ในประเทศ : ผลสะเทือน “แหวนเพชร-นาฬิกา” ทำ กม.ป.ป.ช.ร้อน สนช.ส่งศาล รธน.ตีความ

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ฉบับที่… พ.ศ. … กำลังร้อนด้วยถูกเชื่อมโยงไปถึงเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกา เพราะกฎหมายนี้ได้ทำให้กรรมการ ป.ป.ช.บางส่วนถูกยืดอายุออกไป และมีส่วนได้วินิจฉัยเรื่องร้อนดังกล่าว ซึ่งทำให้มองว่าเป็นการวางเกมเพื่อช่วยปกป้องใครหรือไม่

โดยกฎหมายนี้ถือเป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับที่ 8 จาก 10 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว

ซึ่งหากร่าง พ.ร.ป. แล้วเสร็จทั้ง 10 ฉบับ ก็อาจจะมองเห็นหนทางในการเข้าสู่การเลือกตั้งได้ตามโรดแม็ปที่วางไว้

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. นั้น กว่าจะผ่านการพิจารณาในวาระ 1-3 ของ สนช. ก็ทำเอาหืดขึ้นคอสมาชิก สนช. เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อยก็ตาม

เนื่องจากประเด็นที่มีให้ถกเถียงนั้นคือ มาตรา 178 ว่าด้วยการให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง

และยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. บางประการตามที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาบังคับใช้

 

เรื่องนี้ นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งต่อไป ระบุว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการในองค์กรอิสระ

ดังนั้น กรรมการองค์กรอิสระที่จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ก็ควรจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

“ในสภาแห่งนี้เคยอภิปรายเรื่องหลักนิติธรรมเรื่องการให้ กกต. พ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบ อีกองค์กรหนึ่งพ้นไปแต่อีกองค์กรหนึ่งอยู่จนครบ แต่สำหรับกรณีของ ป.ป.ช. นั้นผมอยากให้รักษาหลักการในเรื่องการให้กรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ใครมากล่าวอ้างได้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ”

นายเจษฎ์ระบุ

 

ขณะที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า การพิจารณามาตรา 178 ไม่ได้พิจารณาว่า บทเฉพาะกาลนี้จะเป็นไปเพื่อรองรับใคร

แต่เป็นไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อห่วงใยต่างๆ ที่ว่าต่อไปเรื่องนี้จะมีปัญหาโดยจะมีผู้ไปยื่นเรื่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ไปว่าอะไรไม่ได้ เพราะดูตามรัฐธรรมนูญ และสิ่งสำคัญในเรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมและมีศักยภาพ

“ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการได้พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว และคิดว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปน่าจะสามารถช่วยประเทศชาติได้ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่าน โดยเราได้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว แต่ในอนาคตใครจะว่าอย่างไรก็สามารถชี้แจงได้ และยืนยันอีกครั้งคณะ กมธ. เสียงข้างมากได้ทำไปเพื่อประเทศชาติและส่วนรวมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านและแก้ไขปัญหาการทุจริตให้เรียบร้อย” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าวได้มีการแก้ไขเนื้อหาและมาตรา 178 โดยยังคงให้เป็นไปตามเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมากแก้ไข ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า “ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป. นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11(1) และ 18 มิให้นำมาใช้บังคับ”

จนกระทั่ง ในวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุม สนช. ได้มีการลงมติเห็นชอบในวาระ 2-3 ผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งหมด 193 มาตรา

 

ภายหลังจากที่กฎหมายผ่านสภาแล้วได้มีหลายฝ่าย ทั้งนักการเมือง นักวิชาการและเอ็นจีโอได้ออกมาระบุเห็นแย้งในมาตรา 178 ที่อาจจะทำให้เป็นปัญหาเนื่องจากถูกมองว่ามาตราดังกล่าวเพื่อประโยชน์ให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. บางคนซึ่งมีความใกล้ชิด “บิ๊ก” ในรัฐบาลและต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียน “บิ๊ก” ผู้นั้น โดยเฉพาะกรณีนาฬิกาและแหวนเพชร เพื่อให้มีอายุงานนานขึ้น หรือปล่อยผียืดอายุการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่

กระทั่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของ สนช. โดยนายสมชาย แสวงการ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติ (วิป สนช.) ได้ออกมายืนยันถึงการจะทำเรื่องดังกล่าวเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. …

โดยเฉพาะในกรณีบทเฉพาะกาล มาตรา 178 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากสมาชิก สนช. ยกเว้นลักษณะต้องห้ามให้กรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี หากผู้ที่ลงมติไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงในประเด็นนี้ จะเข้าชื่อเสนอประธาน สนช. เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน เมื่อพิจารณาดูจากมติแล้วถือว่าสมาชิก สนช. มีจำนวนมากพอตามเงื่อนไข และสมาชิก สนช. บางส่วนก็เริ่มมีการรวบรวมรายชื่อแล้ว

ขณะที่นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. เปิดเผยว่า กรณี สนช. เตรียมเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ที่ออกบทเฉพาะกาล มาตรา 178 ต่ออายุให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีลักษณะต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้นั้น จะได้รายชื่อ สนช. ที่จะยื่นประเด็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญครบตามจำนวน 25 คน และยื่นต่อประธาน สนช. ได้ในวันที่ 18 มกราคม โดยยื่นในนาม สนช. ไม่ได้ยื่นในนาม สนช.เสียงข้างน้อย 26 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับการลงมติมาตรา 178

ซึ่งเหตุผลการยื่นก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความกระจ่างในข้อกฎหมาย เพื่อให้การทำงานของ ป.ป.ช. ไม่เกิดปัญหาในอนาคต แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวอย่างไรบ้าง

 

จากประเด็นดังกล่าวทั้งหมดนี้ ทำให้สังคมและประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า การที่ สนช. กำลังจะเริ่มทำเรื่องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในมาตรา 178 จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

หรือจะทำให้การพิจารณากฎหมายล่าช้าไปอีกหรือไม่

เพราะหากเริ่มศักราชใหม่ในปี 2561 ก็จะเป็นปีสุดท้ายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องเร่งเดินเครื่องในการพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จตามโรดแม็ป เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2561

มิฉะนั้นแล้วมีความเป็นไปได้ว่า หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาอยู่ทุกฉบับเช่นนี้อาจจะทำให้โรดแม็ปเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งมีการสะดุดกลางทางหรือไม่

หากกรณีดังกล่าวมีการขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า งานจะเข้า สนช. ในการดำเนินการแก้ไขเฉพาะมาตรา 178 เท่านั้น คงไม่ถึงขั้นตีตกร่างกฎหมายทั้งฉบับอย่างแน่นอน หรืออีกหนทางหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ทุกอย่างก็จะเดินหน้าตามกรอบที่กำหนด

ดังนั้น คงต้องเฝ้ารอภายหลังจาก สนช. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นเช่นไร เพราะในการยื่นตีความครั้งนี้ สนช. ไม่ได้ให้ตีความกฎหมายทั้งฉบับ แต่เป็นการยื่นตีความเพียงบางมาตราเท่านั้น