วิช่วลคัลเจอร์ประชา สุวีรานนท์ / ถังเจอร์รี่ : สงครามและสันติภาพ

Wehrmacht-Einheitskanister von 1941, Hersteller NIRONA

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ถังเจอร์รี่ : สงครามและสันติภาพ

ในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้และไม่ชอบธรรม แต่ก็เหนือกว่าฝ่ายสัมพันธมิตรในแง่การออกแบบ ตัวอย่างคือ ถังเจอร์รี่ หรือถังน้ำมันสำรองที่มักจะติดไว้คู่กับยางสำรอง ตรงหลังรถจี๊ปหรือรถบรรทุก

กำเนิดขึ้นเพื่อบรรจุน้ำมันสำหรับรถถังในสงคราม และเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของทหารที่ใช้ในหลายสมรภูมิ เมื่อสิ้นสงคราม เราจึงเห็นถังแบบนี้นับสิบล้านใบกระจายอยู่ทั่วยุโรป

ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ เคยพูดไว้ว่า “ปราศจากถังแบบนี้ เราไม่มีทางบุกฝรั่งเศสและตีเยอรมนีได้”

และกลายเป็นไอคอนอันหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง

ทุกวันนี้ สงครามโลกครั้งที่สองยังถูกนำกลับมาศึกษาอยู่เรื่อยๆ

เช่น ในหนังสือ The Second World Wars : How the First Global Conflict Was Fought and Won ของ วิกเตอร์ เดวิส แฮนสัน

ผู้เขียนพยายามตอบคำถามทางยุทธศาสตร์ว่าสัมพันธมิตรชนะเพราะอะไร หรือฝ่ายอักษะแพ้เพราะอะไร?

เยอรมนีแพ้เพราะไม่พร้อม เช่น แม้จะเริ่มการโจมตีก่อน และมีเทคโนโลยี (เช่น เรือดำน้ำ เครื่องบิน จรวด และรถถัง) ที่ดีกว่า แต่ไม่มีกำลังพล ซึ่งต้องใช้ในการรักษาพื้นที่ขนาดใหญ่ๆ ที่เป็นประเทศหรือทวีป และไม่มีกำลังเสริมขนาดใหญ่ รวมทั้งเชื้อเพลิงสำรอง

พูดอีกอย่าง ฝ่ายอักษะอาจจะยึดโลกได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้

ถังเจอร์รี่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ แต่ถ้าให้ความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ บทบาทของอุปกรณ์นี้ก็มีมากเช่นกัน

ในตอนต้นสงคราม การโจมตีแบบสายฟ้าแลบของเยอรมนี เกิดขึ้นเพราะความจำเป็น นั่นคือไม่มีเชื้อเพลิงมากพอที่จะสู้รบได้นาน แม้ในการบุกโปแลนด์ ซึ่งเป็นการประกาศสงคราม ก็ต้องแก้ปัญหาระบบขนส่งให้ได้เสียก่อน

ว่ากันว่า ฮิตเลอร์รู้ว่าจุดอ่อนของรถถังแพนเซอร์คือเชื้อเพลิง จึงสั่งให้ออกแบบภาชนะใส่น้ำมันที่พร้อมเข้าสมรภูมิ ถังแบบนี้มีชื่อจริงว่า Wehrmacht-Einheitskanister ทำด้วยเหล็กหนัก 60 ปอนด์ รูปร่างเหลี่ยม วางซ้อนกันได้ มีขนาด 18 x 13 x 7 นิ้ว จุได้ 20 ลิตรหรือห้าแกลลอน

เขาใช้เหล็กหล่อสองชิ้นประกบกันและเชื่อมทีเดียว ด้านข้างมีร่องที่เพิ่มความแข็งแรง ทุกมุมมีความมน ไม่มีรอยต่อและไม่มีทางรั่ว

ภายในเคลือบด้วยพลาสติก และใช้เทคนิคที่ใช้เคลือบภายในถังเบียร์ ทำให้ดัดแปลงเป็นถังบรรจุนํ้าได้ ฝาถังเปิดปิดด้วยมือ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นใด

ที่น่าสนใจคือ มือจับซึ่งกลมมนและมีสามอัน สิ่งนี้มาจากการออกแบบอย่างพิถีพิถัน กล่าวคือ ถ้าเบา ก็หิ้วด้วยมือเดียวได้ ถ้าหนัก ก็หิ้วด้วยสองมือหรือสองคน เหมือนหิ้วถังใส่น้ำได้

การออกแบบบังคับให้บรรจุของเหลวได้ไม่เต็มถัง ด้านบนจึงมีฟองอากาศ และทำให้ลอยนํ้าได้เมื่อถูกทิ้งลงไปในแม่น้ำหรือทะเล นอกจากนั้น ยังมีท่ออากาศอีกอันที่ใช้รินน้ำมันใส่ยานพาหนะ เพื่อทำให้ไม่มีการกระฉอก

จากนั้น ถังเจอร์รี่นับพันก็ถูกปั๊มออกมาจากโรงงานผลิตเครื่องบินและยานพาหนะอื่นๆ ในชเวล์ม และส่งไปพร้อมกับรถถังและรถบรรทุกจำนวนมาก

ในช่วงนั้น การขนส่งปิโตรเลียมไปทั่วโลกของตะวันตก เป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วย เรือเดินสมุทร ท่อส่งน้ำมัน รถไฟ และรถบรรทุก แต่การส่งในสมรภูมิหรือระหว่างการสู้รบ ยังไม่ได้ถูกปรับปรุง

ในปี พ.ศ.2482 สงครามกำลังจะเริ่มขึ้นและทั้งสองฝ่ายเร่งผลิตยานพาหนะและอาวุธสงครามแล้ว แต่อังกฤษยังใช้ถังน้ำมันแบบปี๊บน้ำมันก๊าดที่ทำด้วยแผ่นดีบุกบางๆ

ถังแบบนี้มีการเชื่อมหลายจุด แถมยังมีข้ออ่อนมากมาย เช่น หิ้วยาก ปากเปิดปิดได้ลำบาก และจุได้เพียงสี่แกลลอน

ที่สำคัญ น้ำมันมักจะรั่วออกตรงมุม

นายพลโคลด ออคชินเลก ของอังกฤษ ซึ่งบัญชาการรบในแอฟริกาเหนือและอินเดีย บอกว่าปี๊บแบบนี้ทำให้อังกฤษสูญเสียนํ้ามันในขั้นตอนขนส่งไปกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์

ในช่วงต้นสงคราม เยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบ อังกฤษมารู้เคล็ดลับอันนี้ หลังจากที่ประสบความพ่ายแพ้ในการรบที่แอฟริกาเหนือ

และเมื่อพบตัวอย่างถังน้ำมันของเยอรมนี จึงก๊อบปี้มาใช้บ้าง ทหารอังกฤษเรียกมันว่า Jerrycan (Jerry เป็นสแลงภาษาอังกฤษที่แปลว่าเยอรมัน) จากนั้น ถังกว่าล้านใบถูกปั๊มขึ้นมาเพื่อส่งไปแอฟริกาเหนือ และต่อมาก็ผลิตกันได้ในตะวันออกกลาง

ตำนานเกี่ยวกับถังเจอร์รี่ของฝ่ายอเมริกันก็คือ อเมริการู้ข้อมูลเกี่ยวกับถังแบบนี้ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม วิศวกรอเมริกันได้ตัวอย่างและสเป๊กจากเพื่อนวิศวกรเยอรมันคนหนึ่งในเบอร์ลิน และส่งให้รัฐบาลของตน แต่ไม่มีใครสนใจ

เมื่อสงครามดุเดือดขึ้น กองทัพบกของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มสนใจขึ้นมา ในการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี อเมริกาผลิตถังแบบนี้ออกมามากมาย และถือว่าเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของฝ่ายสัมพันธมิตร

แม้จะเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ของยานพาหนะ แต่ก็เป็นหนึ่งในดีไซน์ชั้นดีของเยอรมัน หลังจากที่ถูกลอกเลียนโดยฝ่ายตรงข้ามในสงครามเดียวกัน ถังเจอร์รี่ยังมีบทบาทในอีกหลายสมรภูมิ

ถ้าเรียกภาวะปัจจุบันว่าสันติภาพ เราอาจจะมองว่าสงครามโลกครั้งที่สอง คือระบบขนส่งที่มีแต่เพียงยานพาหนะ ไม่มีทั้งถนนและปั๊มนํ้ามันข้างทาง ถังเจอร์รี่จึงเป็นสัญลักษณ์ของ “การพึ่งตนเอง” สิ่งนี้ส่งทอดมาถึงยุคสันติภาพ และเมื่อระบบขนส่งขนาดใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จึงมีผู้หันมามองถังแบบนี้มากขึ้น นอกจากนั้น การใช้บรรจุนํ้าดื่มได้ ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการบรรเทาทุกข์ด้านสาธารณูปโภคด้วย

ทุกวันนี้ อาจจะเปลี่ยนรูปบ้างหรือเปลี่ยนวัสดุเป็นพลาสติกบ้าง แต่ก็ยังใช้กันทั่วไปสำหรับ จี๊ป แลนด์โรเวอร์ ฮัมวี และมิตซูบิชิ รถบรรทุกที่ใช้ได้ทั้งเพื่อการสงครามและสันติภาพ