วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (3)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

การสร้างเอกภาพให้แก่จักรวรรดิของจักรพรรดิฉินสื่อจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งของเอกภาพดังกล่าวจะมีนัยเชิงวัฒนธรรมปรากฏอยู่ด้วย ในขณะเดียวกันก็ดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่อาจสะท้อนความเป็นเอกภาพเชิงเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง

อันเป็นนัยที่จะได้กล่าวถึงในลำดับถัดไป

แต่กล่าวเฉพาะวัฒนธรรมแล้วก็เห็นได้ถึงความสมเหตุสมผลโดยตัวของมันเอง เพราะหากไม่จัดระเบียบในเรื่องดังกล่าวแล้วการดำเนินชีวิตประจำวันคงมีปัญหาไม่น้อย แต่ความสมเหตุสมผลในทางวัฒนธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องสมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจการเมืองไปด้วย

กล่าวอีกอย่างคือ แม้ฉินจะพยายามให้เศรษฐกิจการเมืองของตนเป็นเอกภาพภายใต้ระบบเดียวกันจริง แต่หากระบบนั้นทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่ราษฎรโดยทั่วแล้ว ระบบนั้นก็จะเท่ากับขาดความสมเหตุสมผล

และหากมันมีพลังมากกว่าในทางวัฒนธรรมด้วยแล้ว ระบบนั้นก็จะล้มเหลวจนทำให้จักรวรรดิสั่นคลอนได้ในที่สุด

 

ค.การปกครองที่รวมศูนย์

การปกครองที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยฉินก็คือเรื่องของหน่วยปกครอง เรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับยุครัฐศึก

กล่าวคือ ในยุครัฐศึกนั้นได้เกิดหน่วยปกครองใหม่ๆ ขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ในขณะนั้นแล้ว และหน่วยปกครองที่โดดเด่นมากก็คือ เสี้ยน

หน่วยปกครองนี้มีที่ตั้งที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐและมักมีฐานะเป็นรัฐกันชน แต่เนื่องจากเป็นหน่วยปกครองที่ใหญ่ เสี้ยน จึงมีความเป็นเมืองที่ค่อนข้างสมบูรณ์ นั่นคือ มีหน่วยงานทางการทหาร มีระบบจัดเก็บภาษี และมีขุนนางบริหารงานในตำแหน่งสำคัญที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ก็ยังมี จวิ้น ที่เป็นหน่วยปกครองรองลงมาจาก เสี้ยน อีกชั้นหนึ่ง

ครั้นเมื่อฉินตั้งราชวงศ์ขึ้นแล้ว ฉินก็รับเอาระบบหน่วยปกครองนี้มาปรับใช้ใหม่โดยเรียกรวมว่า จวิ้น-เสี้ยน หรือระบบบริหารเขตอำเภอ (commandery/county system)

การปรับใช้ใหม่นี้ส่วนหนึ่งมาจากที่จวิ้นเติบโตมากขึ้นทั้งขนาดของเมืองและประชากร จนทำให้มีความสำคัญมากกว่าเสี้ยนขึ้นมา

ทั้งนี้ หากว่าตามความหมายในปัจจุบันแล้วคำว่า จวิ้น จะหมายถึง เขต ส่วนคำว่า เสี้ยน จะหมายถึง อำเภอ แต่ความหมายที่ว่านี้คงนำมาใช้กับภูมิรัฐศาสตร์ในสมัยนั้นไม่ได้

และโดยที่หากว่าตามความเป็นจริงในสมัยฉินแล้ว จวิ้นก็อาจเปรียบได้กับมณฑลหรือเสิ่งของจีนหรือจังหวัด (provinces) ของชาติอื่นในปัจจุบัน ในขณะที่เสี้ยนยังคงฐานะอำเภอ (counties) อยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นประเด็นในที่นี้ก็คือว่า การเกิดขึ้นของจวิ้น-เสี้ยน หรือระบบเขตบริหารอำเภอนี้มีสาเหตุจากความต้องการเผด็จอำนาจของฉินโดยแท้

 

กล่าวคือ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของระบบบริหารเขตอำเภอนั้น หลี่ซือได้ถวายความเห็นต่อจักรพรรดิฉินสื่อว่า หากวงศานุวงศ์หรือขุนนางใดที่มีความดีความชอบนั้นก็ขอให้ปูนบำเหน็จรางวัลให้ถึงขนาด แต่ไม่พึงส่งไปปกครองเขตหรืออำเภอดังในยุครัฐศึก

ด้วยในยุคนั้นมีบทเรียนแล้วว่า เมื่อผู้ที่ถูกส่งไปปกครองมีความเข้มแข็งขึ้นมา ผู้ปกครองเหล่านี้ก็จะกระด้างกระเดื่องขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อราชวงศ์เอง

ผลคือ จักรพรรดิทรงเห็นด้วย และได้กลายเป็นที่มาของระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ขึ้นมา

เมื่อมีการปฏิรูประบบบริหารเขตอำเภอขึ้นแล้วปรากฏว่าฉินสามารถแบ่งเขตอำเภอได้ทั้งสิ้น 40 หน่วย จากนั้นก็นำระบบบริหารโดยขุนนางที่เรียกว่า ซานกง หรือระบบสามมหาอำมาตย์ ที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วเปลี่ยนคำเรียกขานเดิมจาก ลี่ไท่ซือ ไท่ป๋อ และ ไท่เป่า เป็น เฉิงเซี่ยง หรืออัครมหาเสนาบดีหรือสมุหนายก อี้ว์สื่อต้าฟู หรือราชเลขาธิการ และ ไท่เว่ย หรือ สมุหกลาโหม ตามลำดับ

โดยตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีหรือสมุหนายกดังกล่าวเทียบได้กับนายกรัฐมนตรี และสมุหกลาโหมเทียบได้กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปัจจุบัน

ตำแหน่งทั้งสามในระบบสามมหาอำมาตย์นี้ นายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งสูงสุด ด้วยมีหน้าที่เหนือขุนนางทั้งปวง

รองลงมาคือตำแหน่งราชเลขาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งหรือราชโองการที่ออกโดยจักรพรรดิ และยังเป็นผู้ถ่ายทอดราชโองการไปยังนายกรัฐมนตรีโดยตรงอีกด้วย ตำแหน่งนี้จึงมักตั้งจากบุคคลที่ใกล้ชิดกับจักรพรรดิจนเป็นที่ไว้วางใจ

ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น เห็นได้ชัดว่ามีความใกล้เคียงกับนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้ดูแลกองกำลังทางการทหารเอาไว้ทั้งหมด ในขณะที่นายกรัฐมนตรีดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมด ตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญพอสมควร แม้จะเป็นรองจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตาม

 

ระบบสามมหาอำมาตย์นี้ถือเป็นการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งนี้ ในชั้นหลังต่อมาระบบนี้ถูกเรียกว่าซานกงจิ่วชิง หรือสามมหาอำมาตย์เก้าขุนนาง

ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะนอกจากจะมีสามมหาอำมาตย์เป็นตำแหน่งสูงสุดแล้ว ในระดับรองลงมาก็ยังมีตำแหน่งที่สำคัญอีกเก้าตำแหน่ง โดยในเก้าตำแหน่งนี้จะมีขุนนาง 11 คน มิใช่ 9 คนตามจำนวนที่เรียกขาน

ขุนนางทั้งเก้าตำแหน่งนี้จะทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ทั้งกิจการพลเรือน ความมั่นคง และพิธีการ

หน้าที่ของตำแหน่งทั้งเก้านี้มีส่วนอย่างสำคัญในการหนุนเสริมการปกครองจากส่วนกลาง และทำให้การรวมศูนย์อำนาจดูเป็นจริงมากขึ้น

การรวมศูนย์อำนาจดังกล่าวทำให้อำนาจของท้องถิ่นถูกลดทอนลงไปอย่างมาก โดยผู้ที่ปกครองเขตอำเภอหรือจวิ้น-เสี้ยน ก็คือนายอำเภอ (จวิ้นโส่ว) แต่ก็มิอาจทำลายรากเหง้าระบบเจ้าผู้ปกครอง (จูโหว) ที่มีมาก่อนหน้านี้ได้อย่างสนิท

เพราะดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แม้ฉินจะมีชัยเหนือรัฐทรงอิทธิพลอีกหกรัฐก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าทั้งหกรัฐนี้จะหมดอิทธิพลไปโดยสิ้นเชิงไม่ ดังนั้น เมื่อฉินพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง การแข็งขืนจากหกรัฐจึงมีปรากฏให้เห็น

จนเมื่อราชวงศ์ฮั่นเข้ามาแทนที่ฉินไปแล้ว ทั้งระบบสามมหาอำมาตย์เก้าขุนนางและระบบบริหารเขตอำเภอจึงถูกปรับใช้ใหม่อีกครั้ง อันเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวถึงต่อไปในส่วนที่เกี่ยวกับราชวงศ์ฮั่น

 

เมื่อมีระบบการปกครองแล้วก็ย่อมมีกฎหมายมาปกครองราษฎร

โดยที่ฉินเป็นรัฐที่ใช้หลักคิดของสำนักนิตินิยมมาตั้งแต่ก่อนเป็นจักรวรรดิแล้วนั้น เมื่อตั้งจักรวรรดิแล้วจึงไม่เพียงจะสืบทอดการใช้กฎหมายจากยุคก่อนหน้าเท่านั้น หากยังสร้างมาตรการทางกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมาใช้อีกด้วย

กฎหมายที่เป็นที่กล่าวขานกันมากคือ บทลงโทษ

ซึ่งแต่เดิมหากเป็นการประหารชีวิตจะมีวิธีประหารด้วยการตัดศีรษะ ฟันบั้นเอวเป็นสองท่อน เจาะกระหม่อม ถอดกระดูกซี่โครง ห้าอาชาแยกร่าง (คือใช้ม้าดึงเชือกที่ผูกติดกับศีรษะและแขนกับขาทั้งสองเพื่อแยกร่างผู้ถูกประหารออกจากกัน) และต้มในกระทะ

ครั้นพอมาถึงสมัยของฉินสื่อก็เพิ่มวิธีใหม่ๆขึ้นมา เช่น ฝังทั้งเป็น แล่เนื้อทีละชิ้น และประหารทั้งโคตร

ส่วนบทลงโทษที่เบาลงมาก็เช่น โบยด้วยแส้ การสักหน้า ตัดจมูก ตัดขา ตัดอวัยวะเพศ และตัดหู เป็นต้น และบทลงโทษที่เบาที่สุดจะเป็นการให้ตกเป็นทาส การจำคุก และการเนรเทศ

โทษที่เบานี้โดยมากมักใช้กับพวกขุนนางและพ่อค้า

จะเห็นได้ว่า บทลงโทษประหารชีวิตนับว่าทารุณโหดร้ายอย่างมาก และมีส่วนอย่างมากที่นำมาซึ่งการล่มสลายของฉินในเวลาต่อมา