อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : เสรีนิยมใหม่จบสิ้นหรือ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) จบสิ้น พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2017 สั่นสะเทือนการเมืองระหว่างประเทศอย่างมหาศาล

กล่าวคือ เป็นการสิ้นสุดของระเบียบโลกแบบเสรีนิยมใหม่ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ที่เคยส่งเสริมระเบียบเศรษฐกิจ ความมั่นคงและระบบพันธมิตรของโลก

แต่นโยบายภายในคือ การลดภาษีคนรวยและบรรษัท รวมทั้งการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) ทางด้านเศรษฐกิจและลดบทบาทการเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจก็ยังดำเนินอยู่

มีบางคนบอกว่า ในช่วง 7 ทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้อำนวยการด้วยร่มความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ระบบเสรีนิยมระหว่างประเทศเฟื่องฟู

แต่วันนี้ สหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายมองจากข้างใน (inward-looking) มากกว่าเดิมนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา หลังจากที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามราคาแพงมากในอัฟกานิสถานและอิรักและความน่าสะพรึงกลัวนั้นนำมาสู่การเข้าแทรกแซงในลิเบีย1

ในช่วงการหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาได้ตอบโต้หลายครั้งว่า สหรัฐอเมริกาควรเป็นมหาอำนาจที่อ่อนโยน ปกป้องเฉพาะประเทศบางประเทศที่ยอมจ่ายเงินเพื่อป้องกันตัวเองด้วย ดังนั้น เขาจึงเน้นว่าจะทำอย่างไรให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

 

ระบบเสรีนิยมใหม่
: ภูมิภาคและระบบในประเทศ

หากกล่าวถึงระบบเสรีนิยมใหม่ในภูมิภาคของโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ การปกป้องผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเองก็ยังไม่ชัดเจน ในแง่ของภูมิภาค

รัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อาศัยช่วงเวลาที่ประเทศซีกตะวันตกตั้งสงสัยกับการพัฒนาทางด้านกิจการทหารและการเข้าถึงผลประโยชน์ต่างๆ ของตนทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์และในภูมิภาค

ทว่า ทั้งรัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างสถาบันต่างๆ ขึ้นมา รวมทั้ง Eurasian Economic Union และ Shanghai Cooperation Organization อันช่วยให้ทั้งสองประเทศทำความร่วมมือและสร้างความชอบธรรมเป็น ระบบการเมืองที่คู่ขนาน เพื่อท้าทายต่อระบบกติกาการปกครองระบบประชาธิปไตยของชาติตะวันตก

และปฏิเสธการแทรกแซงใดๆ จากภายนอกที่สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน2

 

ระบบเสรีนิยมใหม่ในไทย

เมื่อตั้งข้อสังเกตจากสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์อาจสับสนกับระบบเสรีนิยมใหม่ในระดับโลกและภูมิภาค

แต่ตัวเขาเองไม่เคยลดพลังของระบบเสรีนิยมใหม่ในสังคมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเลย

เขาได้ชื่อว่าเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับโลก เมื่อเป็นประธานาธิบดีของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา เขายิ่งสนับสนุนการลดภาษีให้กับคนรวยและบรรษัท

แน่นอน การลดระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้คนร่ำรวยและบรรษัทสร้างความมั่งคงได้มากขึ้นปรากฏอย่างต่อเนื่องและชัดเจนในรัฐบาลของเขา

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทย ประเทศรายได้ปานกลาง พึ่งพิงการส่งออก ภาคเกษตรกรรมล้าหลัง ได้ตกขบวนรถไฟด้านเทคโนโลยีไปแล้ว และมีคนร่ำรวยเพียง 1% ของประชากรทั้งหมด รัฐและพันธมิตรชุดไหนกลับสถาปนาระบบเสรีนิยมใหม่ให้เข้มแข็งขึ้นตามลำดับและต่อเนื่อง

บางคนบอกว่า เสรีนิยมใหม่ในไทยถูกครอบงำอีกครั้งช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 1997 ด้วยนโยบาย Washington Concensus โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) ควบรวมกิจการบริษัทเอกชน ลดการแทรกแซงของรัฐให้มากที่สุด บางคนยังบอกอีกว่า ทักษิณ ชินวัตร ต่อต้านเสรีนิยมใหม่จากวอชิงตัน คอนเซ็นซัสด้วยนโยบายประชานิยม (populism) แต่ในความเป็นจริง ท่านอดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นเพียงนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่อาศัยประชานิยมหาเสียงและคะแนนนิยมมาโดยตลอด

เพราะในด้านกลับ เขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้รวบรวมกลุ่มทุนขนาดใหญ่และใหม่ท้าทาย “คนกลุ่มเก่า” ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่มีพลังมากจนถึงปัจจุบัน

 

จากประชานิยมถึงประชารัฐ

ที่น่าสนใจ มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้งคือ รัฐประหาร 2006 และรัฐประหาร 2014 โดยนายทหารกลุ่มเดียวกันที่นำโดยนายทหารที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มบูรพาพยัคฆ์

กลุ่มนายทหารนี้ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน

ไม่มีแนวคิดทางเศรษฐกิจอะไรมากมาย

แต่เมื่อมีอำนาจทางการเมืองแล้ว พวกเขาก็ปรับชื่อนโยบายประชานิยมเป็น “ประชารัฐ” ซึ่งหลักการสำคัญยังเป็นเสรีนิยมใหม่นั่นเอง

ได้แก่ รัฐให้การสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการลงทุนทางเศรษฐกิจ เช่น ผลักดัน ลดและงดเว้นภาษีโดยการเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่เรียกว่า BOI Plus ให้สิทธิพิเศษด้านแรงงานเทคนิค การเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษเดิมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Border Special Economic Zone) อีก 8 เขตเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วประเทศ

ก่อตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) อันเป็นพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะนิคมอุตสาหกรรมเดิมเต็มพื้นที่แล้ว

ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญคือ รถไฟความเร็วปานกลางเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ อีกทั้งเพื่อเป็นเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาคและระดับโลก (Global supply chain)

ประชานิยมในยุคปี 2001 ก็เป็นประชานิยมจำแลงเพื่อการหาคะแนนเสียงและฐานการเมืองของมวลชนทั้งในเมืองและในชนบท อันก่อประโยชน์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่รวมตัวกันใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ และมีฐานการลงทุนในภาคบริการ

เช่น อุตสาหกรรมโทรคมนาคมขยายการลงทุนและสร้างผลกำไรจากการควบคุมกติกาของรัฐเอง

ส่วนประชารัฐในช่วงปี 2014 ก็เป็นนโยบายที่สานต่อนโยบายประชานิยม แต่ได้อ้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนหนึ่งอ้างถึงกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่จริงๆ แล้ว ภาคประชาชนในประชารัฐก็คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่นั่นเอง

หากมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น ไม่มีอะไรซับซ้อน กลุ่มผู้นำทหารเดิมสืบต่ออำนาจ ท่ามกลางความไม่ชอบธรรมทางการเมืองและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างมาก ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร ไม่ว่าจะมีนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก็จะยังได้ประโยชน์จากความเป็นเครือข่ายการผลิตในระดับภูมิภาคและระดับโลกของไทย

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจจะรุนแรงมากขึ้นและเผยตัวตนออกมาในไม่ช้า

——————————————————————————————
(1) Robin Niblett, “Liberalism in Retreat : The Demise of a Dream”, Foreign Affairs January/February 2017 : 20-21.
(2) Ibid., : 20.