ต่างประเทศ : คดีทายาทซัมซุง ย่ำรอยอำนาจทุนครอบงำอำนาจรัฐ?

5 กุมภาพันธ์ 2561 อี แจ ยอง ทายาทรุ่น 3 วัย 49 ปี แห่งอาณาจักรซัมซุง “แชโบล” หรือกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่สุดในเกาหลีใต้ เดินออกจากเรือนจำในกรุงโซลทันที หลังศาลสูงมีคำพิพากษาสั่งลดโทษ จากโทษจำคุก 5 ปี ในข้อหาติดสินบน ฉ้อโกงและข้อหาอื่นๆ ลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งคือจำคุก 2 ปีครึ่ง แต่ให้รอลงอาญาไว้ 4 ปี

เช่นเดียวกับผู้บริหารของซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์อีก 4 คน จำเลยร่วมในคดีที่ได้รับการลดหย่อนโทษลงเช่นกัน

แน่นอนว่าคำตัดสินลดโทษให้นายอี แจ ยอง ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและชิพความจำรายใหญ่ที่สุดในโลกของศาลกรุงโซลซึ่งเป็นชั้นอุทธรณ์ ย่อมจุดความโกรธเกรี้ยวให้กับประชาชนจำนวนมากที่ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดมาตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะกลุ่มหัวปฏิรูปที่ไม่ต้องการเห็นอำนาจรัฐ อำนาจศาล ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนอีกต่อไป

 

คดีของทายาทซัมซุงเป็นส่วนหนึ่งในคดีที่สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นวงการเมืองเกาหลีใต้ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ ปาร์ก กึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งผ่านกระบวนการทางรัฐสภาช่วงปลายปี 2559 ภายใต้ข้อกล่าวหากระทำการทุจริตและใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในหลายข้อหา

หนึ่งในนั้นคือการรับเงินสินบนจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศ รวมถึงเงินสินบนจากผู้บริหารซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังมีนางชเว ซุน ซิล อดีตที่ปรึกษาและเพื่อนสนิทของปาร์ก กึน เฮ เป็นตัวละครสำคัญในคดีอื้อฉาวเขย่าประเทศนี้ด้วย

ในคำวินิจฉัยตัดสินของ ชอง ฮยอง ซิก หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงกรุงโซลชี้ให้เห็นว่า อี แจ ยอง จำเลยสำคัญในคดีเป็น “ฝ่ายถูกกระทำและจำยอมทำตาม” ในกลอุบายทางการเมือง จากการถูกอีกฝ่ายเรียกรับสินบน โดยที่จำเลยไม่ได้แสวงหาความช่วยเหลือใดๆ จากอดีตผู้นำเกาหลีใต้ ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่จำเลยควรได้รับการลดหย่อนโทษ

แม้ตอนนี้ อี แจ ยอง จะเดินตัวปลิวออกจากเรือนจำไปเป็นที่เรียบร้อย แต่คดีนี้ยังเหลือในชั้นฎีกาที่ฝ่ายจำเลยและฝ่ายอัยการที่ร้องต่อศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกทายาทรุ่น 3 ของซัมซุงกรุ๊ปเป็นเวลา 12 ปี ในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมกันต่อไป

 

คําสั่งศาลให้รอลงอาญาไว้ต่อ อี แจ ยอง ยังทำให้เขาเดินย้อนรอยเกือบใกล้เคียงกับ อี กุน ฮี ผู้เป็นบิดา และ อี บยอง ชอล ปู่ที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุงขึ้นเมื่อราว 80 ปีก่อนจนทำให้ซัมซุงกรุ๊ป เป็นแชโบลทรงอิทธิพลที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้รุ่งโรจน์

อี กุน ฮี ผู้พ่อ ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีรับสินบนเมื่อปี 2539 รวมถึงการหลบเลี่ยงภาษีและข้อหาอื่นๆ เขาได้รับโทษจำคุก 10 ปี แต่ศาลกลับให้รอลงอาญาไว้หลังจากเขาได้รับการอภัยโทษจากนายอี มยอง บัก ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในช่วงเวลานั้น

เป็นผลให้อี กุน ฮี ไม่ต้องติดคุก

ส่วนอี บยอง ชอล ถูกกล่าวหาในคดีใหญ่ของการลักลอบนำสินค้าเข้าประเทศ แต่อี บยอง ชอล หลุดรอดการถูกดำเนินคดี หลังจากเขายอมยกกิจการส่วนหนึ่งให้รัฐบาล

โดยจุดที่ต่างออกไปของอี แจ ยอง คือเขาถูกจองจำอิสรภาพเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็มนับจากถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสสังคมที่มีความรู้สึกโกรธแค้นต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มทุนอย่างหนักในช่วงเวลานั้น

ซึ่งการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการส่งสารอันมีนัยสำคัญให้สังคมเกาหลีใต้ได้เห็นว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย!

ทว่าถึงตอนนี้ อี แจ ยอง สามารถเดินออกจากเรือนจำไปได้แล้ว

 

“เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง นี่เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นอีกครั้งว่าซัมซุงอยู่เหนือกฎหมายและศาล” ปาร์ก ยอง จิน หนึ่งในสมาชิกพรรคประชาธิปไตยเกาหลีของประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ กล่าวให้ความเห็นต่อคำตัดสินของศาล ในขณะที่พรรคของนายมุน แจ อิน ชูนโยบายปฏิรูปและต่อต้านการครอบงำของกลุ่มทุนในการหาเสียงมาโดยตลอดจนชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในขณะที่นักวิเคราะห์นักสังเกตการณ์หลายคนกำลังจับตาดูว่าหลังจากนี้ อี แจ ยอง จะมีความเคลื่อนไหวหรือไม่อย่างไรต่อไป ทั้งในแง่ของการต่อสู้คดีในชั้นศาลสูงสุด และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการบริหารกิจการของบริษัทที่เขากำกับดูแลอยู่

แต่ประเด็นหนึ่งนักวิเคราะห์ยังเชื่อว่าถึงอย่างไรคดีนี้ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นไปจากความสนใจของคนในสังคมที่ต้องการจะเห็นการปฏิรูปเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ไปได้ โดยเฉพาะการมุ่งขจัดการครอบงำของอำนาจทุนที่มีต่ออำนาจรัฐซึ่งฝังรากแน่นมายาวนาน

และยังเชื่อว่าพลังประชาชนพร้อมถูกปลุกขึ้นมาให้ต่อสู้ได้ทุกเมื่อหากประเทศเดินย่ำรอยประวัติศาสตร์เลวร้ายขึ้นอีก ซึ่งก็คงจะวนเวียนเป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้ หากการปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง…