โล่เงิน : 4 ปี เส้นทางคดี “กปปส.” ฟ้อง “สุเทพ-พวก” 9 แกนนำ ข้อหาหนัก “กบฏ-ก่อการร้าย”

ย้อนไปเมื่อช่วงปลายปี 2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมกลุ่มอดีต ส.ส. ของพรรคลาออกจากพรรคมาเดินถนนต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยอ้างว่าร่างนิรโทษกรรมดังกล่าวนั้นมีเนื้อหาลบล้างความผิดให้นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตและแกนนำกลุ่มก่อเหตุร้ายในการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยที่ไม่รับฟังเสียงทักท้วงของประชาชน

และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 นายสุเทพประกาศจัดตั้งเวทีชุมนุมที่เวทีสามเสนเป็นเวทีแรก เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยก่อตั้งกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.

จากนั้นในการชุมนุม กปปส. ก็มีการยกระดับการชุมนุม มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการขยายเวทีเป็นดาวกระจาย 13 จุด เเละภายหลังลดลงมาเหลือ 7 จุดการชุมนุม และ 5 จุดในช่วงท้าย

ระหว่างการชุมนุมแต่ละเวทีมีการปราศรัยและกิจกรรมต่างๆ โดยกิจกรรมที่สำคัญและเป็นที่ฮือฮาคือ กิจกรรมชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 โดยการพามวลชนกระจายไปยังถนนเส้นต่างๆ รวมถึงเข้าไปในสถานที่ราชการ

ซึ่งตลอดการชุมนุมพบว่ามีการปะทะกับกองกำลังต่างๆ มีผู้บาดเจ็บเเละเสียชีวิต หลังจากนั้นนายสุเทพแกนนำประกาศนำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดกรุงเทพฯ โดยมีการตั้งเวทีใน 7 จุดสำคัญ อันเป็นหัวใจของระบบการจราจร

การชุมนุมของ กปปส. ในครั้งนั้น ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้งสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนมาสิ้นสุดการชุมนุมเด็ดขาดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากการรัฐประหาร

แต่ก่อนที่ประเทศจะเข้าสู่การควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มาจากรัฐประหารแล้ว ด้านคดีการชุมนุมของ กปปส. ก็เริ่มมีการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี

โดยวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เป็นเวลาก่อนหน้ารัฐประหารไม่กี่วัน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอในขณะนั้น นำสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับแกนนำ กปปส. รวม 58 คน ฐานกบฏและข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา ส่งมอบให้นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ พร้อมพยานเอกสารต่างๆ 56,514 แผ่น

นายนันทศักดิ์ได้พิจารณาสำนวนของดีเอสไอและยื่นฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว 4 ราย คือ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์, นายเสรี วงษ์มณฑา, นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และนายสกลธี ภัททิยกุล พร้อมทั้งมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายสุเทพกับพวกผู้ต้องหารวม 43 คน

รวมทั้งมีความเห็นไม่ฟ้องไป 1 คน คือ นายพิจารณ์ สุขภารังษี อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ และมีผู้ต้องหาแยกสำนวนไป 7 คน และยังไม่ได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด 3 คน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่นายนันทศักดิ์ยื่นฟ้องคดีกับผู้ต้องหา 4 รายเป็นจำเลยที่ศาลอาญาแล้ว ต่อมาระยะเวลาผ่านล่วงเลยมากว่า 3 ปี 6 เดือน แต่ก็ยังไม่มีการนำตัวผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมดยื่นฟ้องต่อศาลอาญา

ทำให้นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เป็น 1 ในผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีกบฏได้ยื่นหนังสือติดตามคดีให้อัยการคดีพิเศษ นำตัวผู้ต้องหาที่นายนันทศักดิ์เคยเห็นควรสั่งฟ้องศาลมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง มายื่นฟ้องต่อศาลให้ได้

หลังจากมีการตามคดีอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดอัยการคดีพิเศษ 4 ได้นัดผู้ต้องหาทั้งหมดมาฟังคำสั่งในวันที่ 24 มกราคม 2561

และในวันสั่งคดี นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยหลังจากอัยการนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลว่า การนัดฟังคำสั่งวันนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นตามคำสั่งเดิมเมื่อปี 2557

และมีผู้ต้องหาเดินทางมาพบแล้ว 9 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายชุมพล จุลใส, นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์, นายอิสสระ สมชัย, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายถาวร เสนเนียม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง

ด้านนายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เผยว่า ผู้ต้องหาที่นัดมาฟ้องวันนี้ทั้งหมด 43 คน อัยการเตรียมฟ้องไว้ทุกคนที่มารายงานตัว ขณะนี้มา 9 คน ในช่วงเช้า จึงตัดสินใจฟ้อง 9 คนไปก่อน

ส่วนอีก 34 คน ที่มีการยื่นคำร้องขอเลื่อนเข้ามา จะต้องพิจารณาว่าแต่ละคนมีเหตุผลสมควรหรือไม่

หากมีเหตุผลสมควรก็จะให้เลื่อนไป ถ้าไม่มีเหตุผลสมควรก็จะนัดหมายให้มาฟ้อง

โดยขอดูเหตุผลก่อน

แต่จนหมดเวลาทำการ นอกจากแกนนำทั้ง 9 คนเเล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยอีก 34 คน เดินทางมารายงานตัวในช่วงบ่าย ทำให้วันนี้มีการยื่นฟ้องไปเพียงเเค่ 9 แกนนำเท่านั้น

เเละหลังจากยื่นฟ้องเเล้ว ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดประกันตัวตีราคาประกันคนละ 600,000 บาท โดยห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ ศาลอาญายังได้มีคำสั่งต่อว่า คดีนี้มีจำเลยจำนวนมาก เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยปราศจากอุปสรรค จึงกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยแต่งตั้งทนายความให้เรียบร้อยในวันนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน และให้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย เป็นหลักสำคัญ

พร้อมกำชับต่อว่า หากทนายจำเลยติดภารกิจ ให้จำเลยแต่งตั้งทนายความคนใหม่ และจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะเหตุขัดข้องเรื่องทนายความ

มิเช่นนั้นจะถือเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประวิงคดีและศาลอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสั่งปล่อยชั่วคราว เท่ากับศาลดักทางป้องกันการยื้อและประวิงคดีไว้แล้ว

นับเป็นจุดเริ่มต้นของคดีกบฏ, ก่อการร้ายของกลุ่ม กปปส. ที่ใช้เวลากว่า 4 ปี ถึงจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล และเป็นที่น่าจับตามองว่าท้ายที่สุดผลคดีจะออกหมู่หรือจ่ากันแน่!!