ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เทศกาลไหว้พระจันทร์ กับตำนานเพลงบุหลันลอยเลื่อน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ใครที่เป็นนักเลง “ดนตรีไทย” คงจะรู้จักเพลงที่ชื่อว่า “บุหลันลอยเลื่อน” กันเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีท่วงทำนองที่ไพเราะเพราะพริ้งเป็นอย่างยิ่งแล้ว เพลงนี้มีตำนานการประพันธ์ที่น่าประทับใจ ราวกับเป็นเทพนิยายเลยทีเดียว

และต่อให้ไม่ได้เป็นนักเลงดนตรีไทย หรือแม้กระทั่งไม่ใช่คนในแวดวงนี้เลยก็ตาม แต่อย่างน้อยก็น่าจะรู้จักกับผู้ที่ถูกอ้างว่า เป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้ เพราะกล่าวกันว่า บุหลันลอยเลื่อน เป็นเพลงในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในระหว่างที่รัชกาลที่ 2 ทรงว่างราชการอยู่นั้น ได้ทรงรวบรวมกวีชื่อดังหลายท่าน (ซึ่งว่ากันว่ารวมถึง มหากวีกระฎุมพีอย่าง สุนทรภู่ คนดังด้วย) มาช่วยกันแต่งบทละคร ซึ่งบางครั้งก็โปรดให้มีคนร้อง คนรำ เพื่อเป็นการทดสอบความเหมาะสมไปพร้อมกับบทละครที่ประพันธ์ขึ้นในคราวเดียว

คนเราเวลาจดจ่อกับอะไรจะเก็บเอาไปฝันก็ไม่แปลกใช่ไหมครับ?

ยิ่งทรงทุ่มเทน้ำพระทัยให้กับการแต่งบทละครครั้งนั้นอย่างที่รัชกาลที่ 2 ทรงกระทำ ก็ยิ่งไม่เห็นน่าแปลก

ดังนั้น คืนหนึ่งหลังจากเวลาล่วงเลยไปจนเข้าพระบรรทมแล้ว พระองค์ก็ทรงสุบิน (ฝัน) ว่า ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ แถมยังไม่ใช่ดวงจันทร์เฉยๆ แต่เป็นจันทร์เพ็ญเต็มดวง ลอยเลื่อนอยู่กลางท้องฟ้า พร้อมกับการลอยเลื่อนนั้น ก็มีเสียงเพลงไพเราะเสนาะ & เอ็นจอยรูหู เคล้ามากับแสงจันทร์กระจ่างจ้าในพระสุบินครั้งนั้นด้วย

น่าเสียดายที่พระองค์บรรทมตื่นขึ้นมากลางดึกเสียก่อน แต่เคราะห์ก็ยังดีที่เสียงดนตรีราวดุริยางค์ทิพย์ยังติดแน่นอยู่ภายในพระกรรณของพระองค์ จึงทรงหยิบฉวยเอาซอสามสายคู่พระทัย ที่มีชื่อว่า “ซอสายฟ้าฟาด” ขึ้นมาทรง ณ บัดเดี๋ยวนั้น แล้วโปรดให้ข้าราชบริพารจดจำทำนองเพลงดังกล่าวเอาไว้ให้มั่น

เพลงที่ว่าจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 และได้ชื่อเพลงว่า “บุหลันลอยเลื่อน” ตามลักษณะในพระสุบินของพระองค์ (“บุหลัน” แปลเป็นภาษาไพร่ง่ายๆ ว่า “พระจันทร์”) บางครั้งก็เรียก “บุหลันลอยเลื่อนฟ้า” หรือ “เพลงทรงพระสุบิน” หรือจะเรียกว่า “เพลงสรรเสริญพระจันทร์” ก็ไม่ผิด เพราะมีหลายชื่อแต่เป็นทำนอง และตำนานเดียวกันทั้งหมด

ไม่ว่ารัชกาลที่ 2 จะทรงเคยมีพระสุบินดังกล่าวจริงหรือไม่ก็ตามแต่? พระสุบินดังกล่าวก็ละม้ายคล้ายเหมือนกับนิทานเรื่อง พระเจ้าถังเสวียนจง (พระจักรพรรดิพระองค์หนึ่งในราชวงศ์ถังของจีน) ประพาสดวงจันทร์ อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้หนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” (สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม, 2557) ของยอดยุทธ์ทางด้านจีนศึกษาอย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล ได้อ้างถึง หนังสือหลงเฉิงลู่ (บันทึกประพาสเมืองมังกร) ว่ามีบันทึกเอาไว้ว่า ศักราชไคหยวน ปีที่ 6 (ตรงกับ พ.ศ.1261) พระเจ้าถังเสวียนจง พร้อมด้วยเทวาจารย์เซินเทียนซือ และนักพรตหงโตว ชมจันทร์คืน “จงชิว” ซึ่งก็คือ “คืนวันไหว้พระจันทร์” ร่วมกับ เซินเทียนซือใช้เวทมนตร์พาพระจักรพรรดิเหาะขึ้นไปบนดวงจันทร์ โดยนักพรตอีกท่านก็พากันเหาะไปด้วย

บนโลกพระจันทร์นั้นมีตำหนักแก้วงามระยับ อากาศหนาวยะเยือก น้ำค้างมากจนเสื้อผ้าหยาดชุ่มไปหมด ที่ตำหนักมีป้ายชื่อพาดขวางระบุคำว่า “กว่างหานชิงอีว์จือฝู่” แปลเป็นไทยตามสำนวน อ.ถาวร สิกขโกศล ได้ว่า “วิมานไพศาลยะเยือก” หรือ “วิศาลสีตลวิมาน”

แต่หน้าตำหนักหรือวิมานที่ว่า มีทหารถืออาวุธเฝ้าอยู่จึงทำให้พระเจ้าถังเสวียนจงและพวกทั้งสาม เสด็จเข้าไปข้างในไม่ได้

เซินเทียนซือจึงนำพระองค์เสด็จเข้าไปในหมู่เมฆ แล้วก็ได้กลิ่นหอมโชยมา ท้องฟ้าที่เบื้องต่ำลงไปมีเหล่าเซียนมากมาย บ้างขี่เมฆ บ้างขี่นกกระเรียน ท่องอยู่ในอากาศ

จากนั้นอยู่ดีๆ ก็มีแสงพร่างพรายนัยน์เนตร มาพร้อมกับไอหมอกพัดโชยหนัก จนไม่อาจเสด็จต่อไปได้

ในขณะเดียวกันนั้นเอง นางกำนัลของเทพธิดาบนสรวงสวรรค์สิบกว่านาง สวมผ้าขาวชายแขนยาวพลิ้ว ขี่หงส์มาจับระบำรำฟ้อนที่ใต้ต้นกุ้ยฮวา (ไทยเรียก ต้นสารภีฝรั่ง แต่ตามเทวตำนานจีนถือเป็นไม้สำคัญบนดวงจันทร์) หน้าวิมานไพศาลยะเยือก

แน่นอนว่าในระหว่างที่นางกำนัลสวรรค์เหล่านั้นกำลังฟ้อนรำย่อมมีดนตรีประโคมอยู่ด้วย

และเมื่อเป็นดนตรีสวรรค์ ยังไงๆ ก็ต้องถูกกล่าวถึงว่าเพราะเป็นพิเศษอยู่วันยังค่ำ ดังนั้น ฮ่องเต้ถังเสวียนจงก็ย่อมทรงประทับพระทัยเป็นพิเศษ

ที่สำคัญก็คือพระเจ้าถังเสวียนจงพระองค์นี้ ทรงเจนจบดุริยางคศาสตร์ ไม่ต่างไปจากสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ของเราเลยนะครับ พระองค์จึงทรงจำเพลงเพลงนี้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อกลับมาถึงโลกมนุษย์จึงทรงนำทำนองเพลงที่ทรงได้สดับบนดวงจันทร์นั้น มาสอนให้ชาวมโหรีในราชสำนักเล่นกัน ไม่ต่างไปจากตำนานเพลงบุหลันลอยเลื่อนเลยสักนิด

แต่เพลงที่พระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังพระองค์นี้ ทรงนำมาสอนให้มนุษย์โลกรู้จักกันนั้น ทรงพระราชทานชื่อเอาไว้ว่า “หนีสางอี่ว์อีฉี่ว์” ซึ่งแปลว่า “อาภรณ์ปุยเมฆของรุ้งกินน้ำ” ไม่ได้มีตรงไหนในชื่อที่พาดพิงชื่อพระจันทร์ตรงๆ เหมือนกับเพลงบุหลันลอยเลื่อนของไทยเรา

ส่วนตำนานเรื่องนี้ก็มีสำนวนอื่นๆ ที่ต่างกันไปบ้าง เช่น หนังสือเก่าของจีนบางฉบับก็เล่าว่า นักพรตที่ชื่อหลอกงหย่วน โยนไม้เท้ากลายเป็นสะพานเงินแล้วเชิญฮ่องเต้พระองค์เดียวกันนี่แหละ เสด็จขึ้นไปบนดวงจันทร์ พอเสด็จขึ้นไปถึงก็ทรงทอดพระเนตรเห็นนางฟ้าฟ้อนรำกันอยู่หน้าวิมาน จึงทรงถามชื่อเพลงแล้วได้คำตอบกับมาว่า “หนีสางอี่ว์อีฉี่ว์” เหมือนกันนี่แหละครับ

แต่ในตำนานสำนวนนี้ พระจักรพรรดิถังเสวียนจงไม่ได้ทรงจดจำมาเฉพาะทำนองเพลงเพียงอย่างเดียว เพราะยังทรงนำท่วงท่าฟ้อนรำของเหล่านางสวรรค์บนดวงจันทร์ กลับมาถ่ายทอดให้แก่เหล่านางในของพระองค์เองอีกด้วย

คนไทยยุคต้นกรุงเทพฯ ก็รู้จักตำนานของเพลงจีนดังกล่าวแตกต่างไปจากสำนวนข้างต้น ทั้งสองสำนวน เพราะในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง ซุยถัง (หมายถึงเรื่องของราชวงศ์ซุย หรือสุย และราชวงศ์ถัง ซึ่งฉบับแปลไทยสะกดว่า ส้วยถัง) ฉบับแปลไทย กล่าวถึงตำนานเพลงนี้เอาไว้ว่า

“เมื่อพระองค์ได้ราชสมบัตินั้นทรงพระสุบินว่าพระองค์เสด็จเที่ยวไปในวิมานจันทร์แล้วฟังนางฟ้าขับเสียงไพเราะ พระเจ้าเหียนจงเม้งเต้ (พระเจ้าถังเสวียนจง ตามสำเนียงจีนกลาง) จึงถามนางฟ้านั้นว่า เพลงนี้เรียกชื่อเพลงอันใด นางฟ้าบอกว่าชื่อ “หงีเสียงอูอีเค็ก” (หนีสางอี่ว์อีฉี่ว์) ครั้นพระองค์ตื่นจากบรรทมก็จำกลอนเพลงนั้นไว้ได้ พระองค์จึงสอนพวกพนักงานให้ขับ”

จะเห็นได้ว่ารายละเอียดในสำนวนที่คนไทยนำมาแปลนั้น มีรายละเอียดใกล้เคียงตำนานเพลงบุหลันลอยเลื่อนอย่างกับแกะ!

ผมไม่แน่ใจชัดว่า หนังสือซุยถัง (หรือส้วยถังตามคำสะกดเมื่อถูกแปลเป็นภาษาไทย) ถูกแปลในสมัยรัชกาลใดแน่ แต่บรรดาหนังสือจำพวกตำนานอิงพงศาวดารจีนเหล่านี้ เริ่มมีการแปลออกเป็นภาษาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 คือ เรื่องไซ่ฮั่น และสามก๊ก

ส่วนสมัยรัชกาลที่ 2 องค์การค้าคุรุสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่นำหนังสือแปลเหล่านี้มาตีพิมพ์ในยุคหลัง อ้างเอาไว้ในคำนำของหนังสือส้วยถัง ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.2509 ว่า “มีการแปลอยู่บ้าง” เพียงเท่านั้น ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า แปลเรื่องไหน อะไรบ้างทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในคำนำของหนังสือเล่มเดิมก็ยังอ้างต่อไปว่า หนังสือประเภทนี้ “ส่วนใหญ่มีการแปลในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลต่อๆ มา” ซึ่งฟังดูก็เหมือนจะเว้นระยะห่างจากกัน แต่ที่จริงแล้ว เพราะกระโดดจากรัชกาลที่ 2 เป็นรัชกาลที่ 4 เลย แต่อย่าลืมนะครับว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระราชโอรสแท้ของรัชกาลที่ 2 ดังนั้น ที่จริงแล้วจึงไม่ได้ห่างกันเท่าไหร่

และต่อให้ “ส้วยถัง” ถูกแปลเป็นภาษาไทยหลังสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรนะครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ตำนานเพลงบุหลันลอยเลื่อน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นตำนาน แปลง่ายๆ ว่าจริงหรือเปล่าไม่รู้?

รัชกาลที่ 2 จะทรงทราบหรือเปล่าว่า พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พระราชนิพนธ์เพลงบุหลันลอยเลื่อน?

ผมเองก็ไม่แน่ใจนัก เพราะถ้าตำนานเพลงนี้จะถูกแต่งขึ้นหลังยุคสมัยของพระองค์ ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงเจนจบทางด้านดนตรี ก็ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหน?

เอาเข้าจริงแล้ว แม้แต่พระเจ้าถังเสวียนจงเองก็ไม่รู้ว่าพระองค์จะรู้หรือเปล่าว่า ใครต่อใครต่างพากันเล่าลือว่า พระองค์เคยไปประพาสดวงจันทร์มา?

ตำนานเพลงบุหลันลอยเลื่อนคงน่าจะถูกแต่งขึ้นภายหลังจากที่มีการแปลหนังสือซุยถังของจีน ออกมาเป็นหนังสือส้วยถัง ฉบับภาษาไทย และก็อาจจะเกี่ยวข้องกับประเพณีไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ที่เข้ามาอยู่ในสยามเมื่อต้นกรุงเทพฯ ก็ได้

ก็ตำนานในจีนเขาว่าพระเจ้าถังเสวียนจงเสด็จไปยังดวงจันทร์ ในคืนจงชิว หรือวันไหว้พระจันทร์ไม่ใช่หรือครับ?