ข้าวไทยเปื้อนพิษ? (1)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

กินโชว์ข้าวเก่าเก็บนาน 10 ปีของคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กลายเป็นประเด็นร้อนและสังคมพากันตั้งคำถามมากมาย

“ข้าว 10 ปีกินได้จริงหรือ ทำไมต้องใช้น้ำซาวข้าวเป็นสิบๆ ครั้งก่อนหุง?”

“โกดังเก็บข้าวเก่าต้องฉีดสารกันแมลงเป็นร้อยครั้งมีสารพิษตกค้างเปื้อนในเมล็ดข้าว กินแล้วจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า?”

“ทำไมคุณภูมิธรรมไม่นำข้าวเก่าไปตรวจสอบจนพิสูจน์ชัดในทางวิทยาศาสตร์ก่อนมากินโชว์?”

“คุณภูมิธรรมมีวาระการเมืองซ่อนเร้น?”

“ถ้าเปื้อนพิษ กระทบภาพลักษณ์ข้าวไทยในตลาดโลก คุณภูมิธรรม คุณเศรษฐาจะรับผิดชอบอย่างไร?”

 

คุณภูมิธรรมชวนสื่อไปโกดังเก็บข้าว “กิตติชัย” ของโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2556/2557 จังหวัดสุรินทร์ ตั้งใจจะพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่า ข้าว 10 ปี ยังหุงได้กินได้ เป็นครั้งที่ 2 เพราะครั้งแรกนั้นมีคนบอกว่าไม่จริง คุณภูมิธรรมจัดฉาก ข้าวจริง 5 ปีก็เน่าแล้ว คุณภูมิธรรมบอกว่าข้าว 5 ปีหรือ 2 ปีก็เน่าถ้าไม่เก็บรักษาอย่างดี

คุณภูมิธรรมแสดงความเห็นในเชิงรับประกันโกดังกิตติชัยเก็บรักษาอย่างดี ไม่มีน้ำรั่วทำให้ข้าวเสียหาย รมยาทุก 2 เดือน ส่วนโกดังอีกแห่งชื่อพูนผล รมยาทุกเดือนเป็นไปตามมาตรฐาน

มีการจัดพิธีกรรมให้เจ้าหน้าที่ล้างน้ำซาวข้าว 15 ครั้งให้ข้าวสะอาด กล้องทีวีซูมลงไปในหม้อหุงข้าว มีมอดลอยฟ่อง

จากนั้นคุณภูมิธรรมกับข้าราชการกินข้าวเก่าเก็บ 10 ปีที่หุงเสร็จแล้วกับผัดกะเพราหมูไข่เจียวอย่างเอร็ดอร่อย

ภาพนี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ กระตุกให้บรรดานักวิชาการเชี่ยวชาญข้าว ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกินข้าวโชว์ของคุณภูมิธรรมผ่านโซเชียลอย่างเผ็ดร้อน

 

รองศาสตราจารย์พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นปมกินข้าวเก่าเป็นคนแรกๆ ไว้ว่า

“จากกรณีที่เอาข้าวเก่า ค้าง 10 ปี มาหุงรับประทานโชว์กัน ขอบอกว่าท่านได้รับสารพิษจากเชื้อราไปแล้วไม่น้อย หลายตัวหลายชนิดด้วย และใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยานว่าข้าวนั้นรับประทานได้ ก็รับเคราะห์ไปด้วยค่ะ

1. ปกติอาหารสัตว์ เราจะเก็บพวกธัญเมล็ดต่างๆ (รวมถึงข้าว) ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสีที่โชว์เก็บ แต่ก่อนเก็บนอกจากรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืชจะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้ ซึ่งสภาพการเก็บของโรงสีที่เห็น ใส่ในกระสอบป่าน โอกาสดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ความชื้นของเมล็ดข้าวสูงขึ้นแน่นอน

หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing) อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 องศาเซลเซียส ทำให้แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว

2. กระสอบป่านที่เก็บข้าว สภาพที่เห็น วางทับซ้อนกันสูงมาก อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอดแมลงต่างๆ

3. แม้จะรมยา แต่สภาพการวางทับกระสอบ รมยาไม่ทั่วถึงแน่นอน เพราะข้าวที่เอามาหุงแสดง ขณะล้างฟ้องอยู่แล้วว่ามีมอดข้าว ด้วง

4. การที่เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่างๆ หลักฐานประจักษ์ขณะซาวข้าว (15 ครั้ง ตามข่าว ซึ่งข้าวปกติเราล้างไม่ถึง 3 ครั้ง)

5. การมีมอดแมลง มูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้เน่า ได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว

6. จากสภาพข้าวที่หุงออกมา จะมีข้าวจำนวนไม่น้อยที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือเมล็ดข้าวที่ขึ้นรา อย่างน้อยต้องตรวจพบสารพิษอะฟลา 1 ตัว ตรวจง่ายๆ โดยใช้เทคนิคบีจีวาย ฟลูออเรสเซนต์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent) สารนี้ทนอุณหภูมิได้ถึง 250 องศาเซลเซียส และยังจะมีสารพิษอื่นๆ ตามมาอีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่เราหุงน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจได้แค่แบคทีเรียจากมูลของแมลง

 

เห็นเจตนาดีของท่านที่จะหาเงินกลับคืน ขอแนะนำว่า

1. อย่าขายให้คนหรือสัตว์นำไปบริโภค ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเราจะมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคโดยตรง

2. กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ เราจะได้ผลิตภัณฑ์เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น

3. การนำไปขายให้แอฟริกา ชื่อเสียงข้าวเน่าเสียของไทยจะกระจายไปทั่วโลก คู่แข่งเราจะได้เปรียบ กว่าเราจะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาคงหลายปี เสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง โดยเขาไม่ต้องออกแรงเลย และที่สำคัญบาปตกอยู่กับผู้คิด ผู้ขาย แน่นอน

4. ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู จะดีกว่า สอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารต่อไปค่ะ

หมายเหตุ : การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้ มีตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแล็บตรวจอาหารทั่วไป หรือกรมปศุสัตว์ หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร”

โพสต์ของอาจารย์พันทิพากลายเป็นไวรัลในบัดดล มีผู้นำไปแชร์ต่อ 3,500 ครั้ง แสดงความเห็น 458 ครั้ง

โพสต์ถัดมาอาจารย์พันทิพาเขียนย้ำเรื่องกินข้าวค้างเก่า 10 ปีอีกว่า

“1. สารพิษจากเชื้อราไม่ได้มีแค่อะฟลาท็อกซิน มันมีมากกว่านั้น

2. เชื้อรา 1 ชนิด ผลิตสารพิษได้หลายชนิด และสารพิษ 1 ชนิด เกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด

3. สารพิษจากเชื้อราส่วนใหญ่เป็นท็อกซิน กินแล้วไม่ดิ้นตายทันทีเหมือนพวกยาพิษ (poison) แต่จะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนร่างกายเกิดเจ็บป่วย เช่น มะเร็ง เป็นต้น

4. สารพิษจากเชื้อราที่เกิด

4.1 แม้จะล้างราออกไปแล้ว แต่สารพิษยังมีอยู่

4.2 แม้จะตัดส่วนที่ขึ้นราทิ้งออกไป แต่…สารพิษได้กระจายไปทั่วแล้ว เช่น กลีบกระเทียมจุดสีน้ำตาลถูกตัดออกไปแล้ว หรือผลไม้/ขนมปังที่เราคิดว่าตัดหรือบิดเอาส่วนที่เน่าเสียทิ้งไปแล้ว แต่สารพิษกระจายไปทั้งกลีบ ทั้งแผ่นแล้วค่ะ”

อาจารย์พันทิพายังนำโพสต์ของคุณหมอวีรพันธุ์ สุวรรณามัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาทที่ให้ความเห็นเรื่องกินข้าวเก่ามาเผยแพร่ต่อ

คุณหมอวีรพันธุ์ยืนยันข้าวเก่าเก็บ 10 ปีให้ระวังเชื้อรากินนิดเดียวก็อันตราย

 

เช่นเดียวกับอาจารย์อ๊อด “ดร.วีรชัย พุทธวงศ์” นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า

“กินกันไปได้อย่างไรข้าว 10 ปีสีเหลืองอ๋อย กลิ่นเหม็นสาบ อย่างน้อยต้องตรวจหาเชื้อราสารพิษ อะฟลาท็อกซินก่อน ตัวนี้กินสะสมนานทำให้เกิดมะเร็ง ผลตรวจออกแล้ว ห้ามกินเด็ดขาด ส่วนการตรวจด้านเคมีจะทำวันจันทร์หน้า แต่จะบอกสั้นๆ ว่าตัวเมทิลโปรไมด์ที่ใช้รมควันกำจัดมอดลักษณะทางกายภาพก็สีเหลืองเช่นกัน”

ด้าน รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว สถาบันคลังสมองของชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า การเก็บข้าวหลายปีสารอาหารจะเสื่อมลง ยิ่งกรณี 10 ปีต้องไปสีข้าวเพื่อปรับสภาพ แต่สิ่งที่กลัวคือเรื่องของเชื้อรา เพราะมีการแสดงให้เห็นแค่ด้านกายภาพลักษณะเม็ดข้าว แต่ด้านคุณภาพของข้าวไม่พูดให้ชัดเจนว่าปลอดเชื้อราหรือไม่

“รัฐควรคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ใช่แค่มองด้านการระบายออกอย่างเดียว เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และถ้าไม่ได้สร้างความเชื่อมั่น เมื่อประมูลออกไปหากข้าวล็อตนี้ไปปนกับข้าวใหม่ ความน่าเชื่อถือตลาดข้าวจะถูกกระทบ และหากจะส่งออกความไว้วางใจของข้าวไทยในตลาดส่งออกก็จะเริ่มสั่นคลอน เพราะรัฐไม่ให้ความสนใจเรื่องความปลอดภัยที่เกิดขึ้น จึงขอรัฐบาลให้จัดการเรื่องนี้เพราะไม่ได้เสียเงินมากมาย”

 

ส่วนคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย เป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องสารพิษในสิ่งแวดล้อมมาตลอด ได้ให้ความเห็นกรณีข้าวเก่าเก็บน่าสนใจ

คุณวิฑูรย์บอกว่า การเก็บข้าวเก่า 10 ปีต้องมีการเสื่อมสภาพ ทั้งจากสภาพอากาศ และสารรมควันข้าวที่นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสารเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และอลูมิเนียมฟอสไฟด์ (aluminium phosphide) หรือฟอสฟีน ที่ตกค้างอยู่ในเมล็ดข้าวสาร

“การเก็บรักษาข้าวสารปฏิเสธไม่ได้จำเป็นต้องใช้สารรมควัน เพื่อป้องกันมอด แมลง หรือเชื้อรา หรือสารก่อมะเร็งที่เรียกว่าอะฟลาท็อกซิน โดยสารประเภทนี้จะตรวจพบได้ในตระกูลข้าวกล้อง ที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง แต่สำหรับข้าวสาร หากเก็บรักษาในสภาพอากาศที่แห้ง และไม่อับชื้นจะมีสารอะฟลาท็อกซินน้อยกว่า”

“แต่สำหรับข้าวในโครงการรับจำนำข้าว 10 ปี ถือว่าก็มีความเสี่ยงสูง แม้ว่าจะเป็นข้าวสารก็ตาม”

 

ประมวลความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในกรณีคุณภูมิธรรมกินข้าวโชว์แล้วมีน้ำหนักน่าเชื่อถืออย่างยิ่งเพราะเป็นผู้มีความรู้ในแต่ละสาขา ต้องขอแนะนำคุณภูมิธรรมใช้สติเป็นที่ตั้ง ยึดหลักวิทยาศาสตร์ไม่ควรเอาการเมืองมานำ เพราะจุดตั้งต้นที่จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ ข้าวเก่าเก็บนาน 10 ปีมีอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

การพิสูจน์ว่าข้าวเก่าเก็บนานอย่างนี้อันตรายหรือไม่ต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่แค่กินโชว์

เมื่อพิสูจน์แน่ชัดแล้วว่าไม่มีสารปนเปื้อนอันตราย คุณภูมิธรรมจะกินโชว์เรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือพ่อค้าที่ต้องการซื้อข้าวเก่านำไปขายต่อ ก็คงไม่มีใครมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ

และหากคุณภูมิธรรมสามารถนำข้าวเก่า 150,000 กระสอบทั้ง 2 โกดังที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นพิษ มีมาตรฐานความปลอดภัย ไปขายสร้างรายได้ให้รัฐเป็นร้อยล้าน ผู้คนทั้งประเทศจะส่งเสียงชื่นชมสรรเสริญเสียด้วยซ้ำ

 

วันนี้ข้าวไทยเจอมรสุมจากเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและเขมร ซึ่งไล่ทำคะแนนกลายเป็นแชมป์ข้าวในการแข่งขันระดับโลก ด้วยเหตุที่ว่า การใช้นโยบายประชานิยม หยิบยื่นข้อเสนอให้ชาวนามาจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวทำให้การพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยสะดุดมานาน

ขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน ชาวนาพึ่งพาปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าวัชพืช เป็นกรรมวิธีที่นำไปสู่ปัญหาการปนเปื้อนพิษ และความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวไทยก็ลดลง เพราะแม้แต่ชาวนายังไม่กินข้าวที่ลงมือปลูกเอง

การกินโชว์ข้าวเก่า 10 ปีของคุณภูมิธรรมจึงนำไปสู่ประเด็นร้อนที่สังคมเกิดคำถาม •