ต่างประเทศ : วิกฤตการเมือง “มัลดีฟส์” การดิ้นรนของประธานาธิบดียามีน

วิกฤตการเมืองบนประเทศเกาะท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์อย่าง “มัลดีฟส์” ในสัปดาห์นี้ทวีความตึงเครียดมากขึ้น

หลังประธานาธิบดี “อับดุลลา ยามีน” ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ทั่วประเทศ พร้อมทั้งสั่งให้มีการควบคุมตัวผู้พิพากษาศาลสูง รวมไปถึงอดีตประธานาธิบดีที่เคยครองตำแหน่งยาวนาน

ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่ได้ตกเป็นข่าวในหน้าสื่อเท่าไรนัก

ทว่าคำตัดสินของศาลสูงเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีคำสั่งให้ปล่อยตัวแกนนำนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งนั้น กลายเป็นชนวนให้ประธานาธิบดีเผด็จการอย่าง “ยามีน” นั้นใช้อำนาจตอบโต้อย่างเดือดดาล

 

อับดุลลา ยามีน ก้าวเข้าสู่อำนาจเมื่อปี 2013 มีชื่อเสียงในการกวาดล้างผู้เห็นต่างอย่างเด็ดขาด ด้วยการจับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ชื่อเสียงของมัลดีฟส์ ประเทศที่เพิ่งมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2008 ถอยหลังลงไปอีก เมื่อยามีนไม่สนใจคำสั่งของ “ศาลสูง” ให้ปล่อยตัวผู้เห็นต่างทางการเมือง 9 ราย และคืนเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส. 12 รายที่ถูกยามีนปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากแปรพักตร์จากพรรค “โปรเกรสซีฟปาร์ตี้ออฟมัลดีฟส์” ของประธานาธิบดียามีนเอง

การตัดสินของศาลสูงดังกล่าวส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านเมื่อนับรวมกับ ส.ส.แปรพักตร์แล้วจะครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา

ซึ่งนั่นหมายความว่าจะสามารถยื่นญัตติเพื่อถอดถอนประธานาธิบดียามีนได้

การตัดสินดังกล่าวยังเป็นการเปิดทางให้อดีตประธานาธิบดีที่อยู่ระหว่างลี้ภัย “โมฮัมเหม็ด นาชีด” ผู้นำคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก่อนถูกตัดสินอย่างมีข้อกังขาให้มีความผิดฐานก่อการร้ายเมื่อปี 2015 ให้กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีนี้ได้

 

การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ทางการเมืองดังกล่าวส่งผลให้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดียามีนส่ง “ทหาร” ไปที่ทำการศาลสูงและจับกุม “ผู้พิพากษา”

ขณะที่ “ตำรวจ” ถูกส่งไปจับกุมอดีตประธานาธิบดีพี่ชายพ่อเดียวกันกับประธานาธิบดียามีน อย่าง “เมามูน อับดุล กายูม” ผู้ที่เคยครองตำแหน่งยาวนาน 30 ปี ก่อนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของประชาชนนับร้อยคนที่รวมตัวกันที่หน้าที่ทำการศาลในกรุงมาเล เพื่อประท้วงการจับกุมดังกล่าว

การดำเนินการของประธานาธิบดียามีน ได้รับแรงหนุนมาจากผู้บัญชาการทหาร “อาห์เหม็ด ชิยาม” ที่ระบุเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “กองทัพมัลดีฟส์จะไม่ปล่อยให้มัลดีฟส์ก้าวไปสู่วิกฤต”

และเตือนว่า “จะไม่เชื่อฟังคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของศาลสูง”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ขณะที่อดีตประธานาธิบดีกายูมถูกนำตัวออกจากบ้านนั้น ได้รับการ “แสดงความเคารพ” จากเจ้าหน้าที่ตำรวจมัลดีฟส์ ในการจับกุมที่นักวิเคราะห์มองว่า จะส่งผลให้เกิดการเลือกข้างในหมู่กองกำลังความมั่นคงของประเทศ เนื่องจาก “กายูม” ยังได้รับการเคารพนับถือในระดับสูง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัว ปิดกั้นอำนาจฝ่ายตุลาการ รวมถึงรัฐสภาในการถอดถอนประธานาธิบดีไปโดยปริยาย

 

ด้านพรรคฝ่ายค้านมองว่า การรวบอำนาจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดียามีนกำลัง “ดิ้นรน” ทางการเมืองอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม การผูกสัมพันธ์กับ “จีน” และ “ซาอุดีอาระเบีย” ซึ่งเข้ามาลงทุนในมัลดีฟส์อย่างมหาศาลในยุคประธานาธิบดียามีนนั้นอาจเป็นหลักประกันให้กับประธานาธิบดียามีนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สำหรับ “โมฮัมเหม็ด นาชีด” นั้นได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2008 ก่อนกลายเป็นคนดังระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว เมื่อนาชีดประกาศนโยบายเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วน และกลายเป็นข่าวโด่งดังด้วยการจัดการ “ประชุมคณะรัฐมนตรีใต้น้ำ”

เพื่อสะท้อนสถานการณ์เลวร้ายที่เกาะมัลดีฟส์กำลังเผชิญอยู่

 

วิกฤตการเมืองในประเทศร้อนแรงขึ้นเมื่อยามีนได้ชัยชนะอันมีข้อกังขาในการเลือกตั้งรอบสองเหนือนาชีด เมื่อปี 2013

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุในแถลงการณ์ว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่ง ประธานาธิบดียามีนสร้างความแตกแยกในหมู่พรรคร่วม มีการจับกุม หรือไม่ก็เนรเทศคู่แข่งทางการเมือง ลิดรอนสิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเป็นตัวแทนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แก้กฎหมายเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน และปลดเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ทำตามคำสั่ง

ความตึงเครียดทางการเมืองส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของมัลดีฟส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุดรัฐบาล “จีน” หนึ่งในประเทศที่มีคนเดินทางเยือนมัลดีฟส์มากที่สุด รวมถึงเพื่อนบ้านอย่าง “อินเดีย” ประกาศเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเยือนมัลดีฟส์โดยไม่จำเป็น

เช่นเดียวกับ “อังกฤษ” “สหรัฐอเมริกา” รวมถึง “ประเทศไทย” ที่ประกาศเตือนประชาชนให้ใช้ความระมัดระวัง และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ หน่วยงานความมั่นคงของมัลดีฟส์จะเกิดความแตกร้าวหรือไม่ หลังอดีตประธานาธิบดีกายูมถูกควบคุมตัว

รวมไปถึงจับตามองการรวมตัวประท้วงบนท้องถนนที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ฝันร้ายบนเกาะที่เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักเดินทางทั่วโลกก็เป็นได้