เมนูข้อมูล : “การเมือง” กับ “ปากท้อง”

“การเมืองจะเป็นอย่างไร” เป็นคำถามที่อยู่ในความสนใจที่จะหาคำตอบของคนไทยในยุคนี้

รัฐบาลจะอยู่ยาวและสืบทอดตาไปตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่

พรรคการเมืองจะเอาอย่างไรกับการเลือกตั้งที่กติกาจะพาให้สมาชิกไปเสี่ยงกับอันตรายและความเสียหาย โดยแทบไม่เหลือโอกาสที่จะพลิกกลับมามีอำนาจ

หลังจากการเขียนกติกาโครงสร้างอำนาจให้ฝ่ายที่ไม่นิยมการเลือกตั้งมีความได้เปรียบสูง การช่วงชิงอำนาจการตัดสินใจแต่งตั้งจะอยู่ในกลุ่มไหนมากกว่ากลุ่มไหน

ทั้งที่ได้จัดการให้กติกามีความได้เปรียบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมากมาย แต่ทำไมจึงดูเหมือนว่าจะมีความพยายามยื้อการเลือกตั้งออกไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ยังมีคำถามอีกหลายเรื่องที่รอคำตอบ ชนิดที่ก่อความรู้สึกว่าการเมืองปัจจุบันมีความซับซ้อนและลึกลับยิ่งกว่าก่อนมากมาย

และอาจจะเป็นเพราะความลึกลับที่เพิ่มขึ้นนี้เองที่ทำให้ความสนใจติดตามความเป็นไปทางการเมืองยิ่งเพิ่มขึ้นในใจของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ความเป็นไปทางการเมืองมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของชีวิต

และอาจจะเป็นเพราะไม่ว่าอยากรู้แค่ไหน แต่คำตอบที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงกลับไม่ค่อยมีให้ได้ฟัง ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนเสียมากกว่า

ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงรับรู้ความเป็นไปทางการเมืองในทางที่ยังไม่นิ่งพอที่จะชัดเจนในแนวทางที่เป็นไป

ไม่เหมือนกับเรื่องเศรษฐกิจที่ข้อมูลของรัฐบาลกรอกหูอยู่ทุกวันอย่างเชื่อมั่นว่า ดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะตัวเลขที่มีความสำคัญต่อแนวโน้ม หากฟังข้อมูลจากภาครัฐล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องน่ายินดีปรีดาที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการให้ออกไปในทางสร้างความรู้สึกที่ดีต่อประชาชน

เพียงแต่ความน่าสนใจอยู่ที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกดีเหมือนที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามทำให้เกิดขึ้นหรือไม่

ผลสำรวจของสถาบันวิจัยและบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ “เอยูโพล” เรื่อง “ดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 4”

พบว่าในภาพรวมประชาชนทุกวัย เรื่องที่ทำให้เครียดมากที่สุดเป็นอันดับแรกคือ เศรษฐกิจการเงิน ร้อยละ 61.30 รองลงไป เรื่องสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 43.33 เป็นเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 56.34 เรื่องครอบครัว ร้อยละ 37.63 เรื่องงาน ร้อยละ 36.66

สำรวจความเครียดเรื่องเศรษฐกิจการเงินโดยแบ่งตามรุ่นตามวัย

ความเครียดเรื่องการเศรษฐกิจการเงินของ Gen Y (อายุ 25-35 ปี) อยู่ที่อันดับแรกคือร้อยละ 66.82, Gen Z (อายุ 15-18 ปี) อยู่อันดับ 3 ร้อยละ 48.00, Gen M (อายุ 19.24 ปี) อยู่อันดับ 1 ร้อยละ 61.16, Gen B (อายุ 51-69 ปี) อยู่ที่อันดับแรกร้อยละ 60.45, Gen X (อายุ 36-50 ปี) อยู่อันดับแรก ร้อยละ 61.47

ความเครียดที่เกิดขึ้นก่อความรู้สึกเบื่อหน่าย ร้อยละ 67.77, ไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 62.80 และรู้สึกหมดกำลังใจ ร้อยละ 45.96

เป็นผลสำรวจที่ดูจะคนละด้านกับที่รัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจพยายามนำเสนอให้ประชาชนเห็น

ความหนักอกหนักใจต่อปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องนั้น แม้จะมีมากกว่า แต่คนกลับให้ความสนใจน้อยกว่าการเมือง

ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะข้อมูลที่นำเสนอในทางสร้างกระแสความเชื่อเป็นไปได้มาจากภาครัฐ กลบความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนไป

อีกเหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ “การเมือง” ที่มีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากกว่า

คำถามส่วนใหญ่ที่เจอหน้า หรือตั้งวงสนทนากันจึงเป็น “การเมืองจะเป็นอย่างไร” มากกว่า

หรือไม่ก็ ไม่มีใครอยากพูดถึงเศรษฐกิจในความรู้สึกที่สวนทางกับที่รัฐบาลเสนอ