มุกดา สุวรรณชาติ : อยากเลือกตั้ง…หวังได้ยุติธรรม ต้านเลือกตั้ง…ก็หวังได้อำนาจ

มุกดา สุวรรณชาติ

การต้านการเลือกตั้งทำมาหลายยุค

มีหลายรูปแบบ

 

1.ใช้การถ่วงเวลา

วิธีการนี้ผู้ที่คุมอำนาจจากการรัฐประหารหรือจะได้อำนาจมาด้วยวิธีอื่น ไม่ต้องการเลือกตั้งอยากจะสืบทอดอำนาจตัวเองต่อไป หรืออาจจะกลัวว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะแพ้ก็พยายามดึงให้อยู่ในอำนาจนานที่สุดที่ทำได้

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยวิธีร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้เวลานานที่สุด จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำสถิติสูงสุดคือร่าง รธน. ต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมประมาณ 9 ปี 4 เดือน แต่พอใช้เลือกตั้งแล้วแค่ 2 ปีกว่าก็ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทิ้ง

ยุทธวิธีการถ่วงเวลาอาจจะใช้ได้บางช่วงเวลา บางสถานการณ์ก็ไม่เหมาะสม เพราะจะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง

กรณีรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อถึงจุดที่คนเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับ ประกายไฟก็ลุกลามเพราะมีเชื้อเพลิงสะสมอยู่มากมายหลายปี กลุ่มฉวยโอกาสก็ออกแรงดัน จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จึงมีวีรชน มีทรราช

การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการเลือกตั้งปัจจุบันจนถึงวันนี้หลังการรัฐประหารนานเกือบ 4 ปีแล้ว หลายคนถึงเริ่มจับตามองว่าปัญหาต่างๆ ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกเกิดจากความตั้งใจที่จะทำให้เป็นปัญหาให้เกิดการโต้แย้งบางครั้งก็ถึงขนาดล้มแล้วร่างใหม่ หรือเสียเวลาแก้ไข

เรื่องนี้จึงเป็นที่จับตามองของทั้งประชาชนในประเทศและวงการเมืองระหว่างประเทศ

2.การบอยคอต หรือคว่ำบาตร ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง

นี่ก็เป็นวิธีการต่อต้านอีกรูปแบบหนึ่งแต่วิธีการนี้จะใช้ไม่ได้ผล ถ้าฝ่ายที่ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งไม่มีกำลังหนุนอย่างอื่น เพราะอาจทำให้การเลือกตั้งผ่านไปแบบที่กลุ่มตัวเองตกขบวนประชาธิปไตย

แต่ถ้ามีกำลังหนุนรูปแบบอื่น เช่น กำลังทหารก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรัฐประหารได้ ที่ทุกคนจำได้เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2549

เมื่อ 3 พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน แต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งก็ยังมีถึง 29 ล้านคน (64.7%) ไม่ประสงค์ลงคะแนน (โหวตโน) 9 ล้านคน ( 31.1%) พรรคไทยรักไทยได้ 16.4 ล้านคะแนน (56.4%)

แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่าเป็นโมฆะ จึงมีกำหนดจะทำการเลือกตั้งใหม่ เดือนตุลาคม 2549 ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งใหม่ ไทยรักไทยน่าจะได้เสียงเกิน 17 ล้าน

เมื่อดูแล้วว่าสู้ในการเลือกตั้งไม่ได้ ก็ต้องใช้การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แบบที่ผู้ทำรัฐประหารบอกว่าแม้ตายก็พูดไม่ได้

 

3.การต่อต้านแบบรุนแรงเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งกระทำได้สำเร็จ

เช่น ใช้วิธีปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งในบางจุดทำไม่ได้ ในบ้านเราเกิดขึ้นในปี 2557

เริ่มตั้งแต่การปิดกรุงเทพฯ แล้วลากยาวไปปิดการเลือกตั้งล่วงหน้า จนทาง กกต.กทม. ต้องประกาศยกเลิก 33 เขต สามารถลงคะแนนได้เพียง 14 เขต

และวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ก็เกิดความวุ่นวายจากม็อบ กปปส. ที่ชุมนุมปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง และขัดขวางการเลือกตั้งหลายจังหวัด จนเกิดความรุนแรงบางจุด

แต่แม้บรรยากาศไม่ดี ก็ยังมีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 20 ล้านคน หรือ 45.8%

กกต. รู้ล่วงหน้าว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเกิดปัญหาวุ่นวาย แต่ กกต. ไม่เตรียมมาตรการป้องกัน กกต. มีอำนาจสั่งใช้กำลังทหารตำรวจทั่วประเทศรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งได้ แต่ในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ กกต. คงไม่มีน้ำยา

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ตรงตามแผน เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่า หลังการยุบสภาแล้วการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไปต้องกำหนดภายใน 45-60 วัน และจะต้องกระทำในวันเดียวกันทั้งประเทศ ถ้าไปเลือกตั้งทดแทน (หน่วยที่ถูกปิดล้อม) ในวันอื่น ก็ผิดรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้น การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงถูกศาลตัดสินว่าเป็น “โมฆะ” เป็นไปตามที่ กปปส. คาดการณ์ไว้

แม้ศาลตัดสินเป็นโมฆะก็ยังอาจทำการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ แต่ใครจะกล้าเลือกตั้งใหม่ แข่งกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะเพื่อไทยจาก 265 เสียง อาจกลายเป็น 280 เสียง จะหน้าแตกไปกันใหญ่

สุดท้ายก็ใช้การรัฐประหารมาแก้ไขปัญหาเช่นเดิม

มีคนมาบ่นทีหลังว่าที่จริงคนวางแผนไม่ต้องลีลามาก ทำให้วุ่นวาย ปิดกรุงเทพฯ เดือดร้อนไปทั่ว จะรัฐประหารก็ทำไปเลย ตั้งแต่ปลายปี 2556 ยกกำลัง มานั่งรออะไรอยู่ 4-5 เดือน

 

เป้าหมายของการต่อต้านการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการถ่วงเวลา ยืดเวลา หรือการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ล้วนแต่เกิดขึ้นจากความไม่มั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

เนื่องจากคนเหล่านี้มิได้นับถือกติกาของเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น จึงจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ฝ่ายตนได้ครองอำนาจรัฐ

เริ่มตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ โดยการกำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งเพื่อจะได้มีเสียงสนับสนุนตนไว้จำนวนหนึ่ง จากนั้นก็กำหนดระเบียบวิธีการเลือกตั้งที่ฝ่ายตัวเองได้เปรียบมากที่สุด แต่ถ้าตรวจสอบแล้วยังไม่มั่นใจก็ยังจะต้องหาวิธีต่างๆ มาสนับสนุน

แต่เมื่อยังไม่รู้สึกว่าจะสำเร็จก็ต้องเลื่อนออกไปอีก

เหตุการณ์แบบนี้ยังจะเกิดขึ้นและมีรูปแบบโครงการต่างๆ ที่จะเข้าแทรกแซงการเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนมีประกาศการเลือกตั้งจนกระทั่งถึงกระบวนการหาเสียง การหย่อนบัตร การนับคะแนน การตัดสินของ กกต.

ในสถานการณ์การเมือง ที่ลูกจะคลอดจากรัฐธรรมนูญ แม้ยังยากเย็นคนก็สงสัยว่าจะแท้งหรือไม่ จะได้เลือกเมื่อไรแน่? จะมีเลือกตั้งจริงหรือไม่?

 

มีเลือกตั้ง แล้วหวังจะได้ยุติธรรม เป็นความฝัน

คนอยากเลือกตั้ง ไม่ได้หวังแค่หย่อนบัตร แต่หวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีผู้แทนฯ มารับฟังปัญหาของชาวบ้าน

การทุจริตจะมีการตรวจสอบได้โดยไม่ถูกขัดขวาง

จะมีสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องและคัดค้านเรื่องต่างๆ โดยไม่ถูกจับ

จะมีความยุติธรรมมากขึ้นในทุกด้าน

แต่ความเป็นจริง คิดหาความยุติธรรมจากการเลือกตั้ง เป็นไปไม่ได้

ตามรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แค่หาความยุติธรรมให้คนที่มาแข่งขันสมัคร ส.ส. ยังทำยาก

หาความยุติธรรมให้คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรียิ่งยาก ในระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่รู้ว่า กกต. จะมั่นใจขนาดไหน

ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ไม่ต้องไปคิดว่าความยุติธรรมในสังคมจะเปลี่ยนไป

การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น เพราะ ส.ว. ไม่ต้องเลือกตั้ง และถ้านายกฯ ไม่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจบริหารก็ไม่มีที่มาจากประชาชน อำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ประชาชนก็ไม่มีส่วนในการตั้ง ยังมีกรรมการยุทธศาสตร์ที่มาคุมทิศทางประเทศที่ประชาชนก็ไม่ได้เลือก

การคุกคามทางสิทธิเสรีภาพจะลดลงแค่ไหน ยังต้องลุ้นเอาเอง ถ้า ส.ส. ฝ่ายประชาชนมีมากพออาจช่วยกันโวยวายได้ แต่เมื่อโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมไม่เปลี่ยน ทุกอย่างจะซ้ำรอยเดิมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา… เพราะ…

 

โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน…
สร้างความ…อยุติธรรม

ความอยุติธรรม ใช้ผ่านอำนาจที่คนยอมรับและไม่ยอมรับ ที่มาของความอยุติธรรมจึงผ่านคนที่มีอำนาจในสังคม เส้นทางอำนาจในแต่ละยุคสมัยก็มีสัดส่วนองค์ประกอบที่แตกต่างกัน คือ

1.อำนาจของกำลัง เช่น อาวุธ ทหาร

2. อำนาจที่มาจากความนับถือ เชื่อถือ ตามจารีตประเพณีวัฒนธรรม เช่น ความนับถือในสถาบันต่างๆ ในสังคมนั้นๆ

3. อำนาจทางเศรษฐกิจเช่นเงินทอง ที่ดิน การควบคุมการค้า

4. อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

5. อำนาจที่ผ่านตัวบทกฎหมาย …ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากทั้ง 4 อำนาจที่กล่าวมา จะถูกหลอมรวมเพื่อตั้งคนกลุ่มหนึ่ง หรือสภาหนึ่ง เพื่อร่างกฎเกณฑ์ตามที่ต้องการ แต่ก็เรียกว่ากฎหมาย เช่นเดียวกับในระบบยุติธรรม

นี่จึงเป็นอำนาจที่ 5 ที่อาจสร้างได้ แก้ไขได้ เลิกได้ และเป็นครื่องมือสำคัญในการบังคับคน ซึ่งจะใช้ผ่านฝ่ายตุลาการ ผ่านองค์กรอิสระ หรือฝ่ายนิติบัญญัติ และระบบราชการ

อำนาจปกครองเกือบทุกประเทศจะมีฐานทางอำนาจ มาจาก 5 ส่วนนี้ มีมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน แต่มีความแตกต่างและองค์ประกอบของแต่ละยุคว่าส่วนไหนมากน้อย

 

ผู้กำหนดความยุติธรรมหรืออยุติธรรม คือผู้มีอำนาจ

ถ้าประชาชนมีอำนาจ เสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตยจะสูง แต่ถ้าอำนาจไปรวมศูนย์ที่บางคน บางกลุ่ม กฎหมายจึงเขียนขึ้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ในสมัยก่อนการมีทาสจึงเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ใครให้ความช่วยเหลือทาสให้หนีไป จะมีความผิด แต่กฎหมายในยุคใหม่คือการค้ามนุษย์ ใครมีทาสต้องมีความผิด

เมื่อความอยุติธรรมถูกกำหนดในรูปกฎหมาย ตั้งแต่โบราณมาก็ได้เขียนกฎหมายให้สิทธิคนไม่เท่ากัน แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี แต่ผู้ชนะและมีอำนาจจะยังคงเป็นผู้กำหนดกฎและวิธีปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งคืออำนาจของผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐสภาหรือแบบประธานาธิบดี อำนาจแบบนี้จึงเป็นอำนาจที่ต้องมีพลังประชาชนที่เข้มแข็งหนุนหลัง ประชาชนต้องมีความเชื่อว่าอำนาจของตนเองเป็นอำนาจที่สูงสุด มีอำนาจกำหนดตัวผู้ปกครอง วิธีการปกครอง กำหนดตัวบทกฎหมาย กำหนดกติกาทางเศรษฐกิจ การแบ่งสรรทรัพยากร ควบคุมการใช้กำลังและอาวุธ

ถ้าประชาชนยังคิดว่าตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองก็ต้องอยู่กันแบบไม่รู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่นักวิเคราะห์ก็มองกันว่า ครั้งนี้ถ้ายืดเยื้อนานไป อาจไม่จบด้วยการเลือกตั้ง แต่จะมีวิกฤตการเมืองแบบพฤษภา 2535 หรือพฤษภา 2553 หรือการรัฐประหาร อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องอ่างและกระถางแตก