จัตวา กลิ่นสุนทร : จาก “วรรณกรรมน้ำท่วม” ถึง “วรรณกรรมน้ำตา”

เป็นช่วงเวลาถอยหลังอ่อนแอของธุรกิจการพิมพ์ โดยเฉพาะการพิมพ์หนังสือ ความร่วงโรยเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ “สื่อกระดาษ”

หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ค่อยๆ พากันปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่สื่อกระจกอย่างโทรทัศน์ก็กำลังประสบกับปัญหาการขาดทุน เพราะมากเกินความต้องการ ต้องปรับตัวดิ้นรนหาทางเพื่อความอยู่รอด

มีอาชีพเกี่ยวพันกับการพิมพ์ล้มลุกคลุกคลานกับสื่อมาตั้งแต่เดินหันหลังออกจากสถานศึกษา ในยุคสมัยที่เราไม่มีทางรู้มาก่อนเลยว่า “สื่อสิ่งพิมพ์” จะต้องถึงเวลามีอันเป็นไป แต่ก่อนนั้นเพียงแค่เป็นห่วงกังวลกันอยู่บ้างน่าจะเป็นเรื่อง “กระดาษ” ว่าจะหายหดหมดลง

แต่ถึงอย่างไรการอ่านหนังสือ หนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นทางเลือกของคนรุ่นเก่าส่วนใหญ่

เว้นคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เปลี่ยนการติดตามข่าวสารด้วยการเสพสื่อสิ่งพิมพ์หันมาเป็นทางจอแก้ว “คอมพิวเตอร์” และ “โทรศัพท์” เคลื่อนที่ มือถือ การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์จากการเรียงพิมพ์ก่อนเป็นอาร์ตเวิร์กเพื่อทำแม่พิมพ์ก่อนป้อนเข้าสู่แท่นพิมพ์ เปลี่ยนเป็นระบบคอมพิวเตอร์ล้วนๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

หนังสือเล่มแม้จะลดน้อยถอยลงแต่ก็ยังไม่ถึงกับจางหายตายสนิท การอ่านยังยืนหยัดอย่างคลาสสิคและสามารถลูบคลำสัมผัสรสชาติถ้อยคำความลึกซึ้งได้อยู่แบบไม่เปลี่ยนแปลง การเก็บบันทึกไว้ทั้งเล่ม ทั้งชุดยังค่อนข้างได้อารมณ์ความรู้สึกดีอยู่ทีเดียว

 

การทำงานสื่อในยุคสมัยหลังปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมานั้น สังคมมิได้กว้างขวางใหญ่โตอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่ละสื่อแต่ละค่ายล้วนแล้วแต่ไม่ห่างไกลกันมาก รู้จักมันคุ้นเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกันทั้งสิ้น ในแวดงวงสังคมนักการเมือง ข้าราชการ ทหารตำรวจก็ไม่แตกต่างเช่นกัน

มีโอกาสได้รู้จักกับ (ท่าน) “ปิยะพันธ์ จัมปาสุต” ในช่วงระยะเวลาซึ่งต่างคนต่างเป็นบัณฑิตหนุ่มเพิ่งเดินออกมาจากมหาวิทยาลัย และเข้าทำงานกับหนังสือพิมพ์ เขาทำงานนิตยสารแฟชั่นระดับแนวหน้าซึ่งเรียกว่าเป็นฉบับแรกๆ ของเมืองไทย

รู้จักกันแบบยังไม่ลึกซึ้งมากมายจากการแนะนำของนักเขียนซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดัง (พี่แต๋ว) “สุวรรณี สุคนธา” (สุคนธเที่ยง) รวมทั้ง “พจนาถ เกสจินดา” แห่งนิตยสาร “บี.อาร์” หนุ่มสังคมของยุคสมัยแห่งช่วงเวลานั้น แต่ทั้ง 2 ท่านที่เอ่ยมาทีหลังได้เสียชีวิตไปแล้ว

แต่คุณ “บุรินทร์ วงศ์สงวน” สถาปนิกหนุ่มสังคมผู้มีอันจะกินในช่วงระยะเวลา 40 กว่าปีผ่านเลย ยังรักษาเนื้อรักษาตัวอยู่ยั้งยืนยงด้วยสุขภาพอันดีมาถึงปัจจุบัน

ที่เอ่ยนามถึงเพราะดูเหมือนท่านเป็นเจ้าของนิตยสาร และอาคารที่ใช้เป็นกองบรรณาธิการ ซึ่ง ปิยะพันธ์ จัมปาสุต และ พจนาถ เกสจินดา ทำงานอยู่ สมัยนั้นย่อมเป็นที่ทราบกันดีอยู่สำหรับคนทำหนังสือว่ามีแต่ความรัก ความคิด จิตวิญญาณ และอุดมการณ์อันแน่วแน่มั่นคง แต่ไม่มีทุนพอจะนำไปเพื่อการผลิตแน่ๆ

ปิยะพันธ์ จัมปาสุต รักชอบการขีดเขียนมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ว่ากันว่าเขาเขียนกลอนมาตั้งแต่ยังไม่เข้าไปเป็นน้องใหม่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระหว่างศึกษาในคณะดังกล่าวได้ก้าวย่างเข้าสู่วงวรรณศิลป์ในรั้วมหาวิทยาลัย จนบทกลอนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานดีเด่น ได้รับรางวัล “เกียรตินิยม” ของ “ชุมนุมวรรณศิลป์ จุฬาฯ” ขณะเป็นเพียง “น้องใหม่”

ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดที่เขาจะมีผลงานรวมเล่มไว้ไม่น้อยในระยะเวลาก่อนหน้าจะทิ้งช่วงหายไปกว่า 30 ปี เพื่อทุ่มเทสติปัญญาให้กับงานราชการ ซึ่งต้องยอมรับตรงๆ ว่า กว่าจะรู้ว่า “คนทำหนังสือ” คนนี้รับราชการไปพร้อมกันก็เมื่อเขามีตำแหน่งสูงขึ้นมากแล้ว

 

ได้พบเป็นครั้งคราวเมื่อท่านเป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีบทบาทสูงยิ่งในการพัฒนาแก้ไขระบบระเบียบอันล้าหลังของกรมแห่งนี้จนเป็นที่ยอมรับในความซื่อสัตย์ และฝีมือ ความเปลี่ยนแปลงในกรมการขนส่งทางบกอันรกรุงรังเรื่องการทำใบอนุญาตขับขี่ การจดทะเบียน ต่อทะเบียนยานพาหนะ เกิดความคล่องตัวอย่างเป็นระบบไม่ต้องเสียเวลามากมายมากระทั่งทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของเขาเป็นส่วนใหญ่

ปิยะพันธ์ จัมปาสุต เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และถ้าหากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนกระทั่งรัฐบาลต้องมีอันเป็น เขาต้องได้รับตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงคมนาคม”

วันที่ต้องอำลาจากชีวิตราชการเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2551 มีการจัดทำหนังสือเพื่อเป็นบันทึกแห่งชีวิต ชื่อ “เงาสะท้อน” โดยรวมบทกวีที่เขาได้เขียนมานานหลายสิบปีกับที่เขียนขึ้นใหม่บ้าง รวมแล้วมีจำนวนกว่า 100 ชิ้น

ใครที่เคยได้ติดตามจะได้สัมผัสความรู้สึกของจิตวิญญาณ รวมทั้งได้รู้เห็นตัวตนความเป็นกวีซึ่งเกี่ยวพันผูกติดมาตั้งแต่เล็กๆ และไม่เคยจางหาย เพียงเว้นวรรคไปช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบงานราชการ

“อดุล จันทรศักดิ์” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือรวมบทกวี “เงาสะท้อน” และท่านเขียนบทกล่าวนำตอนต้นๆ ว่า “อาจมีผู้รู้จัก ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงผู้มีบทบาทสูงยิ่งในการดูแลงานด้านการขนส่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด ประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

และอาจมีผู้คุ้นเคยกับนามของ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ในฐานะผู้ดำเนินรายการ “แบ่งฝันปันยิ้ม” ทางสถานีวิทยุ ขสทบ.102 เมกะเฮิร์ตซ์ ตอนห้าโมงเย็น หรือผู้ดำเนินรายการ “ร้อยเส้นทาง ล้านเรื่องราว” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่องห้า ในช่วงสิบนาฬิกาทุกวันพุธ

เป็นไปได้ทั้งสิ้นเพราะนามของ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต นั้นเป็นที่รู้จักได้หลายสถานะ และหลายทิศทาง แต่น่าเชื่อว่า มีผู้คนจำนวนไม่มากนักที่รู้จัก ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ในฐานะที่เป็นกวี

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ได้ “รามือ” จากการเขียนบทกวีไปนานกว่าสามสิบห้าปีโดยประมาณ”

 

คนเขียนหนังสือ คนเขียนกวี มิอาจทนนิ่งอยู่ได้หากมีอะไรมากระทบใจ หลังผ่านพ้นชีวิตราชการพอมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง เมื่อเกิด “อุทกภัยครั้งใหญ่” น้ำไหลหลากเข้าท่วมภาคเหนือ ภาคอีสานผ่านลงมายังภาคกลาง ท่วมกรุงเทพฯ สร้างความเสียหายมหาศาล เมื่อปี พ.ศ.2554

ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ลงมือเขียนกลอนอันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น นอกจากจะสะเทือนใจกับความทุกข์ยาก แต่บางบทก็ยังขบขัน จนถึงกระทบชิ่งเสียดสีผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารบ้านเมืองซึ่งต้องดูแลทุกข์สุขของราษฎร บทกวีของเขามีมากขนาดรวมพิมพ์เป็นเล่มมีความหนาถึง 175 หน้า

รวมบทกวีประกอบภาพเล่มนั้นชื่อ “วรรณกรรมน้ำท่วม” ออกสู่สายตาผู้อ่านเมื่อปี พ.ศ.2555 ซึ่งมีรายได้จากการจำหน่ายด้วยตัวเลข 6 หลัก “ผู้เขียน” ได้นำไปบริจาคให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมทั้งสิ้น

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 พสกนิกรชาวไทยอาลัยโศกเศร้าเสียใจไปทั้งแผ่นดิน ต่างรวมใจกันถวายความอาลัยรักในรูปแบบต่างๆ ทุกคนให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะเป็นคนดี ทำแต่ความดี เดินตามรอย “พ่อของแผ่นดิน”

ปิยะพันธ์ จัมปาสุต โศกเศร้าเสียใจไม่แตกต่างไปจากพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง และเพราะเขาเป็นกวีด้วยจิตวิญญาณ เมื่อมีเรื่องสูญเสียอันใหญ่หลวงมากระทบใจ บทกวีจากความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดอ่อนจึงลื่นไหลออกมา และบทกวีจำนวนพอประมาณนั้นเขาได้นำมารวมพิมพ์เป็นเล่ม ใช้ชื่อว่า “วรรณกรรมน้ำตา”

คาดว่าหนังสือรวมบทกวี “วรรณกรรมน้ำตา” จะแล้วเสร็จภายในเดือนแรกของปี พ.ศ.2561 นี้ โดย ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ตั้งใจเอาไว้ว่าจะจำหน่ายด้วยตนเอง

หากมีรายได้เกิดขึ้นจะมากน้อยเท่าไร? ก็จะนำเงินไปทำบุญ บริจาคเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมประเทศนี้ต่อไป