อุบัติการณ์ “สติ” เงาสะท้อนแห่ง “ปัญญา” “สติปัญญา” ปรากฏ

เป็นปัญหาว่าด้วยการประสบ การสัมผัส โดยมี “อายตนะ” เป็นสะพาน เป็นเครื่องเชื่อมอย่างสำคัญระหว่างภายนอก กับ ภายใน

เมื่อมี “ปัญญา” ทุกอย่างก็ราบรื่น

คำถามอยู่ที่ว่า จะสามารถเกิด “ปัญญา” ได้อย่างไรในท่ามกลางความปั่นป่วน วุ่นวาย ของสภาพแวดล้อมโดยรอบ

คำตอบอยู่ที่ ความสะอาด คำตอบอยู่ที่ ความสงบ

ความสะอาดแนบแน่นอยู่กับ “ศีล” ความสงบแนบแน่นอยู่กับ “สมาธิ” หาก 2 องค์ประกอบนี้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกภาพ

โอกาสแห่ง “ความสว่าง” คือ “ปัญญา” ย่อมตามมา

งานนิพนธ์ของท่านพุทธทาสภิกขุก้าวมาถึงขั้นตอนอย่างสำคัญแห่งรูปธรรมอันเป็นเงาสะท้อนของปัญญา

คืออะไร ต้องอ่าน

ฉะนั้น พระอรหันต์จะเห็นรูป จะฟังเสียง จะดมกลิ่น จะลิ้มรส จะสัมผัสอะไรก็ตาม เหมือนที่คนธรรมดาเขาสัมผัสนั่นแหละ แต่ไม่มีผลเหมือนกัน

คือ ไม่ได้ยึดถือ

มันกระเด็นกลับออกไปเพียงแค่ผัสสะ มันไม่ปรุงเป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันจึงต่างกันกับเราที่เป็นปุถุชน อะไรเข้ามามันก็รับเอาเข้ามา มันไม่กระเด็นกลับออกไป เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เป็นเพียงผัสสะ

มันจึงเป็นเวทนาขึ้นมา เป็นตัณหาขึ้นมา เป็นอุปาทานขึ้นมา เป็นชาติภพขึ้นมา และเป็นทุกข์

นี่คือ “วุ่น” และเป็นทุกข์

เท่าที่กล่าวมาแล้วนี้ ถ้าฟังถูก เข้าใจ ก็จะพบเห็นได้ด้วยตนเองว่า สิ่งที่จะช่วยให้เราว่างอยู่เสมอได้ก็คือ “สติ” นั่นเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

สุญญะโต โลกัง อะเวกขัสสุ โมฆะราชะ สะทา สโต

คำว่า “สโต” แปลว่าผู้มีสติ คำว่า “สะทา” แปลว่าทุกเมื่อ

สุญญะโต โลกัง อะเวกขัสสุ แปลว่า เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด โมฆราช (คนที่ถามชื่อ โมฆราช)

คำว่า “สติ” คำเดียวนี้อย่าไปดูถูก

มีพระพุทธภาษิตว่า สะติ สัพพัตถะ ปัตถิยา แปลว่า สติเป็นสิ่งปรารถนาทุกกรณี

“สะติ” แปลว่าสติ “ปัตถิยา” แปลว่าอันบุคคลพึงปรารถนา “สัพพัตถะ” แปลว่าในทุกกรณี ในทุกเวลา ในทุกสถานที่

“สติ สัพพัตถะ ปัตถิยา” จำไว้ให้แม่นๆ ว่า สตินี้เป็นสิ่งจำประสงค์ ทุกกรณี ทุกสถานที่

ถ้า “สติ” ที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงพอมีอยู่แล้วมันกันไม่ให้สิ่งที่มากระทบนั้นปรุงแต่งจิตใจได้ มาทางตาก็กระเด็นออกไป มาทางหูก็กระเด็นออกไป มาทางจมูกก็กระเด็นออกไป ฯลฯ

หมายความว่า

พอตาเรามองเห็นสิ่งใดที่เคยทำให้เรารัก “สติ” ก็มาทันท่วงทีทำให้เราเฉยอยู่ได้ ไม่หลงรัก สิ่งที่เคยมาทำให้เราเกลียด โกรธ ร้อน ฯลฯ เราก็ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่ร้อน ฯลฯ

แม้ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ฯลฯ ก็เหมือนกัน

แม้ที่สุดแต่โดยทางที่ใจมันจะคิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีตา หู ฯลฯ ทำงาน บางเวลาใจเราคิดนึกไปเอง คิดนึกไปในทางไหนทำให้ใจเกิดความรักขึ้นมา คิดนึกไปทางไหนทำให้ใจเกิดความเกลียดขึ้นมา

ต่อแต่นี้คือเมื่อมี “สติ” แล้วมันก็ไม่เป็นอย่างนั้น

พอความคิดจะเดินมาตามแนวเดิม “สติ” มันรู้ทันเสียก่อน มันหยุดเสีย มันหัวเราะเสียแล้วมันตะเพิดไปเสีย คล้ายๆ กับมันว่า “อ้าว มาอีกแล้ว” เท่านี้พอ แต่มันเกิดทันควันเท่านั้น มาเพื่อให้รัก มาเพื่อให้เกลียดอีกแล้ว

นี่เราก็ไม่เล่นด้วย เราคงว่างอยู่ตามเดิม

จากนี้จึงเห็นได้ว่าที่ท่านพุทธทาสภิกขุนำเอาหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานิพนธ์มาบรรยายอย่างต่อเนื่อง

จึงเพิ่มความแจ่มชัดเป็นลำดับ

แจ่มชัดว่าหากความวุ่น ภาวะแห่งไม่ว่า มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นองค์ประกอบอย่างสำคัญ ความว่างย่อมดำรงอยู่คู่กับปัญญา

หากไม่มี “ปัญญา” ก็ยากยิ่งจะบังเกิด “ความว่าง”

รูปธรรมแห่งปัญญาอันแจ่มชัดยิ่งก็คือ ความมี “สติ” ระลึกได้ ระลึกชอบ เป็นเหมือนเบรกในทุกสถานการณ์

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ทุกเมื่อ ทุกกรณี ทุกสถานที่

“สติ” เหมือนกับเป็นเรื่องง่ายในทางศัพท์แสงและภาษา แต่ยากเป็นอย่างยิ่งเมื่อแปรไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง

ปฏิบัติอย่างมี “สติ” อย่างที่เรียกว่า “สติปัญญา”