มุกดา สุวรรณชาติ : ยืดไปอีกปี…ก็ไม่ดีขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษไทย…ถูกพม่าแซง (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

คู่แข่งรอบด้าน
สถานการณ์ไม่ง่ายเหมือนเก่า

เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยปัจจุบัน ไม่เหมือนยุคสามสิบกว่าปีที่แล้ว

ปี 2525 ไทยมีอีสต์เทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard Development Program) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

รัฐบาลตั้งเป้าเร่งรัดการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี

ยุคนั้นคู่แข่งมีน้อยมาก จีนเพิ่งเปิดเศรษฐกิจเสรีได้ไม่ถึง 5 ปี เวียดนามยังทะเลาะกับจีนและกัมพูชา ยังมีคนอพยพทางเรือจากเวียดนาม ค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-กัมพูชา ยังมีคนหลายหมื่น

พม่ายังเป็นเผด็จการเต็มใบ ออง ซาน ซูจี ยังไม่มีบทบาท การต่อสู้ของรัฐบาลกับกองกำลังชนชาติต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

ลาวก็ยังไม่ฟื้นตัวจากสงคราม สะพานมิตรภาพข้ามโขงไม่มีแม้แต่แห่งเดียว

เมื่อไทยฟื้นจากความขัดแย้งภายใน พคท. ยอมสงบศึก นักศึกษาวางปืนกลับเข้าเมือง เราจึงออกเดินหน้าก่อน และก็เข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล และยุคเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ผ่านไป 30 ปี

วันนี้ทั้งนอกและในประเทศต่างไปมาก เศรษฐกิจการค้าเชื่อมโยงกันทั้งโลก เทคโนโลยีพัฒนา คนก้าวหน้า การลงทุนข้ามชาติเป็นเรื่องปกติ

คำถามของผู้ลงทุนคือ ทำแล้วได้ผลประโยชน์มากแค่ไหน? เสี่ยงแค่ไหน?

นักลงทุนข้ามชาติ สนใจอะไรบ้าง ในประเทศที่จะไปลงทุน

1. สถานการณ์การเมือง ความสงบเรียบร้อย หลักการปกครอง การใช้อำนาจ

2. สภาพภูมิศาสตร์ทางการค้า ที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และการตลาด ทั้งภายใน และไกลระดับโลก

3. กฎระเบียบพิเศษต่อการลงทุน กฎหมายทั่วไป ความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ระบบภาษี

4. โครงสร้างพื้นฐาน ถนน น้ำ ไฟฟ้า ระบบสื่อสารวัตถุดิบ

5. คน… ทั้งแรงงาน ช่างฝีมือ ระดับการศึกษาของประชาชน วัฒนธรรมท้องถิ่น

 

พม่าใช้…ติลาวา…
เป็นฐานในการก้าวกระโดด

การยกเศรษฐกิจพิเศษ…ติลาวา (Thilawa Special Economic Zone) ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง จะทำให้เห็นการเปรียบเทียบและวิสัยทัศน์ของผู้ลงทุน จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเขาจะต้องเลือกพม่า หรือทำไมจะต้องเลือกไทย หรือจะเลือกเวียดนาม

เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ห่างจากจากนครย่างกุ้งประมาณ 23 ก.ม. มีสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนและศูนย์ให้บริการแบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติให้สามารถขออนุมัติการลงทุนจากรัฐบาลเมียนมาได้ในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์

รัฐบาลพม่ากับรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งบริษัทการค้าและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย บริษัทมิตซูบิชิ บริษัทมารุเบนิ และบริษัทสุมิโตโม กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น หรือเจโทร (JETRO – Japan External Trade Organization)

ทุกอย่างภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก จึงเป็นไปตามความเรียกร้องต้องการของญี่ปุ่น และตามมาตรฐานสากล เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของโรงงานราว 100 แห่ง ที่สามารถจ้างงานคนงานได้มากกว่า 40,000 คน

จากพื้นที่รวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 15,000 ไร่ แต่รัฐบาลได้เปิดพื้นที่ส่วนแรก 2,500 ไร่

 

สิงหาคม 2560 เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา มีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งหมด 84 บริษัท เข้าไปลงทุนในนั้น 42 บริษัท เป็นบริษัทลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่เหลือมาจากทั่วโลก เช่น ฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย

โซน A ของเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาก่อสร้างเสร็จแล้วและมีผู้ลงทุนเต็มแล้ว ตอนนี้กำลังก่อสร้างโซน B ที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื้อที่มากกว่า และงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยแผนการจะแล้วเสร็จในปี 2561 นี้

มีบริษัทญี่ปุ่นอีก 10-15 บริษัท ได้จับจองโซน B เอาไว้ล่วงหน้า

ปัจจุบันต้องถือว่าที่นี่ประสบความสำเร็จมากกว่าเขตเศรษฐกิจ-การลงทุน ประเภทเดียวกันทั้งในพม่าและในประเทศเพื่อนบ้าน

เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจพม่าให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ในพม่ายังมีเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง ซึ่งได้แก่ เขตจ๊อกพะยู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในรัฐยะไข่ ที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทจากจีน

กับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ลงทุนพัฒนาโดยบริษัทจากไทย

 

ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี
การลงทุนในติลาวาของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวามาหลายปีตั้งแต่ยังเป็นรัฐบาลทหาร เมื่อประชาธิปไตยเปิดมากขึ้นพวกเขาลงทุนทันที

วิสัยทัศน์ของญี่ปุ่นต่อการลงทุนที่ติลาวา เป็นเพราะมองเห็นทำเลยุทธศาสตร์ทั้งการค้าที่มีผลทั้งในประเทศพม่าและในระดับโลก เมื่อมองจากที่ตั้งของติลาวา ถ้าตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่นี่เมื่อทำการผลิตก็จะสามารถส่งสินค้าไปขายได้ทั่วทั้งประเทศพม่าและในเขตติดต่อเช่นไทยหรือประเทศทางเหนือพม่า ไกลไปถึงอินเดีย

และถ้ามองยุทธศาสตร์ระดับโลกจะพบว่าสินค้าที่ผลิตจากที่นี่สามารถจะส่งลงเรือเข้าไปขายในแอฟริกาทั้งทวีปและตะวันออกกลาง

สินค้าบางประเภทยังสามารถผ่านคลองสุเอซเข้าสู่ยุโรป

ทำเลที่ตั้งที่นี่เป็นลักษณะเดียวกับทวาย แต่ข้อดีกว่าคือคุมตลาดภายในได้ง่ายและกำลังซื้อภายในประเทศก็อยู่ใกล้ย่างกุ้ง

ยุทธศาสตร์การลงทุนของญี่ปุ่นในพม่าก็คล้ายการเริ่มต้นในเมืองไทยคืออยู่ใกล้เมืองหลวง แถวสมุทรปราการ ขยายออกไปรอบๆ กินตลาดทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และขยายไปส่งออกระดับโลกผ่านท่าเรือน้ำลึก

แต่ถ้ามองทำเลทางภูมิศาสตร์ของติลาวามีความเหนือกว่าในการส่งสินค้าไปยังแอฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป ถ้าหากจะส่งไปยังอเมริกาก็จะแพ้ฐานการผลิตที่ตั้งในเวียดนามหรือจีน

ในแง่ของสิทธิพิเศษทางภาษี (Generalized System of Preferences : GSP) สินค้าจากพม่าและประเทศเพื่อนบ้านได้เปรียบกว่าไทย

แหล่งพลังงาน น้ำมันจากตะวันออกกลางก็ส่งเข้ามาง่าย ทั้งพม่ายังมีแหล่งก๊าซที่อยู่นอกชายฝั่ง วัตถุดิบหลายอย่างในประเทศพม่าสามารถผลิตเป็นสินค้า เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล แร่ธาตุบางอย่างสามารถส่งตรงมาจากแอฟริกา

ที่กำลังทำคือโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องรอคือช่างฝีมือ และการยกระดับทางการศึกษา

แต่อีกไม่นานสองสิ่งนี้ก็เติมเต็มได้ ถ้าเราช้า พม่าจะไล่หลังมาติดๆ และอาจแซงขึ้นหน้าในบางอุตสาหกรรม

 

ถ้าดูในเชิงยุทธวิธีการลงทุนญี่ปุ่นจะพบว่ามิได้ตั้งเป้าให้หรูหราไม่มีการอ้าง 4.0 หรือการลงทุนขั้นสูงที่ทำยากในขณะนี้

แต่จะผลิตสินค้าตามความต้องการตลาดพื้นฐาน

เช่น การเปิดโรงสีข้าวขนาดใหญ่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมแบบโบราณเมื่อศตวรรษก่อน

แต่ยุคนี้ใช้เครื่องสีระบบใหม่สามารถผลิตข้าวสารได้มากมายมหาศาล

ข้าวจากพม่าจะถูกส่งออกไปยังแอฟริกาและตะวันออกกลางอย่างง่ายดาย จะเป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวจากไทยและเวียดนาม กัมพูชาซึ่งจะต้องอ้อมทะเลมาไกลกว่าต้นทุนขนส่งสูงกว่า

หรือการลงทุนของบริษัทซูซูกิ Suzuki ที่ผลิตรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ขนาดเล็ก ถือเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมของบริษัท

เพราะตลาดในพม่าต้องการรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเกรดที่สูงกว่ามอเตอร์ไซค์จากจีน

ถ้าซูซูกิเปิดฐานการผลิตที่นี่ก็จะสามารถบุกตลาดและครองตลาดภายในได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกันก็สามารถใช้กับสภาพเศรษฐกิจ และสภาพพื้นที่ในแอฟริกาได้

ดังนั้น สินค้าที่ผลิตที่นี่ก็สามารถลงเรือที่ท่าเรือติลาวา ข้ามมหาสมุทรอินเดียไปสู่ตลาดแอฟริกาได้ทั้งทวีป และบางส่วนก็คือตะวันออกกลาง

ตัวอย่างที่กล่าวมา จะทำให้พอเข้าใจว่าทำไม SEZ ของเราในชายแดนจึงยังไม่มีต่างชาติมาร่วมลงทุน

ในขณะเดียวกันในดินแดนทั้งกัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม จะพบนิคมอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นอยู่ห่างไม่กี่กิโลเมตรและสินค้าที่ผลิตจากนิคมเหล่านั้นจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP)

ในสภาพกลับกันจะมีคนไทยไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะพวกเขาจะได้ใช้แรงงานราคาถูกกว่าไทยและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเรื่องแรงงานต่างด้าว

 

ความหวังที่จะก้าวกระโดดอีกครั้ง
ของไทยคือ EEC

มิถุนายน 2559 ครม. มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development : EEC) กำหนดให้จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน

โดยแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง

จะส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)

การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-CURVE) ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง 4.แปรรูปอาหาร 5.การท่องเที่ยว

เพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-CURVE) ได้แก่ 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์ฝึกการบิน 8.การแพทย์และการดูแลสุขภาพ 9.เคมีชีวภาพ ในด้านพลังงาน เชื้อเพลิงชีวภาพ ปิโตรเคมี 10.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

มีผู้วิจารณ์โครงการ EEC ว่า…

เรื่องระยะเวลาโครงการ 20 ปี นานเกินไป อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน จะถูกจีนและเกาหลีแย่งไป อุตสาหกรรมที่รองลงมาจะถูกเวียดนามเบียดแย่ง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และแปรรูปอาหาร ส่วนปิโตรเคมี อาจมีคู่แข่งในพม่า …ที่ดูแล้วไปได้คือศูนย์ซ่อมอากาศยาน ท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ

ถ้าเรายังไม่ปรับประเทศให้อยู่ในภาวะปกติ ให้เป็นที่เชื่อถือ ไม่มีหัวขบวนที่มีความสามารถพอ

การอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 มหาสมุทรแล้วคิดว่าได้เปรียบ อาจไม่จริง เพราะจะถูกขนาบจากคู่แข่งทั้งพม่าและเวียดนาม ที่วันนี้เริ่มวิ่งออกมาแล้ว

 

สถานการณ์แบบจะมีเลือกตั้ง
แต่ยังยืดไปได้เรื่อยๆ… เจ๊งแน่

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยกมาเปรียบเทียบ เป็นเพียงส่วนเดียวของระบบเศรษฐกิจรวม ซึ่งคนชั้นล่าง เกษตกร และผู้ประกอบการ SME กำลังลำบากมาก ทุกวันเวลามีค่า

ที่ว่ายืดไปอีกปีก็ไม่ดีขึ้น หมายถึงทั้งเศรษฐกิจและการเมือง เพราะมีผลเสียต่อประเทศไทย ในทางการเมืองประเทศต่างๆ จะให้ความเชื่อมั่นก็ต้องมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นผู้คัดเลือก

ดังนั้น ถ้าหวังว่าจะให้เศรษฐกิจดีแล้วค่อยเลือกตั้ง ชาตินี้อาจจะไม่ได้เลือกตั้งเลย แต่ถ้าเลือกตามรัฐธรรมนูญใหม่แบบไทยๆ ก็ไม่รู้ว่าจะวุ่นวายขนาดไหน

เศรษฐกิจกับการเมืองไทยวันนี้ มีความสัมพันธ์กันโดยตรง นักลงทุนจะตัดสินใจเลือกตาม 5 ปัจจัยที่กล่าวมา เวลาที่ทอดนานออกไปถ้าคู่แข่งดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เรายังยุ่งเหยิงอยู่ จะไม่มีใครรอเรา