สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน…เยือน ร.ร. I see U การศึกษาระหว่างเด็กต่างชาติพันธุ์ (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนาไม่ได้เป็นเส้นแบ่งความเป็นมนุษย์ แต่เป็นความผูกพัน ความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน”

ธีรวุฒิ พิชคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่สามแลบ ในชุดกะเหรี่ยง ประธานกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายสาละวิน สะท้อนมุมมองจากประสบการณ์จัดการศึกษาระหว่างเด็กต่างชาติพันธุ์ ในโอกาสต้อนรับคณะผู้มาเยือน

“อย่างเช่น ถ้าเพื่อนเขียนหนังสือไม่เป็น เราก็ช่วยให้เขาเขียนเป็น พอเขาเขียนเป็นเขาก็มีน้ำใจให้เรา เรียนรู้ร่วมกัน”

ทัศนะของเขาน่าจะเป็นตัวแทนความเชื่อของครูทุกคนที่ว่า เด็กทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมใดๆ สามารถพัฒนาได้ หากให้โอกาสกับพวกเขา”

ด้วยความคิดเช่นนี้เอง ทำให้ครูมีขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้กับความยากลำบากเพื่ออนาคตทางการศึกษาและชีวิตที่ดีกว่าของนักเรียน

 

“การจัดการศึกษาโรงเรียนตามแนวตะเข็บชายแดน แต่ละชาติพันธุ์มีความแตกต่าง ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผี แต่วิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันอย่างงดงาม ทุกวันศุกร์นักเรียนจะแต่งกายตามชุดชนเผ่า ทุกเช้าจะเดินขึ้นบันไดกว่า 100 ขั้นมาถึงโรงเรียน ทุกวันมีเวรในห้องเรียน” เขากล่าวต่อ ทุกคนฟังด้วยความประทับใจ

“เด็กคลุมหน้า เวลาเข้าพรรษาก็ไปวัด เด็กๆ ทุกคนร่วมกันไปในพิธีทางศาสนานั้นๆ โรงเรียนจัดการเรียนการสอนร่วมกัน สำคัญที่สุดขอให้ทุกคนเป็นคนดี”

“บูรณาการการเรียนการสอน สังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สอดแทรกเข้าไปในหลักสูตร เวลาจัดกิจกรรมก็ให้ทุกเผ่า ทุกศาสนาเข้าร่วม ทำให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคี กิจกรรมกีฬา ช่วยผ่อนคลาย เชื่อมความสัมพันธ์ ทุกเดือนโรงเรียนเชิญผู้นำความเชื่อมาให้ความรู้กับเด็ก”

“ผู้ใหญ่จากกระทรวงมาเยี่ยม ศูนย์เครือข่ายมีครู และบุคลากรทั้งหมด 102 คน นักเรียน 1,112 คน พวกเราดีใจมาก เป็นขวัญ กำลังใจกับคณะครู นักเรียน และชุมชน ที่ผ่านมาสำนักงานเขตพื้นที่ให้คำปรึกษามาตลอด มีปัญหาบ้างเรื่องการเดินทาง โรคภัยโดยเฉพาะมาลาเรีย” ผอ.หนุ่มปิดท้าย

ก่อนพิธีกรส่งไมค์ให้เลขาธิการ กพฐ. บอกข่าวดี เรื่องอะไร ไว้เล่าวันหลัง

 

ระหว่างแยกย้ายกันชมห้องเรียน ซุ้มแสดงผลงานนักเรียนจาก 11 โรงเรียนในศูนย์เครือข่ายสาละวิน สนทนาปราศรัยฟังความในใจของครู

การจัดพื้นที่รายรอบโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกลมกลืน ร่มรื่น ธรรมชาติเป็นตัวช่วยอย่างดี แมกไม้ทั้งเล็ก ใหญ่ มีครูพูดไม่ได้ติดอยู่เต็มไปหมด

หนึ่งในนั้น ที่จามจุรีใหญ่ข้างเวที ป้ายไม้เขียนคำสุภาษิต Actions speak louder than words มีภาษาไทยกำกับ “การกระทำดังกว่าคำพูด”

หลายต่อหลายป้าย หลายคำเตือนใจ สอนความเป็นคน เด็กๆ วิ่งเล่นไปมาหยุดอ่าน นานๆ เข้าก็ซึมซับ จดจำได้เอง ติดตัวไปตลอด

จัดการศึกษาระหว่างเด็กต่างชาติพันธุ์จึงต่างจากโรงเรียนปกติ ทั้งเทคนิคการสอน การคิดค้นแบบเรียน สื่อการเรียนการสอนที่ใช้ได้กับเด็กทุกคนฯ ที่สำคัญความอดทนของครูในการสื่อสารให้เด็กเกิดความเข้าใจ

หากไม่มี “ใจ” เสียอย่าง ทุกอย่างก็จบ

 

หลายโรงเรียนนอกจากมีครูปกติแล้ว ยังมีอีกตำแหน่งคือ ครูวิกฤต โรงเรียนบ้านซิวาเดอมีครูวิกฤต 3 คน โรงเรียนบ้านแม่แคะมี 1 คน โรงเรียนบ้านกลอโซเล มี 1 คน ใครคือครูวิกฤต ภารกิจต่างจากครูธรรมดาอย่างไร หรือคือครูที่ไร้เสถียรภาพ น่าเห็นใจไม่น้อย

การจัดการโรงเรียนวิกฤต ครูวิกฤต โดยสนับสนุนให้รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่เขตพื้นที่การศึกษาชี้แนะให้ปฏิบัติเพื่อ ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาแหล่งสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาจากภายนอก ทั้งจากภาคการศึกษาด้วยกันเอง มหาวิทยาลัย วิทยาลัย ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ

รูปแบบการแก้ปัญหาโดยพึ่งพาตนเองท่ามกลางการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น จึงเกิดจากจิตใจที่เสียสละ อุดมการณ์ จิตวิญญาณความเป็นครูและผู้บริหาร

การเรียกร้องความสำเร็จโดยมุ่งถามหาแต่ผลสัมฤทธิ์ คะแนนทดสอบโอเน็ต เอ็น ที ปิซ่า เปรียบเทียบกับโรงเรียนซึ่งมีความพร้อมทุกด้าน จึงไม่เป็นธรรม เป็นความกดดันโรงเรียนอย่างยิ่ง

ตัวชี้วัดสำหรับโรงเรียนเหล่านี้จึงอยู่ที่ทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพเป็นสำคัญ เพราะหมายถึงความอยู่รอดและการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีศักดื์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เป็นปัญหา ไม่ใช่เก่งวิชาแต่ทำมาหากินไม่เป็น เอาตัวไม่รอด ลงไปใช้ชีวิตในเมืองก็กลายเป็นเหยื่อความศิวิไลซ์และเห็นแก่ตัวของคน

เพียงแค่โรงเรียนเหล่านี้สามารถเป็นแหล่งป้องกัน สกัดกั้นไม่ให้เด็กๆ ก้าวเดินในทางที่ผิด รู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต นับว่าเป็นความสำเร็จที่ควรยกย่องแล้ว

 

เหตุจากความต่างและลักษณะเฉพาะของโรงเรียนบนดอยสูงนี่เอง ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาเป็นการเฉพาะคือ โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่สูงในถิ่นธุรกันดาร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 5 สิงหาคม 2551

ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด 25 เขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวตะเข็บติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว และพม่า ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง เป็นพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ ลำธาร ประชากรหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง มูเซอ ไทยใหญ่ ม้ง เมี่ยน จีนฮ่อ มลาบรี

ต่อมาขยายเป็น 22 จังหวัด 68 เขตพื้นที่การศึกษา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง ตาก เพชรบุรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสววรรค์ เลย สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี

โรงเรียนตั้งอยู่ในหุบเขา ระหว่างภูเขา ที่มีความสูงกว่าความสูงเฉลี่ยของจังหวัดที่ตั้ง หรือตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลห้าร้อยเมตรขึ้นไป

มาตรการพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กปกติทั่วไป ทั้งการยุบ ควบรวม จึงใช้ไม่ได้กับโรงเรียนกลุ่มนี้เท่าไรนัก เพราะสภาพความรุนแรงของปัญหาต่างกันมาก

แนวทางแก้หลัก คือ

1. ใช้รูปแบบจัดการศึกษาแบบโรงเรียนพักนอน สำหรับนักเรียนที่บ้านอยู่บนยอดเขา ปลายดอย ห่างไกล ไปมาลำบาก ได้พักอาศัยในโรงเรียน

ติดตามด้วย 2. จัดการศึกษาแบบห้องเคลื่อนที่

3. แบบโรงเรียนเขตพื้นที่และแบบศูนย์เครือข่าย

4. แบบหนึ่งโรงเรียนสามระบบ ซึ่งถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการศึกษาและกลยุทธ์การปฏิบัติต่อไปจากปี 2560-2564

โครงการพัฒนาดำเนินมาตั้งแต่ปี 2551 ผ่านไปสิบปี การประเมินผลน่าศึกษาวิจัยเชิงระบบ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ นวัตกรรมการบริหารที่นำมาใช้ ส่งผลให้ความรุนแรงของปัญหาลดลงเพียงไร เด็กมีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น การออกลางคันลดลง คุณภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างไร

กระนั้นก็ตามสภาพความเป็นจริงที่คาราวานการศึกษา กพฐ. ไปพบ ความขาดแคลนทั้งของและคน กฎกติกาหลายอย่างยังเป็นอุปสรรค ต้องเล่าสู่กันฟังต่อไป

ก่อนออกจากโรงเรียนบ้านแม่สามแลบ สู่เป้าหมายใหม่ไปดูโรงพักนอนโรงเรียนบ้านสบเมย ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน มีบังเกอร์ทหารตั้งประจันหน้า ป้องกันภัยอยู่หน้ารั้วโรงเรียน