ศัลยา ประชาชาติ : ยักษ์ “เอไอเอส” อัพสปีดธุรกิจ จุดพลุ “อินเตอร์ในทุกสิ่ง” ทรานส์ฟอร์ม “คน” รับมือโลกเปลี่ยนเร็ว

ท่ามกลางกระแสการปรับเปลี่ยนในโลกธุรกิจ ซึ่งเป็นผลจาก “ดิจิตอล ดิสรัปชั่น” ที่เข้ามาลบล้างการทำงานแบบเดิมๆ

หลายๆ แห่งต้องรื้อกระบวนการทำงานใหม่

หลายๆ แห่งต้องลดคนเป็นพันๆ

ฯลฯ

ในฐานะพี่ใหญ่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม จังหวะก้าวของ “เอไอเอส” จึงมักได้รับการจับตามอง อีกทั้งเอไอเอสไม่ได้จำกัดตนเองอยู่ที่การเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป

นับตั้งแต่ “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เมื่อ 3 ปีก่อน และได้ประกาศว่าจะขับเคลื่อนผลักดันองค์กรไปสู่การเป็น “ผู้ให้บริการดิจิตอล” หรือดิจิตอลไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์

ปี 2561 เขายังตั้งเป้าการเติบโตในแง่รายได้ของ “เอไอเอส” ไว้ที่ 5-6% มากกว่าปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 3-4% เทียบเท่าการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวม

แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายยิ่ง แต่มั่นใจว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้นบ้าง แต่ที่จะมีส่วนมากคือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้การใช้งานดาต้าเติบโตเพิ่มขึ้นมาก

 

ซีอีโอใหญ่เอไอเอสเชื่อว่า ธุรกิจบริการ แม้จะมีเทคโนโลยี “เอไอ” หรือในอนาคตจะมี “โรโบติกส์” เข้ามาช่วย สุดท้ายแล้ว “หัวใจ” ในการบริการลูกค้ายังอยู่ที่ “คน”

“เอไอเอส” จึงไม่มีนโยบายลดคน

ตั้งแต่รับตำแหน่ง “ซีอีโอ” เมื่อ 3 ปีก่อน และประกาศว่า “เอไอเอส” ต้องก้าวไปสู่การเป็น “ดิจิตอลไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์” ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรในหลายส่วนด้วยกัน ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

“ฮาร์ดแวร์” คือสินค้าและบริการต่างๆ เช่นเดิม มีแต่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ก็เพิ่ม “ฟิกซ์ บรอดแบนด์” (เอไอเอส ไฟเบอร์) รวมไปถึงดิจิตอลคอนเทนต์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ มีประกอบด้วย 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1.วิดีโอ แพลตฟอร์ม 2.โมบายมันนี่ 3.พาร์ตเนอร์ แพลตฟอร์ม 4.คลาวด์คอมพิวติ้ง แพลตฟอร์ม และ 5.ไอโอที แพลตฟอร์ม

ส่วนด้าน “ซอฟต์เเวร์” เน้นไปที่เรื่อง “บุคลากร” หรือ “คน” เพื่อให้พร้อมรับกับสิ่งที่องค์กรต้องการจะไป

“เรื่องคน เราเริ่มทำตั้งแต่สร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่ เพราะต้องยอมรับว่า คัลเจอร์เอไอเอสเดิมแข็งแรงมาก เป็นแบบแฟมิลี่ พี่ช่วยน้องมากว่า 20 ปี แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนเร็ว โครงสร้างองค์กรที่เป็นระบบมากๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ช้า แม้จะทำถูก แต่ถ้าช้าก็มีโอกาสแพ้ จึงต้องปรับให้คล่องแคล่วขึ้น”

“คน” เอไอเอสจึงต้องเปลี่ยนให้ทันโลก

แม้วันนี้ “เอไอเอส” จะยังเป็น “ผู้นำ” ก็ต้องอย่าคิดว่าเป็น “ผู้นำ”

 

วัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ของ “คน” เอไอเอส เรียกว่า “FIND U” คือ

1. F-Fighting Spirit หัวใจนักสู้

2. I-Innovation สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม

3. N-New Ability มีทักษะและความสามารถใหม่ๆ เช่น ด้านบริการฟิกซ์บรอดแบนด์ แม้ในเชิงเทคโนโลยีจะต่ำกว่า “โมบาย” แต่ทักษะในการดูแลลูกค้าต้องเรียนรู้ใหม่

4. D-Digital Service มีความรู้เกี่ยวกับบริการดิจิตอลของบริษัท

และ 5. ความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (U-Sense of Urgency)

นอกจากเป้าหมายในเชิงธุรกิจแล้ว ในฐานะคนไทยและบริษัทไทย “เอไอเอส” ยังให้ความสำคัญกับการนำความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในด้านต่างๆ โดยดำเนินการผ่านโครงการ “ดิจิตอล ฟอร์ ไทย” เช่น มีการจัดทำแอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขได้ใช้ประโยชน์ในการทำงาน เป็นต้น

“ดิจิตอล ฟอร์ ไทย มีเพื่อผลักดันให้ใช้อินฟราสตรั๊กเจอร์ของเราให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา, สาธารณสุข การเกษตร และสตาร์ตอัพ”

 

ในปี 2561 เขายังชี้ให้เห็นว่า “อินเตอร์เน็ต” จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างมากมาย จากเทคโนโลยี Internet of Things หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง”

“อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า IoT ถือเป็นอีกขั้นของการใช้อินเตอร์เน็ตที่จะเข้ามาใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้มีการใช้งาน “ดาต้า” เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยใช้อยู่ และจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

จากที่ “อินเตอร์เน็ต” เคยอยู่บน “คอมพิวเตอร์” และ “สมาร์ตโฟน” จะไปอยู่ในทุกสิ่ง

ซีอีโอเอไอเอสอธิบายว่า “ไอโอที” เริ่มจากการใช้งานในองค์กรต่างๆ ก่อนไปถึงผู้บริโภคทั่วไป เช่น รถ, การขนส่ง, ประปา, ไฟฟ้า ต่อไปมิเตอร์น้ำ และไฟฟ้า จะมี “ซิม” ส่งการเเจ้งเตือนไปหาผู้ใช้ได้ เป็นต้น และต่อไปจะไปถึงในบ้าน เช่น ตู้เย็นมีเซ็นเซอร์บอกได้ว่านมหมด และเชื่อมกับระบบออนไลน์ช้อปปิ้งให้สั่งซื้อของผ่านตู้เย็นได้ เป็นต้น

“ที่จีนเริ่มเอาไปเชื่อมต่อกับจักรยาน เมื่อต่ออินเตอร์เน็ตได้ก็เช่าออนไลน์ได้ จอดตรงไหนก็ได้ เกิดเป็นแชริ่งอีโคโนมี ในบ้านเราก็จะมี เพราะ 1.เน็ตเวิร์กพร้อมเเล้ว ปีที่แล้วเราเปิดตัว NB-IoT ที่เสถียรและดีที่สุด และใช้งานได้จริง 2.ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประกาศว่าจะทำให้สินค้าต่ออินเตอร์เน็ตได้ และ 3.มีแอพพลิเคชั่น เพราะเมื่อ 1 และ 2 พร้อมก็จะมีแอพพลิเคชั่นมาเติมให้สมบูรณ์”

“สมชัย” ย้ำว่าปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี “ไอโอที” ในบ้านเรา และจะมีการใช้แพร่หลายภายในปี 2563 ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสามัญเช่นเดียวกับการใช้แอพพลิเคชั่น “ไลน์” ในทุกวันนี้

แน่นอนว่าเมื่อโลกเปลี่ยน เอไอเอสก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน