อภิญญ ตะวันออก : เมือง คน ถนน กีฬาและการเสด็จประพาส

1.ฟุตบอล

มึนวาร์ปยามถูกเกรียนคีย์บอร์ดไทยลีกประณามในสื่อโซเชียล ฐานชื่นชมบันเทิง ชมทีมฟุตบอลเวียดนาม ฉันน่ะสงสัยไปเรื่อยว่า สมัยนี้ พวกคอบอลเขาหน้ามืดตามัวกันข้ามประเทศไปมา

ทำให้นึกถึงแมตช์กระชับมิตรที่ไซ่ง่อนสัก 87 ปีก่อนซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ตามบันทึก “จดหมายเหตุรายวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสอินโดจีน พ.ศ.2473” ที่พระมหากษัตริย์ของไทยเสด็จเยือนโคชินจีน มีการรับเสด็จอย่างอบอุ่นและสมพระเกียรติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษที่เสด็จไปทอดพระเนตร

มีนักฟุตบอลไทยยกคณะจากกรุงเทพฯ ลงเตะโชว์ “พวกไซ่ง่อน” เจ้าถิ่นที่สนามสปอร์ตคลับ (Cercle Sportif)

“การเล่นได้เป็นไปโดยเรียบร้อย คณะไทยเป็นฝ่ายเข้มแข็งเล่นได้ดีมาก ในครึ่งแรกคนไทยคนหนึ่งถูกล้มทับหัวเข่าเคล็ดไม่สามารถเล่นต่อไป. แต่ถึงกระนั้นฝ่ายไทยยังชนะ 4 ประตูต่อศูนย์” (น.51)

เป็นอันว่า อินโดจีน (เวียดนาม) แพ้สยามคาถิ่น สังเกตว่า บันทึกไทยสมัยก่อน ยังเรียกชนชาติเวียดนามว่า “ญวน” ทั้งหมด โดยไม่ปรากฏคำ “เวียดนาม” แบบเดียวกับเขมรซึ่งเรียกเวียดนามว่าญวนเช่นกัน แต่ฝรั่งเศสนั้นใช้คำว่า “อันนัม” แทน ต่อพลเมืองเวียดในเขตโคชินจีน แยกอัตลักษณ์ไว้จากจีน เขมรและชาวมอยชัดเจน

คณะฟุตบอลเจ้าบ้าน “พวกไซ่ง่อน” นั้น ตามบันทึกจึงไม่ได้ระบุว่าเป็นอันนัมราชการ ฝรั่งเศสหรือนักโทษญวนกันแน่ เว้นแต่คณะไทยนั้น เป็นคณะนักเล่นบอลที่มาจากกรุงเทพฯ แยกจากคณะติดตามอีกที เห็นจากที่คณะดังกล่าวไปตั้งแถวส่งเสด็จ ตอนที่ทั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเนียะตรังทางรถไฟ (19 เมษายน)

ฟุตบอลกระชับมิตรนัดนี้มีความสำคัญพิเศษ ที่เจ้าบ้านจัดแสดงอย่างโอฬาริก เช่น “ในระหว่างพักครึ่ง มีหญิงประมาณ 24 คน แต่งตัวอย่างพวก Greek มาเต้นรำอย่างกรีกครั้งโบราณในสนาม” ต่อหน้าผู้ชมหลายพันคน และเหล่าราษฎรที่เข้าร่วมชมการแข่งฟุตบอลครั้งนี้ ดูจะไม่แสดงอาการเข้าฝ่ายใด เมื่อใครเล่นดีก็ปรบมือให้

ต่างจากที่ผู้เขียนที่เคยระแคะระคายทราบว่า กลุ่มอันนัมนักกีฬานั้น ส่วนมากนักโทษและชาวราษฎรผู้ชมนั้น ก็มักจะใช้วิถีกีฬาเป็นเครื่องมือแสดงอัตลักษณ์ทางการเมือง

ยิ่งแข่งกับพวกบารังด้วยแล้ว พวกเขามักจะเชียร์กันหนัก ราวกับจะประกาศเอกราชเลยทีเดียว

 

2.ถนน

สำหรับกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ที่น่าสนใจในการเสด็จประพาสครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์เฉพาะกิจที่ฉันสนใจ นั่นคือบน “ถนนนโรดมบูเลอวาร์ด” (Norodom Boulevard) ในไซ่ง่อน/2473 นั้น

ถนนแห่งนี้ แต่งเป็นซุ้มรับเสด็จ ซึ่งประดับด้วยใบไม้ ดอกไม้ ธงและตราครุฑ ส่วนตอนบนของซุ้มมีคำว่า Honneur ? Leurs Majest?s le Roi et la Reine de Siam (ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีปรากฏตลอดถนนในเขตหัวเมืองอื่นๆ) และการสวนสนามกองทหารม้าฮานอยในพิธีรับเสด็จต่ออาคันตุกะพระเจ้าอยู่หัว-พระราชินีแห่งสยามอย่างเต็มเกียรติยศ และยังพิธีวางพวงหรีดหน้าอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ต่อเนื่องเป็นลำดับ

ว่าแต่เหตุใดชื่อ “ถนนนโรดม” จึงมาปรากฏที่นี่?

เมื่อเป็นที่ทราบดีว่า กษัตริย์เขมรพระองค์นี้ ทรงเป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อพวกฝรั่งเศสทั้งที่ไซ่ง่อนและพนมเปญตลอดกลางรัชกาลจนสิ้นอายุขัย โดยเฉพาะจากรัฐบาลอินโดจีน ไซ่ง่อนที่ยึดอำนาจพระองค์จนตรอมพระทัย กระนั้น ทรงกลับได้รับการยกย่องพระนามเป็นอนุสรณ์ต่อถนนหลักสายหนึ่งของเมืองนี้หลังสิ้นพระชนม์

ต่อความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นแบบนั้น มีความเห็นชาวบารังผู้ชอบไหวไหล่ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย เพราะเขาโปรดเมืองไซ่ง่อน ชอบช้อปปิ้ง หย่อนใจ แบบตัดฉลองพระองค์ ฉลองพระบาทหรือและฉลองพระเนตร ก็ต้องไปไซ่ง่อน”

เข้าใจแล้วละ โดยเฉพาะห้าง Grand Magasin บนถนนคะตินาต์/Catinat ที่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีในการเสด็จประพาส ก็เสด็จฯ ไปช้อปปิ้งส่วนพระองค์ ในอีกวันต่อมา ยังเสด็จฯ “ไปร้านถ่ายรูปญวน และทรงซื้อของตามร้านต่างๆ” อีกด้วย

“ไซ่ง่อน” จึงเป็นเมืองสุด “Chic” แล้วในยุคนั้น ผู้คนระดับสูงที่มาเยือนจะไม่พลาดการช้อปปิ้ง แต่การเสด็จไซ่ง่อนของกษัตริย์นโรดมนั้น ยังมีเหตุจากการสนทนาธุรกิจกับเหล่าทุนต่างชาติบางคน

เช่น ตอนหนึ่งใน “Colonial Cambodia”s Bad Frenchmen” โดย Gregor Muller กล่าวถึงโทมัส คารามาน (*) ซึ่งคลาดพบกับกษัตริย์กัมพูชาขณะเสด็จมาที่นี่ และบังเอิญเขามีเหตุต้องไปตุรานและเว้ในคราวนั้น

ที่นี่เอง ที่คิงนโรดมทรงแวดล้อมไปด้วย “กิจการอันเกี่ยวกับนักลงทุนและหาโอกาสใหม่ๆ ในยุคอาณานิคม” จากโรงแรมที่ประทับและบริเวณหน่วยงานราชการ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนสายหลักจากแพท่าเรือมายังพระราชวังท่ากูแวร์เนอร์เยเนราล (Gouverneur G?n?ral) และได้ชื่อว่ามีสวนสาธารณะที่สวยที่สุดของเมือง

จนกลายเป็นชื่อ “ถนนนโรดม” ต่อมา นัยว่าเพื่อสานความสัมพันธ์ (อันขันชื่น) และเป็นเกียรติความทรงจำไว้ในประวัติศาสตร์บางตอน ซึ่งไม่แน่ใจว่าหากกษัตริย์นโรดมยังมีพระชนม์ จะทรงโปรดนัก

มีอุบัติเหตุต่อราชวงศ์กัมโพชมากมายที่เกิดขึ้นจากเมืองนี้

 

3.ศิลปหัตถกรรมเพื่อยังชีพ

เมื่อย้อนมองการเสด็จประพาสครั้งนี้ ทำให้เห็นความเจริญของบ้านเมืองบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่ครั้งหนึ่ง หลายเมืองเหล่านั้นเคยเป็นอดีตหัวเมืองเก่าแก่และมีชาวเขมรตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก

เสด็จไปเมืองตุราน (Torane) เมืองตุ๊ย่าหมก (Thudaumot) บินห์หัว และบางเมืองที่เพียงเสด็จผ่าน เช่น เกียดินห์

เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดได้รับการพัฒนาเป็นหัวเมืองสำคัญ มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบ ทุกแห่งล้วนมีสำนักงานเขต โรงพยาบาล โรงตำรวจภูธร

การสร้างถนนสายหลัก ที่ทำการค้าหรือตลาดกลางเมือง โรงผลิตไฟฟ้า-สถานีรถไฟ เช่น เมืองโชเล็น/Cholon ปัจจุบันน่าจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโฮจิมินห์ไปแล้ว

ตามปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุรายวันฯ (น.40) “เมืองนี้ใหญ่โตพอใช้ ถ้าจะเปรียบว่าบางตอนเหมือนถนนในกรุงเทพฯ อยู่มาก แต่บ้านเรือนของเขาสะอาดกว่า”

เข้าใจว่า โชเล็นคือไชน่าทาวน์ที่มีชุมชนชาวจีนอาศัยจำนวนมาก คล้ายกับสำเพ็งของไทย

บางแห่งจะเป็นสถานีการค้า เช่น ตลาดค้าข้าว เขตโรงงาน และเขตท่องเที่ยวชายทะเล

เรื่องความเจริญในเขตกัมพูชาใต้นี้ เช่น ที่เมืองโชดก เมืองซกตรัง และโบเถา ซึ่งเป็นที่ตั้งวิลล่าเจ้าเมืองเขมรตระกูลเจืองที่ใหญ่โตและทันสมัยในหลักฐานที่ผู้เขียนพบจากหนังสือบันทึกภาพ

ส่วนด้านการศึกษานั้น เขตตอนใต้ส่วนนี้ พบว่ามีการก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างถึง 2 ใน 3 แห่งของเมืองที่เสด็จทอดพระเนตร คือตุ๊ย่าหมกและบินห์หัว “มีการฝึกเด็กญวน (*) ตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ มาอบรมเป็นช่างศิลป์และหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การทำภาชนะดินเคลือบ เครื่องเรือนประดับมุก”

แหล่งผลิตบุคลากรด้านหัตถกรรมนี้ ต่อมากลายเป็นต้นแบบการศึกษาแขนงอื่นในยุคหลัง ซึ่งพบมากในเวียดนามตอนล่าง ส่วนในลาว-ดอนโขงตอนล่าง พบว่ารัฐบาลอินโดจีนได้ใช้โมเดลโรงเรียนเพาะช่างดังกล่าว ไปริเริ่มและนำครูช่างจากอันนัมและกัมพูชาไปเป็นผู้ช่วย

แต่แปลกว่าในเขตกัมพูชานั้น กลับไม่พบโรงเรียนเพาะช่างหัตถกรรมใดๆ ทั้งที่ฝีมือช่างพื้นบ้านชาวท้องถิ่นจัดว่าอยู่แถวหน้า

 

ในการเสด็จทอดพระเนตรกิจการทางศิลปาชีพ พบว่า ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงดำเนินกิจการด้านนี้ส่วนพระองค์ที่วังสวนบ้านแก้ว (2493-2511) ทรงให้ความสนใจด้านการเกษตรอย่างมาก ดังที่มีการกล่าวถึงเกษตรกรรมทุกเขตที่เสด็จเยือนทั้งโคชินจีนและกัมพูชา ทรงปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ สวนดอกไม้ การเลี้ยงสัตว์ส่วนพระองค์ตามแบบเกษตรกรรมพื้นถิ่น

โดยอีกกิจการหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างมาก นั่นคือ ทรงพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้านเริ่มจากวังสวนบ้านแก้วและขยายฐานสู่ท้องถิ่น-ชาวจันทบุรี เช่น กระเป๋าถือผลิตจากสื่อกกจันทบูร

รวมทั้งความรู้การทำอิฐบล๊อก ที่กล่าวกันว่า ทรงนำเข้าบล๊อกต้นแบบจากแอฟริกา เนื่องจากตำหนักในจันทบุรีไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้ต้องผลิตสร้างโรงเผาอิฐด้วยพระองค์เอง

ซึ่งในสมัยเสด็จประพาสนั้น การผลิตอิฐบล๊อกในอินโดจีน เวียดนามใต้กำลังบูมและทันสมัยไม่ต่างจากโรงงานทำน้ำปลา จนถูกนำไปขยายในกัมพูชา

ซึ่งผู้ที่ดำริก็ไม่ใช่ใครอื่น คือนายเฟเดอริก โทมัส-คารามาน และนายทุนพระบาทสมเด็จพระนโรดม-เจ้ากรุงกัมพูชา

—————————————————————————–
(*) : The rise of French rule and the life of Thomas Caraman, 1840-1887