เศรษฐกิจ/จาก “บิตคอยน์” สู่ “ไอซีโอ” ระดมทุนรูปแบบใหม่ผ่านเงินดิจิตอล รัฐมึนตึ้บหาแนวทางคุมหรือได้แค่เตือน

เศรษฐกิจ

จาก “บิตคอยน์” สู่ “ไอซีโอ”

ระดมทุนรูปแบบใหม่ผ่านเงินดิจิตอล

รัฐมึนตึ้บหาแนวทางคุมหรือได้แค่เตือน

เปิดต้นปี 2561 มีเรื่องให้คนไทยต้องศึกษาเรียนรู้เข้าใจเทรนด์อนาคตด้านการเงิน หลังจากเริ่มรู้จัก “บิตคอยน์” 1ในสกุลเงินดิจิตอลกันมาแล้ว

ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเจวีซี บริษัทย่อยของเจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือเจมาร์ท ได้เปิดตัวระดมทุนเหรียญดิจิตอล หรือไอซีโอ เป็นรายแรกของประเทศไทย ในชื่อ “เจฟินคอยน์”

โดยบริษัทจะออกไวต์เปเปอร์ เทียบได้กับหนังสือชี้ชวนการลงทุนหุ้น และเปิดจองซื้อในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เริ่มขายเหรียญอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม

เจมาร์ทระบุถึงวัตถุประสงค์ของการออกไอซีโอครั้งนี้เพื่อนำเงินไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิตอล มูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 660 ล้านบาท ระดมทุนโดยไอซีโอ 100 ล้านเหรียญเจฟินคอยน์ ในราคาหน่วยละ 6.60 บาท

หลายคนอาจสงสัยว่า “เจฟินคอยน์” ต่างกับ “บิตคอยน์” หรือไม่ ก็คงไม่ต่างกันนัก เป็นสกุลเงินดิจิตอล หรือคริปโตเคอเรนซี่ เหมือนกัน

เพียงแต่บิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกเมื่อไม่นานนี้ จนเกิดการเก็งกำไรราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นสูงจนน่าตกใจ เคยมีราคาสูงสุดถึง 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 608,000 บาทต่อ 1 บิตคอยน์เมื่อธันวาคม 2560

แต่ปัจจุบันราคารูดลงอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ 9,242 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 296,000 บาทต่อ 1 บิตคอยน์

ขณะที่เจฟินคอยน์ เป็นการเปิดระดมทุนรูปแบบใหม่ด้วยเหรียญดิจิตอล (ไอซีโอ) เทียบได้กับการเปิดระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมเนื่องจากสามารถระดมทุนได้เร็ว มีข้อจำกัดน้อย และออกเป็นเหรียญของตัวเอง หรือเรียกว่า โทเค็น

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด อธิบายไว้ว่า คริปโตเคอเรนซี่หรือสกุลเงินดิจิตอลในปัจจุบันมีประมาณ 1,500 สกุล เพราะผู้ที่ต้องการระดมทุนหรือไอซีโอต้องออกเงินสกุลใหม่ของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นดอลลาร์หรือเป็นบิตคอยน์ ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่จะระดมทุนด้วยไอซีโอต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไอซีโอไม่ได้มีไว้ทดแทนการทำไอพีโอ (การเสนอขายหุ้นทั่วไปเป็นครั้งแรก) หรือทดแทนการระดมทุนแบบดั้งเดิม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของไอซีโอคือให้บริษัทที่มีโครงการทำธุรกิจบนระบบอินเตอร์เน็ตสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา “เพราะฉะนั้น บริการที่จะเกิดขึ้นหรือธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นธุรกิจออนไลน์เท่านั้น ไม่ใช่ว่าอยากจะสร้างโรงเหล็กโรงใหม่ก็ออกไอซีโอ แล้วเอาเงินที่ว่ามาแลกเป็นเหรียญแล้วสร้างโรงเหล็ก นั่นไม่ใช่”

ก่อนหน้าเจมาร์ทจะเปิดตัวเจฟินคอยน์ได้ไม่นาน บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือเป็นรายแรกในไทยที่เปิดตัวให้บริการซื้อขายบิตคอยน์ฟิวเจอร์ส ในตลาด CBOE (Chicago Board Options Exchange) และตลาด CME (Chicago Mercantile Exchange) ซึ่งมีผู้ลงทุนให้ความสนใจสอบถามเป็นจำนวนมาก

“ปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ฟิลลิป เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้เปิดให้บริการซื้อขายบิตคอยน์ฟิวเจอร์สทั่วไป มีขั้นตอนคัดเลือกลูกค้าที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น มีฐานะทางการเงินมั่นคง เพราะเป็นสินค้าที่ผันผวนสูง

อย่างที่บอกมูลค่าบิตคอยน์ในปัจจุบันลดลงมาก แต่ก็ยังเป็นที่สนใจของนักลงทุน ทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงสูง อาจเกิดภาวะฟองสบู่หรืออาจเป็นแหล่งฟอกเงินหรือไม่ และมีหลายประเทศที่ยังไม่ให้การรับรอง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แม้ว่าจะมีบางประเทศเปิดให้ซื้อขายอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม

แต่นี่คือเทรนด์ของโลกอนาคตที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาทุกที หน่วยงานรัฐจึงพยายามระดมสมองหาทางป้องกันปัญหา ก่อนที่จะกลายเป็น “วัวหายแล้วล้อมคอก”!!

“สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เทคแอ๊กชั่นเรื่องนี้ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการดูแลการลงทุนสกุลเงินดิจิตอล คาดว่าอีก 1 เดือนจะสรุปแนวทางได้ แต่ระหว่างนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าเงินดิจิตอล โดยเฉพาะบิตคอยน์ในไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่การลงทุนต้องระวังมากขึ้น หากเกิดความเสียหายทางการไม่สามารถช่วยเหลือได้

“รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ก.ล.ต. คลัง ธปท. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องทำงานร่วม จึงต้องเห็นภาพนโยบายเดียวกัน โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นเกณฑ์ไอซีโอและบิตคอยน์ เพื่อปรับปรุงและแก้ไขหลักเกณฑ์การดูแลให้เหมาะสม ทันสมัย คาดว่าจะประกาศเกณฑ์ได้ภายในไตรมาแรกนี้

แต่โดยหลักการคือ

1. ต้องไม่หลอกคน

2. ต้องมีตัวตน

และ 3. มีการเปิดเผยข้อมูลในระดับหนึ่งเพื่อให้คนตัดสินใจได้

ขณะที่ “เกศรา มัญชุศรี” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงมาตรการดูแลของ ตลท. ว่า “จะดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลที่มีผลกับฐานะการเงินและมูลค่าของบริษัท เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในความดูแล”

ปิดท้ายด้วย “สันติ กีระนันทน์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อัพเดตว่าขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียน สนใจเข้ามาขอข้อมูลเรื่องไอซีโอ เพิ่มเติมอีก 1 ราย หลังจากก่อนหน้านี้เจมาร์ทเตรียมตัวพร้อมเปิดระดมทุนไอซีโอแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าลงทุนโทเค็นผ่านไอซีโอ ขอแนะนำให้อ่านไวต์เปเปอร์ให้ครบถ้วนและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน เพราะถือเป็นข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทที่ออกไอซีโอโดยตรง

ดังนั้น ผู้ซื้อต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าโทเค็นที่ซื้อไปทำอะไรได้บ้าง มีข้อกำหนดอย่างไร มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพราะบริษัทมีโอกาสที่จะดำเนินการตามที่ชี้แจงไว้ไม่สำเร็จได้ ส่วนมาตรการดูแลของ ตลท. คือการให้คำแนะนำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม หากเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน

ส่วนการบันทึกข้อมูลการระดมทุนไอซีโอจะอยู่ในงบดุลเป็นภาระผูกพันต่อผู้ถือหน่วย ไม่นับเป็นหนี้ และไม่กระทบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท!!

เรื่องนี้ต้องรอมาตรการกำกับดูแลของรัฐบาลในอีก 1 เดือนว่าจะป้องกันได้ หรือได้แค่เตือน แต่ที่แน่ๆ คนที่สนใจเข้าไปลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ และต้องมีความรู้เป็นอย่างดีก่อนลงสู่สนามเงินสมมุติแห่งโลกอนาคต โดยเฉพาะข้อมูลที่ระบุไว้ในไวต์เปเปอร์ เพราะโดยกลไกของไอซีโอที่มีรูปแบบการตัดทอนตัวกลางและช่วยอำนวยความสะดวก จะทำให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบยาก เช่นเดียวกับการลงทุนในบิตคอยน์ที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ

“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน น่าจะเป็นคาถาที่ดีที่สุดของผู้สนใจลงทุน