อำนาจเก่ากับรัฐบาล ในคดีศาลรัฐธรรมนูญ

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

อำนาจเก่ากับรัฐบาล

ในคดีศาลรัฐธรรมนูญ

 

อยู่ดีๆ ข่าวรัฐประหารก็โผล่มาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยอะไร และอยู่ดีๆ คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จากการแต่งตั้งคุณพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี รวมทั้งอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามคำร้องของ 40 ส.ว.ด้วย ขณะที่คุณพิชิตก็ลาออกจากตำแหน่งทั้งที่เพิ่งบอกว่าตัวเองไม่มีความผิดเลย

นอกจากข่าวรัฐประหารจะโผล่มาอย่างไม่มีที่มาที่ไป เพื่อไทยซึ่งตั้งรัฐบาลข้ามขั้วร่วมกับพรรคนายพลที่รัฐประหารตัวเองก็ประกาศออกกฎหมายต้านรัฐประหารอย่างไม่มีที่มาที่ไปด้วย

เช่นเดียวกับรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีลาออกเป็นรายที่ 3 ทั้งที่เพิ่งปรับ ครม.ไปในเวลาไม่ถึงเดือน

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณของการเมืองที่ผิดปกติแน่ๆ

และทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณการเมืองที่สะท้อนถึงการขยายตัวของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลอย่างชัดเจน

 

ด้วย “ความเร็ว” ของการยื่นคำร้องถอดถอนคุณเศรษฐาและคุณพิชิตจาก 40 ส.ว.ไปศาลรัฐธรรมนูญ และด้วย “ความลึก” ของคำร้องที่มีประเด็นกฎหมายเรื่องจริยธรรมซึ่งคุณพิชิตไม่เคยตอบมาก่อน

การยื่นคำร้องถูกมองว่ามีเบื้องหลังระดับคนร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นคนชี้ประเด็นให้กลุ่ม ส.ว.

แม้คุณพิชิตจะบอกว่าตัวเองถึงติดคุกก็เป็นรัฐมนตรีได้เพราะพ้นคุกมาแล้วเกิน 10 ปี ซ้ำยังติดโดยคำสั่งศาล ไม่ใช่คำพิพากษา

แต่การยื่นประเด็นจริยธรรมต้องอาศัยความเข้าใจรัฐธรรมนูญระดับที่คุณพิชิตไม่เคยคาดคิดจนคุณพิชิตต้องลาออก ทั้งที่เคยประกาศว่าจะสู้เรื่องนี้กับ 40 ส.ว.

คำพูดก่อนลาออกของคุณพิชิตคือ “อำนาจเก่า” อยู่เบื้องหลังการฟ้องคดี เมื่อคำนึงว่าคุณพิชิตเป็นมือกฎหมายสำคัญของคุณทักษิณ ชินวัตร, คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, ครอบครัวชินวัตร และทุกองคาพยพในพรรคเพื่อไทย คำพูดของคุณพิชิตย่อมสะท้อนว่าฝ่ายคุณทักษิณเริ่มมอง “อำนาจเก่า” ในสายตาที่หวาดระแวง

คุณพิชิตจะติดคุกแต่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ คงต้องตัดสินกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าคุณพิชิตมั่นใจว่าตัวเองทำถูกจริงๆ คุณพิชิตไม่จำเป็นต้องลาออก แต่ควรสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้คำวินิจฉัยที่ยืนยันว่าการติดคุกไม่ผิดจริยธรรม และไม่ทำให้เสียคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีจริงๆ

ข้ออ้างของคุณพิชิตคือออกเพื่อไม่ให้เรื่องนี้กระทบกับคุณเศรษฐาต่อไป

แต่ตัวคุณพิชิตย่อมรู้ดีว่าถ้าคุณพิชิตไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ความผิดก็ได้เกิดอย่างสมบูรณ์จนคุณเศรษฐาย่อมมีความผิดแม้ในวันที่คุณพิชิตลาออกแล้ว

การลาออกจึงไม่ได้ลดผลกระทบต่อคุณเศรษฐาเท่าผลต่อคุณพิชิตเอง

 

ในความเห็นของนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า ผลอย่างเดียวที่การลาออกของคุณพิชิตมีต่อคดีคือทำให้ศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคุณสมบัติคุณพิชิตต่อไป แต่การวินิจฉัยคุณเศรษฐาไม่ได้จบไปด้วย การลาออกจึงไม่ได้หยุดผลกระทบต่อคุณเศรษฐาอย่างที่คุณพิชิตพูดเลย

ถ้าคุณพิชิตพูดจริงว่า “อำนาจเก่า” อยู่เบื้องหลังคดี ศึกถอดถอนคุณพิชิตและคุณเศรษฐายกแรกก็จบด้วยอำนาจเก่าชนะ คุณพิชิตลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการพิจารณาคดี

เหลือแค่คุณเศรษฐาที่ต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ หรือไม่ และจากนั้นจะตัดสินว่ามีความผิดอย่างไร

ในกรณีที่แย่ที่สุด คุณเศรษฐาอาจมีชะตากรรมเหมือนอดีตนายกฯ ฝ่ายคุณทักษิณอย่างคุณสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกเพราะรับค่าจัดรายการอาหารเกิน 3,000 บาท

แต่ถ้าเชื่อว่า “อำนาจเก่า” อยู่เบื้องหลังจริง ความสัมพันธ์ของอำนาจเก่ายุคนี้กับคุณทักษิณก็ต่างจากยุคนั้นสิ้นเชิง

คุณทักษิณในปี 2549-2551 คือคุณทักษิณที่ถูกอำนาจเก่าต่อต้านจนพยายามเอาใจอำนาจเก่าโดยเลือกคุณสมัครเป็นนายกฯ ของพรรคคุณทักษิณที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1

ส่วนคุณทักษิณปีนี้ไม่ชนะเลือกตั้งจนต้องจับมือเป็นพวกเดียวกับอำนาจเก่าเพื่อให้ได้ตั้งรัฐบาล

ทำไม “อำนาจเก่า” ต้องใช้คดี 40 ส.ว.เอาคุณเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในเมื่อคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยวันนี้ก็ทำเรื่องที่ “อำนาจเก่า” ต้องการแทบทั้งหมดจนไม่มีความขัดแย้งอะไร

เว้นแต่จะมีความหมั่นไส้ฝ่ายคุณทักษิณจากความกร่างและความพยายามกินรวบทุกอำนาจมากเกินไป

 

ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้เป็น ส.ส.บางคนบอกว่าพรรคเพื่อไทยวันนี้โดนสถานการณ์เหมือนก่อน คสช.รัฐประหารหนึ่งปี

แม้คำพูดนี้อาจเกินความจริงไป แต่ก็สะท้อนว่าคนเพื่อไทยบางส่วนเริ่มรู้สึกจริงๆ ว่ารัฐบาลเพื่อไทยกำลังถูกคุกคามจาก “อำนาจเก่า” ทั้งที่ความจริงไม่ใช่เลย

คุณจตุพร พรหมพันธุ์ และนักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนเคยบอกว่าการเมืองไทยใกล้ “ดีลหัก” ในความหมายที่ “อำนาจเก่า” ซึ่งจับมือกับคุณทักษิณเพื่อกำจัดพรรคก้าวไกลโดยวิธีหนุนให้คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ นั้นกำลังจะ “ล้มดีล” ซึ่งหมายความถึงการเปลี่ยนนายกฯ จากคุณเศรษฐาเป็นคนอื่นอีกไม่นาน

ยังไม่มีใครรู้ว่าในที่สุดคดี 40 ส.ว.จะนำไปสู่การเปลี่ยนนายกฯ จากคุณเศรษฐาเป็นคนอื่นหรือไม่ แม้โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้คุณเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ นั้นมีแน่ๆ แต่การไปถึงขั้นถอดถอนอาจไกลเกินไป

ถึงจะมีคนเถียงว่าถ้าไม่ถอดถอนแล้วจะเคลื่อนไหวให้จบแค่หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปทำไม

 

ทั้งหมดนี้ฟังดูเป็น “การเมืองของชนชั้นนำ” และทั้งหมดนี้ฟังดูเป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยการหักเหลี่ยมโหดระหว่างชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคุณทักษิณ, ฝ่าย ส.ว., ฝ่ายองค์กรอิสระ, ฝ่ายอำนาจเก่า, ฝ่ายสองนายพล, ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลใหญ่ และอาจมีฝ่ายอื่นอีกที่ไม่มีทางรู้ได้เลย

“อำนาจเก่า” ซึ่งต้องการทำลายการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่คนไทยตาสว่างจนรับรู้กันมานาน และความไม่พอใจที่คนจำนวนมากมีต่อ “อำนาจเก่า” ก็รุนแรงจนนำไปสู่การเกิดม็อบต่อต้านในปี 2563

แต่น่าสังเกตว่าคำพูดของพรรคเพื่อไทยเรื่อง “อำนาจเก่า” รอบนี้ไม่มีใครสนใจเลย

ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่เพื่อไทยจับมือกับ “อำนาจเก่า” อย่าง ส.ว.และพรรคของสองนายพลแบบไร้เขินอาย เพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับ “อำนาจเก่า” ไปเรียบร้อยแล้ว

ความรู้สึกอินกับพรรคเพื่อไทยในแง่ฝ่ายตรงข้าม “อำนาจเก่า” จึงมีน้อยจนไม่มีใครสนคำพูดเพื่อไทยเลย

ภายใต้สายตาที่สังคมมีต่อเพื่อไทยแบบนี้ ต่อให้เพื่อไทยจะถูก “อำนาจเก่า” รังแก การรังแกนั้นก็เป็นผลจากการจัดความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างตกลงกันไม่ได้ในแง่ผลประโยชน์

ไม่ใช่เป็นการรังแกเพราะเพื่อไทยเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “อำนาจเก่า” อย่างที่คุณพิชิตพยายามสื่อสารให้สังคมเข้าใจ

 

ในแง่นี้ การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยทำให้เพื่อไทยสูญเสียฐานสนับสนุนทางสังคมไปอย่างไม่มีวันกลับ ถึงจะมีคนสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีทางที่จะมีคนสนับสนุนเท่าเดิมจนการเปิดประเด็นเรื่อง “อำนาจเก่า” ไม่ส่งแรงกระเพื่อมทางสังคมเลย

น่าสังเกตด้วยว่าขณะที่พรรคเพื่อไทยปลุกให้คนเสื้อแดงเลือกเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยกลับไม่พูดถึงคนเสื้อแดงแบบที่เคยพูดช่วงก่อนเลือกตั้ง ความสัมพันธ์กับคนเสื้อแดงที่เดี๋ยวแดงเดี๋ยวไม่แดงตามสถานการณ์เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ภาพเพื่อไทยกับ “อำนาจเก่า” แทบไม่มีการเผชิญหน้ากันเลย

เต็มที่ที่สุดที่พรรคเพื่อไทยจะเผชิญหน้ากับ “อำนาจเก่า” คือการพูดเรื่องอำนาจเก่าเคยรัฐประหารอย่างไร แต่ไม่มีการพูดถึง “อำนาจเก่า” ในแง่ระบอบและองคาพยพที่ยังคงอยู่ในอำนาจรัฐและสถาบันการเมืองจนถึงวันนี้

รวมทั้งไม่มีแม้การพูดถึง “อำนาจเก่า” ในแง่บุคคลอย่างสองนายพล

 

คุณชัยธวัช ตุลาธน แห่งพรรคก้าวไกลพูดถึงว่าการเมืองวันนี้เคลื่อนจากเรื่องสีเสื้อไปเป็น “การเมืองของชนชั้นนำ” และ “การเมืองของประชาชน” ซ้ำใน “การเมืองของชนชั้นนำ” ก็มีการจับมือกันของคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองบางกลุ่มเยอะไปหมดจนการแบ่งแยกสีเสื้อตอนนี้ไม่มีความหมายเลย

พูดก็พูดเถอะ ถ้าไม่มีการรำลึกการปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553, การรำลึกรัฐประหาร 2549 และ 2557 เส้นแบ่งระหว่างคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองตอนนี้ก็พร่าเลือนจนแทบไม่ต่างกันในแง่จุดยืนต่อการเมืองไทยปัจจุบัน, จุดยืนต่อรัฐบาล, จุดยืนต่อการเลือกตั้ง 2566 และจุดยืนต่อพรรคก้าวไกล

ไม่ว่าคุณเศรษฐาจะถูก “อำนาจเก่า” ถอดถอนจากตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ ความสัมพันธ์ของรัฐบาลตอนนี้กับ “อำนาจเก่า” จะไม่มีวันเปลี่ยนไปแน่ๆ จนต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกฯ นายกฯ ก็จะไม่มีวันออกจากโครงสร้างการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024