ไม่แน่นอน

กลับมาสู่ ความไม่แน่นอน ตามคาดหมาย

สำหรับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา

โดย กกต. มีมติเห็นแย้ง 4 ประเด็นในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

และ 1 ประเด็นในร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.

ขณะที่ กรธ.

นอกจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บ่นดังๆ ว่า สนช. แก้เยอะไปหมดแล้ว

กรธ. มีมติโต้แย้งร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 4 ประเด็น

ส่วนร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. เห็นแย้ง 3 ประเด็น

แม่น้ำแต่ละสาย ช่างมีลำน้ำเป็นของตัวเองดีแท้!

กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายที่ตั้งขึ้น

จะมีจำนวน 11 คน สนช. 5 คน กรธ. 5 คน และ กกต. 1 คน

ต้องพิจารณาให้เสร็จใน 15 วัน

แล้วส่งให้ สนช. ลงมติใหม่อีกรอบ

อะไรก็เกิดขึ้นได้ ในขั้นตอนนี้

ตั้งแต่หักดิบ “ล้ม” กฎหมายลูก อย่างที่คาดหมายกัน

หรือ จะไม่หักดิบ แต่ใช้วิธีให้มีผู้ส่งศาล รธน. ตีความ ว่าขัด รธน. หรือไม่

ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ได้ออกตัวไว้แล้วว่า การยื่นให้ศาล รธน. วินิจฉัยกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้นไม่เคยอยู่ในโรดแม็ป

ซึ่งหากยื่น อาจส่งผลกระทบให้โรดแม็ปช้าออกไป

อย่างน้อยๆ ก็ 1-2 เดือน

หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญต้องรื้อกันใหม่

ได้ปั่นป่วนกันอีกรอบ

นอกจากจะมีความพยายามใช้เทคนิคใดเพื่อยืดเวลาเลือกตั้งออกไปตามข้างต้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังได้ดักคอไว้ล่วงหน้าว่า ความไม่แน่นอนอีกประการหนึ่ง ที่ไม่ควรมองข้าม

นั่นคือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนได้ตลอดเวลา

อย่าประมาท

จะมีความแน่นอนได้ก็ต่อเมื่อหัวหน้า คสช. พูดให้ชัดเจนว่า มีความประสงค์อย่างไร และยืนยันว่าจะทำให้ได้

ซึ่งก็คงคาดหมายได้ไม่ยากว่า หัวหน้า คสช. จะยอมทำให้ชัดหรือไม่

ปล่อยให้คลุมเครือ ยั่วกลุ่มอยากเลือกตั้งออกมาป่วนให้มากๆ

ถึงตอนนั้น ก็สามารถอ้างเรื่องสังคมไม่สงบ ลากเลือกตั้งออกไปได้อีก

ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องแบบนี้

จะทำให้ชัดเจนทำมั้ย

ภาวะเช่นนี้ จึงให้ทำใจรับภาวะไม่แน่นอน “การเลือกตั้ง” ไว้เป็นดีที่สุด

เกิดขึ้นจริงๆ จะได้ไม่อกแตก