แพทย์ พิจิตร : บทเรียนจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 : เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (31)

ข้อสังเกตของ กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง ที่ให้ไว้ต่อภาพรวมของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2481-2529 ชี้ว่า

“จากประสบการณ์และความเป็นจริงของไทย จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เกรงการตอบโต้จากสภา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรของไทยอ่อนแอ เป็นเหตุให้สภาเสียเปรียบฝ่ายบริหาร ซึ่งมีผลเสียต่อศรัทธาของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

ขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์การยุบสภาของการเมืองอังกฤษที่กล่าวไปในตอนก่อนๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติที่วิวัฒนาการจากการที่อำนาจดังกล่าวอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์ ต่อมาเป็นคณะรัฐมนตรี และในที่สุดเป็นของนายกรัฐมนตรี และถึงแม้ว่าจะไม่มีการยุบสภาครั้งใดที่ขัดกับหลักการและประเพณีการปกครอง

แต่กระนั้น อำนาจในการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม

ในศตวรรษที่ยี่สิบ เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจในการยุบสภาตามความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีที่ Lord Hailsham วิตกว่าจะนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” (elective dictatorship)

รวมทั้งความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในการเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลมักจะเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายค้าน อีกทั้ง การที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาตามที่ตนเห็นชอบมักส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมนตรีร่วมพรรคและร่วมรัฐบาล รวมทั้ง ส.ส. ในพรรคของตนในสภาด้วย

อันเป็นการใช้อำนาจที่สุดโต่งเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาวะที่เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในการเลือกตั้งที่ฝ่ายรัฐบาลมักจะเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายค้าน อีกทั้ง การที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาตามที่ตนเห็นชอบมักส่งผลให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมนตรีร่วมพรรคและร่วมรัฐบาล รวมทั้ง ส.ส. ในพรรคของตนในสภาด้วย

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าจะนำมาซึ่งการทำลายหลักการการปกครองแบบผสม (mixed constitution) ซึ่งเป็นหลักการและรากฐานของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

และในที่สุดแล้ว ข้อถกเถียงและข้อวิตกกังวลดังกล่าวได้นำไปสู่การออก พ.ร.บ. the Fixed Term Parliament (วาระที่แน่นอนของสภา) ในปี พ.ศ.2554 ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนถึงสองในสาม

ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษ

และเข้าข่ายเป็นการทบทวนทั้งระบบ

แต่ผู้ถวายคำแนะนำในการยุบสภาก็ยังอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจเฉพาะของตัวนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

 

จะเห็นได้ว่า หลักการและเหตุผลในการออก พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้เพื่อมุ่งการแก้ไขปัญหาที่เพิ่งกล่าวไป และรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับความคลุมเครือของพระราชอำนาจในการปฏิเสธคำแนะนำในการยุบสภา

ด้วยการสร้างความชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้กลไกของการยุบสภาเพียงเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองเฉพาะของตัวนายกรัฐมนตรีหรือพรรคการเมือง

เพราะการถวายคำแนะนำในการยุบสภาที่ไม่สมเหตุสมผลโดยนายกรัฐมนตรีจะส่งผลกระทบต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเท่ากับนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

พ.ร.บ. ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการลดทอนความเป็นไปได้ในการยุบสภาและกำหนดกระบวนการยุบสภาที่ต้องริเริ่มและมาจากตัวสภาเองอย่างชัดเจน

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในอังกฤษให้มาอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนแทน

และให้ความสำคัญต่อเสียงข้างมากพิเศษที่ต้องมีเสียงรับรองอย่างน้อยสองในสามของสภาผู้แทนราษฎรในการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนสภาครบวาระ

ถือเป็นการให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติสมดุลหรือเหนือกว่าฝ่ายบริหารในการยุบสภา

 

ขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณาทัศนะเกี่ยวกับอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการยุบสภาผู้แทนราษฎรของสุจิต ภายใต้ “แบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ” ที่นำเสนอโดยสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance) ซึ่งวิเคราะห์อำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้สองแบบ

นั่นคือ แบบที่ฝ่ายบริหารโดดเด่นมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ

กับแบบที่ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติที่สมดุลกัน จะพบว่า ทัศนะของอาจารย์สุจิต จะให้น้ำหนักกับแบบแรก

ขณะเดียวกัน สถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้งก็ได้ให้ข้อชี้แนะไว้ว่า จากมุมมองของการออกแบบรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่สุดที่พึงระลึกถึงคือ อำนาจในการยุบสภาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและทื่อเท่อ ไม่ว่าอำนาจในการยุบสภาจะเป็นของรัฐบาลหรือของตัวสภาเอง

(ที่ว่าทื่อเท่อก็เพราะว่า เมื่อรัฐบาลหรือสภาใช้อำนาจนี้ยุบสภาแล้ว ทั้งรัฐบาลและสภาต่างก็หมดสภาพต้องลงไปสุ่มเสี่ยงกับการเลือกตั้งทั้งคู่ นั่นคือ เมื่อรัฐบาลมีปัญหากับสภา หรือสภามีปัญหากับรัฐบาล และยุบสภา สภาพการเป็นรัฐบาลและสภาก็สิ้นสุดลงไปด้วย ฝ่ายรัฐบาลจะยังคงมีภาษีดีกว่าตรงที่ยังเป็นรัฐบาลรักษาการได้ แต่สำหรับสภา ถือว่าสิ้นสุด—ผู้เขียน)

ดังนั้น สถาบัน—ไม่ว่าจะเป็นสถาบันประมุขของรัฐ รัฐบาลหรือตัวสภาเอง—ที่ใช้อำนาจนี้จะต้องมีความเข้มแข็งในการเจรจาต่อรองกับสถาบันอื่นๆ

ดังนั้น ในการออกแบบบทบัญญัติว่าด้วยการยุบสภา นักออกแบบรัฐธรรมนูญจำเป็นที่จะต้องถามตัวเองว่า จะให้อำนาจกระจายไปอย่างไรในระบบการเมือง

 

สําหรับอาจารย์บวรศักดิ์เห็นว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ไม่ชอบด้วยเหตุผลตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาตามหลักสากล และก็น่าจะขัดกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยก่อนหน้านี้ทั้งหมดด้วย

ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า

“มันเป็นจะเรียกว่าประเพณีการปกครอง ก็ต้องหมายถึงประเพณีที่อยู่ในตัวระบบรัฐสภาเท่านั้น ไม่ใช่หมายถึงประเพณีของประเทศไทย มันเป็นตรรกะของระบบรัฐสภา ใช้คำว่านั้นดีกว่า เป็นตรรกะหลักการของระบบรัฐสภา ไม่ใช่ของประเทศไทยเฉพาะ ไม่จำเป็นว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีประเพณีอย่างนี้อยู่ก่อน เพราะจริงๆ ประเทศไทยจะมีประเพณีนี้อยู่ก่อนหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ ถ้าดูการยุบสภาย้อนหลังไป มันก็มีฐานมาจากความขัดแย้งในสภาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาของ พล.อ.เปรม ขัดแย้งกันเรื่องอาจารย์จำได้ใช่ไหมเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ทำท่าไม่ดีก็ยุบ คุณชวนทำท่าจะแพ้เรื่อง ส.ป.ก. เกิดความรวนเรกัน พลังธรรมจะถอยก็ยุบ คุณบรรหารมีปัญหาเดียวกันก็ยุบ มันเป็นปัญหาที่เกิดจากสภาทั้งนั้น แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มันไม่มีเหตุเกิดจากสภาเลยแล้วยุบสภา (เน้นโดยผู้เขียน) ซึ่งผมก็เห็นของผมอย่างนี้…”

และเมื่อผู้เขียนได้ถามถึงหนทางในการป้องกันในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการยุบสภาที่ไม่ถูกต้องตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาและรวมถึงขัดต่อหลักการการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้า พ.ศ.2549 อีก

อาจารย์บวรศักดิ์ได้ให้ความเห็นว่า

“คือมันมีสองทางคือ หนึ่ง เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เหมือนกับครั้งอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีรูสเวลต์ฝ่าฝืน convention (ประเพณี—ผู้เขียน) ที่ว่าประธานาธิบดีสมัครไม่เกินสองสมัย มันก็ตามมาด้วยการแก้รัฐธรรมนูญอเมริกันห้าม นี่คือทางหนึ่งที่ทำให้ convention กลายเป็นกฎลายลักษณ์อักษร ทางที่สองคือ พูดกันตรงๆ ก็คือว่ามันต้องมี political sanction และ political sanction คราวนั้น ก็เห็นชัดว่าคือการนำไปสู่ความวุ่นวายและการรัฐประหาร political sanction”