิคิดข้ามฟากหนีไปทั้งที่สามารถทำได้

ทั้งหมดตัดสินใจปักหลักสู้กับทหารของหลิวปังอย่างกล้าหาญชาญชัย จนเหลือเซี่ยงอี่ว์เป็นคนสุดท้าย เซี่ยงอี่ว์ก็กระทำอัตวินิบาตกรรมและสิ้นชีพที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้นด้วยวัยเพียง 32 ปี โดยทิ้งไว้แต่เรื่องเล่าขานที่มากด้วยแรงสะเทือนทางอารมณ์มาจนทุกวันนี้ (2)

แต่การปิดฉากลงเช่นนี้ในด้านหนึ่งย่อมเท่ากับเปิดฉากใหม่ให้กับหลิวปังโดยปริยาย

——————————————————————————————————–
(1) อนึ่ง ซุนเช่อ (ซุนเซ็ก) พี่ชายของซุนฉวน (ซุนกวน) ในยุคสามรัฐ (สามก๊ก) ก็เป็นชาวเจียงตง และถูกมองว่าเป็นผู้ที่ชอบอวดตน จนเป็นเหตุให้มิอาจเป็นใหญ่ได้
(2) เรื่องเล่าขานของเซี่ยงอี่ว์ปรากฏผ่านงานศิลปวรรณคดีที่หลากหลาย เช่น วรรณกรรม นิทาน อุปรากรจีน (งิ้ว) ละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ เป็นต้น ตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งคือ ป้าหวังเปี๋ยจี (Farwell My Concubine, 1993) ผลงานของเฉินข่ายเกอ ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้อุปรากรจีนเรื่องของเซี่ยงอี่ว์กับสนมคนโปรดเป็นฉากหลังตลอดทั้งเรื่อง ส่วนไทยเรารู้จักและเรียกขานเซี่ยงอี่ว์ผ่านตำแหน่งอธิราชแห่งรัฐฉู่ตะวันตกว่า ฉ้อปาอ๋อง